เหลืออีกเพียง 4 เดือน อายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ก็จะหมดวาระลง และเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าของสภาชุดนี้ มีความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็มักจะไม่เข้าเงื่อนไขต่างๆ ของการแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีครั้งเดียวที่ประสบความสำเร็จคือการแก้ระบบเลือกตั้ง และต่อเนื่องมาด้วยการแก้กฎหมายลูกเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
เส้นทางการแก้รัฐธรรมนูญที่ดูยาก แต่การร่างกฎหมายลูกที่ยากกว่า เพราะกว่าจะถึงบรรทัดสุดท้ายก็มีการปรับแก้ในหลากหลายเนื้อหา โดยเฉพาะส่วนของสูตรคำนวณที่รัฐสภาหักมติของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เขียนสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หาร 100 แต่รัฐสภากลับลงมติให้ใช้สูตรหาร 500 แต่ท้ายที่สุดก็อยากลับไปใช้สูตรหาร 100 ทำให้ต้องใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อกลับไปใช้สิ่งที่ต้องการ
THE STANDARD พาย้อนเส้นทางการแก้รัฐธรรมนูญจนถึงกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.
✒ แก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นแบบบัตร 2 ใบ
ย้อนกลับไปกลางปี 2564 รัฐสภามีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการแก้ไขระบบเลือกตั้งจากระบบจัดสรรปันส่วนผสมตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ให้กลับไปเป็นแบบบัตรสองใบ ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 โดยพรรคที่ทำการสนับสนุน ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ในทางกลับกัน กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคก้าวไกล
โดยระบบเลือกตั้งใหม่จะมีการปรับจำนวน ส.ส. เขต จาก 350 คน เป็น 400 คน และลดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อจาก 150 คน เหลือ 100 คน ผู้ที่ไปลงคะแนนเสียงจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งบัตรใบแรกจะเป็นการเลือก ส.ส. เขตของตน ส่วนใบที่สองจะเป็นการเลือกพรรคการเมืองเพื่อนำไปคำนวณเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อแตกต่างของข้อเสนอจากทั้ง 3 พรรคอยู่ นั่นคือ ในประเด็นของคะแนนเสียงขั้นต่ำของการได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยทางพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยเสนอไว้ที่ 1% แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีการตั้งคะแนนขั้นต่ำแต่อย่างใด ส่วนในอีกประเด็นคือเรื่องของการกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศผลการเลือกตั้งใน 30 วัน จากเดิม 60 วัน แต่ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้มีข้อเสนอในส่วนนี้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผลการลงมติของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบดังกล่าว มีเพียงร่างเดียวจาก 13 ร่างที่ผ่านเกณฑ์กึ่งหนึ่งของสภา และมีเสียงรับรองจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เกินหนึ่งในสาม นั่นคือร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบคล้ายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 โดยมีผู้รับหลักการ 553 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 343 เสียง และ ส.ว. 210 เสียง
จากนั้นในขั้นการพิจารณาร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการเสนอแปรญัตติขอให้แก้ไขรายละเอียดในร่างเป็นจำนวนมาก เช่น พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยขอสงวนความเห็นในการเปลี่ยนสัดส่วนของ ส.ส. ให้เป็น ส.ส. เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน ในขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นผู้เสนอร่างเอง ก็ขอให้ตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำในการได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อไว้ที่ 1% เช่นเดียวกัน
ต่อมา การพิจารณาร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งในวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 24-25 สิงหาคม 2564 ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานกรรมาธิการฯ ได้เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาพิจารณาว่าร่างของกรรมาธิการฯ นั้นมีการแปรญัตติเกินหลักการที่ได้ผ่านมติในวาระแรกซึ่งระบุให้แก้เพียง 2 มาตราหรือไม่
โดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมาธิการฯ ได้อ้างว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 124 ระบุให้การแปรญัตติเพิ่มเติมหรือตัดทอนนั้นสามารถทำได้หาก ‘ไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น’ ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับญัตติของธีรัจชัย ด้วยคะแนน 374 ต่อ 60 เสียง และงดออกเสียง 194 เสียง อย่างไรก็ตาม ร่างของกรรมาธิการฯ ยังมีโอกาสเสี่ยงในเรื่องของขอบเขตอำนาจของ กกต. ซึ่งถ้าประกาศใช้อาจโดนผู้ร้องเรียนให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีตกได้
ทำให้ในระหว่างการพิจารณาวันแรก ไพบูลย์จึงทำการเรียกประชุมด่วนเพื่อปรับแก้ร่างของกรรมาธิการฯ หลังจากนั้นสภาจึงมีมติเห็นชอบร่างของกรรมาธิการฯ ด้วยคะแนน 440 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 132 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งเดินทางมาถึงวาระที่ 3 ซึ่งจะไม่มีการอภิปรายของสมาชิกสภา แต่จะมีเพียงการลงมติเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่ารัฐสภามีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 472 ต่อ 33 เสียง และงดออกเสียง 187 เสียง
ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งกลายเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จ และในขั้นตอนถัดมาคือการให้นายกรัฐมนตรีรอเวลา 15 วัน ก่อนที่จะนำร่างทูลเกล้าฯ ถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564
✒ แก้กฎหมายลูกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
หลังจากที่รัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83, 86 และ 91 ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะกำหนดรายละเอียด ระเบียบ วิธี ขั้นตอน และการคำนวณคะแนนในการเลือกตั้ง
ซึ่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐสภาได้เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างของคณะรัฐมนตรี, ร่างของพรรคเพื่อไทย, ร่างของ วิเชียร ชวลิต และคณะ (ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ) และร่างของพรรคก้าวไกล และได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 49 คน เพื่อพิจารณาในรายละเอียด โดยใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
ในชั้นกรรมาธิการฯ นั้นมีประเด็นสำคัญที่ว่า การเลือก ส.ส. เขต กับบัญชีรายชื่อในบัตรเลือกตั้ง ควรเป็นเบอร์เดียวกันหรือไม่ ซึ่งทางพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันใช้หมายเลขเดียวกันทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ หรือ ‘บัตรเบอร์เดียว’ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง นำโดยพลังประชารัฐและพรรคขนาดกลางและเล็ก ต้องการให้ใช้คนละหมายเลขหรือ ‘บัตรคนละเบอร์’ ต่อมาเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมาธิการมีมติให้หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส. ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นคนละเบอร์ ด้วยคะแนน 32 ต่อ 14 เสียง
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ จากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล และบางส่วนที่สนับสนุนให้ผู้สมัคร ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อใช้เบอร์เดียวกัน ได้ขอสงวนความเห็นไว้อภิปรายในสภา เมื่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2
วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณาแบบรายมาตรา หนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงคือสูตรการคำนวณคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในมาตราที่ 23 ซึ่งหลายฝ่ายมีการเสนอแก้ไขในหลากหลายรูปแบบ เช่น การหารด้วยจำนวน ส.ส. 500 คนทั้งสภา หรือหารด้วยจำนวน ส.ส. 100 คน เฉพาะส่วนของบัญชีรายชื่อเท่านั้น โดยมีการนำเสนอแบ่งเป็น 3 แบบใหญ่ คือ
- แบบที่ 1 เสนอโดยกรรมาธิการเสียงข้างมาก ให้นำคะแนนบัญชีรายชื่อทุกพรรคหาร 100 เพื่อที่จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน และนำคะแนนเฉลี่ยที่ได้มาหารคะแนนบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับเพื่อหาจำนวน ส.ส. ที่ได้
- แบบที่ 2 เสนอโดย พล.อ. อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ (ส.ว.), พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม (ส.ว.), สมชัย ศรีสุทธิยากร (อดีต กกต.) และ นพ.ระวี มาศฉมาดล (พรรคพลังธรรมใหม่) ให้นำคะแนนดิบบัญชีรายชื่อรวมทุกพรรคหาร 500 เพื่อที่จะได้คะแนนเฉลี่ยของ ส.ส. พึงมี 1 คน จากนั้นนำคะแนนดิบบัญชีรายชื่อแต่ละพรรคมาหารคะแนนเฉลี่ย เพื่อที่จะได้ ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค และนำมาลบจำนวน ส.ส. เขตที่ได้ เพื่อที่จะหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ
- แบบที่ 3 เสนอโดย โกวิทย์ พวงงาม (พรรคพลังท้องถิ่นไท) ให้นำคะแนนดิบบัญชีรายชื่อและเขตรวมทุกพรรคหาร 500 เพื่อที่จะได้คะแนนเฉลี่ยของ ส.ส. พึงมี 1 คน จากนั้นนำคะแนนดิบบัญชีรายชื่อและเขตแต่ละพรรคมาหารคะแนนเฉลี่ย เพื่อที่จะได้ ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค และนำมาลบจำนวน ส.ส. เขตที่ได้ เพื่อที่จะหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ
สุดท้ายแล้ว รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับมาตรา 23 ที่ปรากฏตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับกรรมาธิการที่เขียนให้ใช้สูตรหารด้วย 100 ด้วยคะแนนเสียง 392 ต่อ 160 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง นอกจากนี้ยังมีมติเห็นชอบกับสูตรหารด้วย 500 ตามข้อเสนอของ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 354 ต่อ 162 เสียง งดออกเสียง 37 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง
เนื่องจากมีการปรับแก้โดยเปลี่ยนจากเนื้อหาเดิมที่กรรมาธิการนำเสนอ ทำให้การพิจารณาในมาตราอื่นๆ ทำได้ยาก ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 รัฐสภาลงมติให้ถอนร่างออกจากการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้กรรมาธิการกลับไปปรับแก้ ก่อนกลับเข้ามาบรรจุเข้าสู่วาระของรัฐสภาอีกครั้ง โดยพิจารณาต่อจากมาตราเดิม
✒ เกมพลิกสูตรคำนวณ ย้อนศรกลับไปหาร 100
ทว่าหลังจากนั้นกลับมีกระแสข่าวว่า ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย อยากให้กลับมาใช้สูตรหาร 100 เนื่องจากกังวลว่าหากชนะการเลือกตั้งในระบบเขตจำนวนมาก จะทำให้ไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่ออีก อีกทั้งยังมีกระแสข่าวถึงขนาดว่าจะกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่กระแสข่าวการกลับไปสู่บัตรเลือกตั้งใบเดียวถูกต่อต้านจากหลายฝ่าย
แต่หนึ่งในฉากทัศน์ที่เป็นไปได้มากสุดและเกิดขึ้นจริงนั้นคือการปล่อยให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ครบกำหนดกรอบพิจารณา 180 วัน และให้เป็นอันตกไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 132 (1) กำหนดให้รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 ระบุรายละเอียดว่า 180 วัน ให้นับแต่วันที่ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ถ้าหากรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เสร็จภายใน 180 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระ 2
ซึ่งหลังจากมีการนำเสนอฉากทัศน์นี้ก็มีเสียงตอบรับจาก 2 พรรคใหญ่ คือพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ และปรากฏให้เห็นในการไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมรัฐสภา เพื่อลากเวลาครบกำหนด 180 วัน แล้วย้อนกลับไปใช้ร่างเดิมของที่ใช้เป็นร่างหลักนั่นคือร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้สูตรคำนวณการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อโดยหาร 100
แม้ว่าจะมีความพยายามจาก ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาที่จะนัดประชุมด่วนในนาทีสุดท้าย คือวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลาพิจารณาใน 180 วัน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ความพยายามก็ล้มเหลว หลังนัดหมายประชุมในเวลา 09.00 น. แต่ผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง สมาชิกมาแสดงตนเพียง 353 คน จากทั้งหมด 727 คน ซึ่งองค์ประชุมกึ่งหนึ่งคือ 365 คน ทำให้ต้องปิดการประชุมและถือว่าเป็นการปิดฉากสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อหาร 500 กลับไปใช้ร่างเดิมของที่เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ
✒ เส้นทางกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. หลังผ่านรัฐสภา ลาก ยื้อ ส่งศาลตีความ
รัฐธรรมนูญระบุว่าหากพิจารณาไม่ทันในกรอบเวลา 180 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาเห็นชอบตามร่างเดิมที่เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ และหลังจากนั้นกำหนดให้ประธานรัฐสภาส่งร่างกฎหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ กกต. ทำความเห็นภายใน 10 วัน ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากชี้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งกลับมายังรัฐสภา เพื่อแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ถ้าไม่มีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็จะส่งให้รัฐสภา เพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรี โดยจะมีเวลารอ 5 วัน เพื่อรอดูว่าจะมีคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ บังคับใช้ต่อไป
วันที่ 23 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ลงนามในหนังสือส่งถึง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว โดยระบุว่า กกต. ไม่ได้มีข้อทักท้วงต่อร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้แต่อย่างใด
ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2565 นพ.ระวี พร้อมสมาชิกร่วมเข้าชื่อในคำร้อง 106 คน ประกอบไปด้วย ส.ส. 80 คน มาจากเกือบทุกพรรคการเมือง และมี ส.ว. อีก 26 คนยื่นคำร้องต่อ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ใน 2 ประเด็น คือระบบการคิดคำนวณ ส.ส. ด้วยการหาร 100 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยได้อ้างอิงมาตรา 25 ของร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีการยกเลิกมาตรา 130 หรือร่างกฎหมายฉบับปี 2561 ทำให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 หรือไม่ กับอ้างอิงมาตรา 26 ที่มีการไปยกเลิกมาตรา 131 ของร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งปี 2561 ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
และประเด็นที่ 2 กระบวนการตราร่างกฎหมายฉบับนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอ้างอิงหลักธรรมนูญมาตรา 131 และ 132 ที่จะต้องนำร่างที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จนำมาพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 180 วัน โดยอ้างอิงเหตุผลว่าพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค มีการถ่วงเวลา ทำให้การประชุมรัฐสภาล่มถึง 4 ครั้ง อันหมายถึงไม่ใช่การมุ่งมั่นตั้งใจกระทำการตามกระบวนการกฎหมาย โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะนำร่างส่งให้นายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงต้องรอกระบวนการวินิจฉัยเป็นที่สิ้นสุดก่อน
21 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ รับคำร้องที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลสั่งให้ผู้ร้องและประธาน กกต. ชี้แจงตามประเด็นที่ศาลกำหนดและจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คำร้องที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น.
และในที่สุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ .. พ.ศ. …. มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94
และมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ .. พ.ศ. …. มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94
เป็นอันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ก็จะถูกส่งต่อให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าและทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์ต่อไป
✒ ปฏิกิริยาหลังมีความชัดเจนเรื่องกติกาเลือกตั้ง
ขณะที่ นพ.ระวีในฐานะผู้ยื่นคำร้องระบุว่าโดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้จบแล้ว และจะไม่มีการยื่นคัดค้านใดๆ อีก และคงเป็นเรื่องของการเตรียมตัวเลือกตั้งครั้งหน้า
สำหรับการโปรดเกล้าฯ ลงมานั้นน่าจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 – มกราคม 2566 โดยเชื่อว่าระหว่างนี้จะไม่มีการยุบสภา เพราะจะไม่มีกฎหมายรับรอง แต่ก็อาจมีการยุบสภาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ซึ่งในส่วนของการเมืองไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น คาดการณ์ว่าพรรคเล็กอาจจะมีบางส่วนที่มีการยุบพรรคเพื่อไปควบรวมกัน หรือบางพรรคอาจจะสู้ต่อ โดยเมื่อจบการเลือกตั้งในปีหน้าก็คงมีพรรคเล็กหลายพรรคที่หายไป
ขณะที่อีกหนึ่งความเห็นที่น่าสนใจ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ผลพวง หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่อง หาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ทำให้พรรคเพื่อไทย ‘หุ้นขึ้นพรวดๆ’ ส.ส. และพรรคอื่น จะแสดงท่าทีขอเข้าร่วมมากขึ้น หากถึงปลายเดือนมกราคม 2566 ยังไม่ยุบสภา เราจะเห็น ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรค ลาออกแบบเป็นกลุ่มก้อน
“การรวมตัวของพรรคขนาดเล็กจะเกิดขึ้น เพราะไม่มีเศษ 3-4 หมื่นแล้วได้บัญชีรายชื่อ โอกาสเข้าพรรคใหญ่ก็ยาก เพราะเขามีตัววางไว้แล้ว คงต้องรวมกันเอง” สมชัยระบุ
สมชัยยังระบุด้วยว่า การยุบสภาจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ ยังต้องหาเวลาสร้างคะแนนนิยมในพรรคใหม่ และหาจังหวะที่อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ สิ่งที่ต้องจับตาในบทต่อไป คือรูปแบบการแบ่งเขตของ กกต. ว่าจะเป็นธรรม หรือเป็นไปเพื่อเอื้อพรรคใดหรือไม่และเรื่องยุบพรรคในจังหวะการเลือกตั้ง ยังกะพริบตาไม่ได้
ขณะที่ปฏิกิริยาจากพรรคเพื่อไทย ที่หลายฝ่ายมองว่าจะได้เปรียบที่สุดจากกติกานี้ สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาที่สภาดำเนินการมาเป็นขั้นเป็นตอนถือว่าเดินมาถูกทาง เชื่อว่าทุกคนโล่งอกบ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้สู่การเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้ง ถือเป็นทางออกที่ดีกับประเทศ ที่มีกลุ่มการเมืองอาจตั้งข้อกังวลว่า พรรคไหนจะได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่อยากให้เสียเวลาคิด การได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง อยู่ที่ว่าพรรคไหนสามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและไว้วางใจก็จะเป็นพรรคที่ได้เปรียบ เรื่องกติกาเป็นเพียงปัจจัยเล็ก ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งเท่ากับการวางตัวของพรรคการเมือง เมื่อทุกคนโล่งอกแล้ว ก็ขอให้เดินหน้าสร้างนโยบายที่ดีเสนอประชาชนต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะผ่านทุกขั้นตอนแล้ว เมื่อกติกาสะเด็ดน้ำ ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และเสียงปี่กลองเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ แต่การเมืองไทยเมื่อยังไม่ถึงเวลา ทุกอย่างยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ