×

คลังเคาะ! เริ่มเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ อัตรา 0.1% เริ่ม 1 ม.ค. 67 ย้ำไม่ได้เอื้อประโยชน์นักลงทุนรายใหญ่

02.12.2022
  • LOADING...

กระทรวงการคลังแจงนิยาม Market Maker ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่าย ‘ภาษีขายหุ้น’ ย้ำไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนรายใหญ่ เผยเตรียมจัดเก็บภาษีดังกล่าวในอัตรา 0.1% (หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

 

วันนี้ (2 ธันวาคม) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือให้ Grace Period ประมาณ 90 วัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


“วันที่ 91 จะเป็นวันแรกที่เริ่มการจัดเก็บ เพื่อให้มีการปรับตัว และให้บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) เตรียมการ รวมถึงหารือกับกรมสรรพากรเกี่ยวกับการจัดส่งรายได้เข้ารัฐ ซึ่งวิธีการไม่ได้ยากอยู่แล้ว เพราะการเก็บภาษีครั้งนี้ถือเป็นมาตรการทั่วไป คือเก็บทุก Transaction ที่มีการขายออกไป” อาคมกล่าว

 

อาคมยังเปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษี Financial Transaction Tax (FTT) จะแบ่งเป็น 2 ช่วง ในอัตราดังนี้ 

 

  • ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% (หรือ 0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
  • ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% (หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงประมาณการระยะเวลาประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา อาคมระบุว่า ขึ้นอยู่ที่การตรวจร่างพระราชกฤษฎีกาว่าจะเสร็จเมื่อไร และมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญหรือไม่ แต่โดยปกติพระราชกฤษฎีกามีการตรวจ ‘เร็ว’ อยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังถามถึงกระแสที่เรียกร้องให้มีการทบทวนการเก็บภาษีดังกล่าว แต่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ดังกล่าว

 

อาคมยังระบุว่า วัตถุประสงค์หลักของการเก็บภาษี FTT เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการชำระภาษีของผู้มีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และการจัดเก็บภาษีดังกล่าวก็มีการยกเว้นมานาน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเก็บภาษีดังกล่าวยังอยู่ในแผนปฏิรูปการจัดเก็บภาษีและการปรับปรุงโครงสร้างภาษีของรัฐบาลด้วย

 

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า การยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่าของมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย

 

ทั้งนี้ ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว

 

ด้าน ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว โดยเหตุของการยกเว้น มองว่า เป็นเพราะตลาดหลักทรัพย์ของไทยตอนนั้นเป็นยุคเพิ่งตั้ง รัฐบาลจึงไม่อยากให้มาตรการทางภาษีเป็นภาระ และช่วยให้ตลาดเติบโตอย่างเข้มแข็ง

 

“โดยหากย้อนกลับไปดูช่วงปี 2534 มูลค่าตลาด (Market Cap) ตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 9 แสนล้านบาท แต่ในปีนี้ Market Cap ของเราอยู่ที่ 20 ล้านล้านบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า GDP อีก” ลวรณกล่าว

 

กระทรวงการคลังยังคงยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่ 8 กองทุนหรือองค์กรดังนี้

 

  1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
  2. สำนักงานประกันสังคม
  3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
  6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
  7. กองทุนการออมแห่งชาติ
  8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น

 

อนึ่ง ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก

 

Market Maker คือใคร? ทำไมต้องยกเว้น?

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ได้มีการนำเสนอข่าวการเก็บภาษีหุ้น ว่าจะมีการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือ มิได้ยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ

 

โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

พร้อมย้ำว่า Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X