วันนี้ (5 ธันวาคม) กัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม แสดงความคิดเห็น กรณีนักศึกษาวิชาทหารในจังหวัดนราธิวาสมีอาการกล้ามเนื้อสลายและไตวายเฉียบพลัน ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เห็นว่า การที่นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 และ 2 ในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 23 ราย มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบอย่างรุนแรง และ 8 รายมีอาการไตวายเฉียบพลันและต้องได้รับการฟอกไต โดยแพทย์ระบุว่าเป็นภาวะกล้ามเนื้อสลาย คงต้องให้กำลังใจน้องๆ และพ่อ-แม่อย่างมาก รวมถึงร่วมกันตั้งคำถามต่อความเป็นธรรมกับการตั้งกรรมการสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
กัณวีร์กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องมาพิจารณายกเลิกกฎหมายการเกณฑ์ทหาร ซึ่งอาจยังมีประเทศกว่า 20 ประเทศที่ยังคงกฎหมายนี้ในรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับไทยต้องมาทบทวนบริบทด้านความมั่นคงที่มีการสู้รบน้อยมาก และการเรียนรักษาดินแดน หรือ รด. จริงๆ แล้วเป็นผลพวงจากความไม่ประสงค์ของเด็กและผู้ปกครองที่จะต้องผ่านการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์
“หากประเทศไทยต้องการสร้างและผลิตกำลังสำรองตามคอนเซปต์ ‘Citizen Soldier’ แล้วนั้น ควรให้เป็นไปแบบ ‘ด้วยความสมัครใจ’ อย่างแท้จริง แล้วคุณจะได้คนมีคุณภาพเพื่อพัฒนากองทัพต่อไป ผมเชื่อว่ายังมีคนที่อยากเรียนเรื่องการทหารอยู่ และสามารถนำมาพัฒนาเป็นกำลังพลที่มีความสามารถต่อไปได้ ไม่ใช่เด็กชายไทยทุกคน” กัณวีร์กล่าว
กัณวีร์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ รด. ที่มีอยู่เริ่มต้นตั้งแต่เด็กชายอายุ 15 ปี และไม่สมัครใจโดยส่วนใหญ่ มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการฝึกกองกำลังทหารเด็ก เพราะกลายเป็นการบังคับคนโดยกฎหมายที่จะมีผลต่อเด็กในอนาคต หากไม่เรียน รด. และสร้างความกลัวให้ทั้งผู้ปกครองและเด็ก
“ผมทราบว่าการเป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด แต่หากต้องการกำลังพลที่มีคุณภาพที่จะเข้ามาพัฒนาสถาบัน ต้องเริ่มจากความปรารถนาส่วนบุคคลและด้วยความสมัครใจ กลุ่มนี้จะเป็นเป้าหมายหลักที่สถาบันทหารควรนำมาพัฒนาให้กองทัพมีขีดความสามารถมากขึ้น” กัณวีร์กล่าว
กัณวีร์เสนอว่า การเรียนทหารของ รด. ควรใช้คอนเซปต์ ‘Citizen Soldier’ ในการฝึกฝนบุคคลให้มีศักยภาพทางทหารเมื่อประเทศของตนต้องการ และคนที่ถูกฝึกนั้นสามารถใช้ศักยภาพที่ถูกพัฒนามา เพื่อเติมเต็มหน้าที่ของพลเมืองอย่างมีคุณภาพในเวลาปกติ และการเข้าไปฝึกนั้นควรต้องไม่ใช่เด็กและต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ
ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกามีการเรียน ROTC ในมหาวิทยาลัย (เหมือน รด. แต่แยกเหล่าที่สนใจและเข้มข้นกว่า) และให้นักศึกษาผู้สนใจวิชาการทางทหารเข้ารับการอบรมและฝึกฝนด้วยความสมัครใจ และระหว่างรับการอบรมและฝึกนั้นนักศึกษาสามารถได้รับทุนจากกองทัพ เพื่อช่วยให้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อีกด้วย
นอกจากนี้กัณวีร์เห็นว่า ทำไมไทยไม่พิจารณาและทำเช่นนี้ หากทำแล้ว
- จะไม่ถูกครหาเรื่องการใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหารมาบังคับให้คนเรียน รด.
- ลบข้อครหาและความเสี่ยงถูกกล่าวหาเรื่องทหารเด็ก
- ผู้ที่จะเข้าเรียนวิชาทหารในมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่เด็กแล้ว
- คนที่มารับการฝึกอบรมจะมาด้วยความสมัครใจ
- ลดภาระการใช้ภาษีหลายร้อยล้านบาทจากการนำมาใช้เรื่องการอบรม รด. ปี 1-3 ทั่วประเทศ
- นำภาษีที่จะต้องใช้จ่ายในข้อ 5 มาทำเป็นทุนให้นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่สมัครใจเรียนอย่าง ROTC เพื่อช่วยให้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาและวิชาทหารที่สมัครใจเรียนไปพร้อมกัน
- กองทัพจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพในหลายๆ สาขาวิชาในระดับอุดมศึกษามาพัฒนากองทัพมากมาย