แลร์รี ซัมเมอร์ส อดีตขุนคลังสหรัฐฯ เตือนว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้นไปแตะระดับ 6% อันเป็นผลจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมาก
แลร์รี ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า Fed อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากแรงกดดันจากปัจจัยเงินเฟ้อยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
สัญญาณอัตราดอกเบี้ยบ่งชี้ว่าบรรดานักลงทุนต่างพากันคาดเดาว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับประมาณ 5% ภายในเดือนพฤษภาคม 2023 เมื่อเทียบกับกรอบเป้าหมายในปัจจุบันที่ 3.75-4% ขณะเดียวกัน บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด 0.75% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นต่อลากยาวถึงปีหน้า
- อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกส่งสัญญาณแตะจุดพีคแล้ว แต่อาจลดลงช้าในปีหน้า สร้างปัญหาให้ธนาคารกลางต่อ
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
“6% เป็นสถานการณ์ที่เราสามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอน และผมคิดว่า 5% ไม่ใช่ระดับคาดการณ์ที่ดีที่สุด” ซัมเมอร์สกล่าวถึงการคาดการณ์ระดับสูงสุดของอัตราดอกเบี้ย Fed
อดีต รมว.คลัง ยังกล่าวต่อถึงตัวเลขการจ้างงานรายเดือนล่าสุดของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศออกมาล่าสุด ได้สะท้อนถึงรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตัวเลขดังกล่าวทำให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ อัตราการจ้างงานเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อได้ดีที่สุด
หากเจาะลึกลงมาในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 0.6% ถือว่าเพิ่มขึ้น 5.1% จากปีก่อนหน้า โดยหลักๆ เป็นค่าจ้างสำหรับพนักงานฝ่ายผลิตและพนักงานที่ไม่ใช่ระดับหัวหน้าเพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงที่สุดในรอบเกือบปี
ซัมเมอร์สเตือนว่า แม้ว่าตัวชี้วัดของสหรัฐฯ จะชี้ถึงผลกระทบที่จำกัดจากมาตรการรัดเข็มขัดของ Fed แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน และเมื่อถึงจุดหนึ่งผู้บริโภคใช้เงินออมจนหมด แล้วทุกคนก็จะมีช่วงเวลาเหมือนตัวการ์ตูน Wile E. Coyote ที่ตกจากหน้าผา
เช่นเดียวกับตลาดที่อยู่อาศัย เจ้าของมีแนวโน้มจะรีบขายอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ราคาในตลาดเริ่มลดลง และเมื่อถึงจุดหนึ่งจะเห็นว่าเครดิตเริ่มหมดไป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการชำระหนี้ตามมา
“แม้ไม่รู้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นและมาถึงเมื่อไร แต่เราได้ก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ซัมเมอร์สกล่าว
อดีตขุนคลังสหรัฐฯ ยังเตือนต่อไปว่า ต่อไปนี้จะเป็นภาวะถดถอยช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ไม่เหมือนกับการถดถอยในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำเหมือนที่เราเคยเห็นในอดีต และไม่เห็นด้วยว่า Fed ควรเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อจาก 2% ขยับเป็น 3% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาความน่าเชื่อถือที่อาจเกิดขึ้นหลังจากปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา
อ้างอิง: