คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน ระบุว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของภูมิภาคยุโรปในขณะนี้ยังไม่น่าจะถึงจุดสูงสุด ทำให้แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้วยังมีสิทธิขยับขึ้นทำสถิติสูงสุดระลอกใหม่ได้อีก โดยมีปัจจัยหนุนอย่างความไม่แน่นอนของราคาอาหารและพลังงานในภูมิภาค
ความเห็นของลาการ์ดครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่รายงานเงินเฟ้อของยุโรปในเดือนตุลาคม ขยับขึ้นแตะ 10.6% โดยประธาน ECB ยอมรับว่า ขณะนี้มีปัจจัยไม่แน่นอนมากเกินไป ทำให้ยากจะบอกได้ว่า อัตราเงินเฟ้อใน 19 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) จะสามารถปรับลดลงได้ในอนาคตอันใกล้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
ลาการ์ดยังใช้โอกาสในการขึ้นชี้แจงกับทางคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงินของรัฐสภายุโรป โดยให้คำมั่นว่าทาง ECB จะใช้ทุกเครื่องมือที่มีเพื่อรับมือกับการขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งโดยหลักๆ แล้ว คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสำคัญครั้งที่ 3 ของธนาคารในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา ECB คาดว่า “จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้มากขึ้นในระดับที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับไปสู่เป้าหมายระยะกลาง 2% ในเวลาที่เหมาะสม”
ท่าทีของธนาคารกลางยุโรป สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งก่อนที่โลกจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ก็ต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลังรัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องรับมือกับวิกฤตพลังงาน ต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น และค่าเงินที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จนทำให้เศรษฐกิจโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย
ด้านองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะขยายตัวเพียง 2.2% ในปีหน้า ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยในหลายๆ ประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรในปีหน้า
โดยรองประธาน ECB อย่าง Luis de Guindos กล่าวในเดือนนี้ว่าความเสี่ยง ‘มีแนวโน้มมากขึ้น’ ในยูโรโซน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนโดยตรง เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปส่วนใหญ่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย จนรัฐบาลใน EU ต้องเข็นมาตรการออกมาช่วยเหลือประชาชนไม่ให้บิลค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น
ลาการ์ดออกโดรงเตือนว่า ให้ใช้มาตรการดังกล่าวกับกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ และกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการลดแรงผลักดันเพื่อลดการใช้พลังงาน และลดความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อภายในภูมิภาคแย่ลง
อ้างอิง: