วันนี้ (26 พฤศจิกายน) เวทีเสวนา THE END OF GLOBALIZATION?: จากยูเครนถึงไต้หวัน ไทยควรวางหมากอย่างไรในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งเป็นหนึ่งในเวทีพูดคุยภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ชวนผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงรัฐศาสตร์และการต่างประเทศมาทบทวนถึงบทบาททางการทูตของไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงบทบาทการต่างประเทศไทยบนเวที ASEAN เวที G20 และเวที APEC ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้น กำลังบอกอะไรเราบ้าง
โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “ไทยทำตัวเหมือนเราเป็น ‘มนุษย์ล่องหน’ (Invisible Man) คือพยายามล่องหน หายตัว และไม่ปรากฏตัวด้วยเวลาเรามีปัญหา วิธีที่เราใช้คือ งดออกเสียง ถ้ามีการลงมติอะไรก็ตาม เราเดาได้เลย รัฐบาลที่กรุงเทพฯ จะใช้วิธีงดออกเสียง นโยบายนี้กำลังสะท้อนว่าเรากำลังหนีหรือเอาตัวเองออกจากเวทีโลก
คำถามคือ ในปี 2023 อะไรจะเป็นสถานการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้น แล้วรัฐบาลที่กรุงเทพฯ จะตัดสินใจอย่างไร หรือเรายังเชื่อว่า ชุดวิธีคิดที่พาตัวเองออกจากกระแสโลกเป็นสิ่งที่ดี เชื่อว่าความเป็นกลางต้องไม่อยู่ในกระแสโลก ความเป็นกลางต้องไม่หมุนตามโลก โลกจะโหวตอย่างไร เราจะไม่โหวตอย่างนั้น
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ หลังการรัฐประหารเมียนมา ประเทศไทยแทบไม่มีบทบาทเลย และพยายามจะไม่มีบทบาทด้วย และพยายามที่จะไม่มีบทบาทต่อไป
“พอเอาเข้าจริง ผมไม่แน่ใจว่าเรามีการกระซิบจริงๆ ไหม มีการทูตแบบ Quiet Diplomacy จริงๆ ไหม ยกตัวอย่างง่ายๆ ในอดีตเราพยายามที่จะโน้มน้าวเมียนมาให้ปรับเปลี่ยนการต่างประเทศให้เข้าสู่เส้นทางการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย แต่ในระยะหลัง ผมคิดว่าการรัฐประหารในเมียนมารอบนี้ หลายฝ่ายคาดหวังว่าบทบาทของไทยน่าจะดีกว่านี้ บทบาทของไทยน่าจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้นำทหารเมียนมาเห็นโจทย์อีกด้านหนึ่งที่ใช้ความรุนแรงลดน้อยลง หรือบทบาทของไทยในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเราสามารถเล่นเป็นพระเอกได้ แต่เราก็ไม่เล่น แปลว่าการทูตไทยในทุกวันนี้เป็นแบบ Quiet Diplomacy ในความหมายที่จะไม่ทำและจะไม่ทำอะไรเลย” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว
“เวลาเราสอนเรื่องนโยบายต่างประเทศ เราสอนในช่วงเวลายาวๆ แล้วเรารู้สึกว่า ตกลงมันเกิดอะไรขึ้น หลังรัฐประหาร 2014 ทำไมชุดความคิดด้านการต่างประเทศไทยหลังปี 2014 มันเหมือนหายไปเลย ไม่ใช่ตกยุคนะ แต่หายไปเลย หรือว่าปัญหาอยู่ที่วิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้นำที่ไม่มีชุดความคิดด้านการต่างประเทศที่ชัดเจน พอเราจะดำเนินการทูตแบบ Quiet มันก็ยิ่ง Quiet มากขึ้น ทำให้เสน่ห์ไทยไม่มี ถ้าเราบอกว่าเราไม่ต้องการให้โลกจับตามองเรา นั่นอาจเป็นเพราะผลพวงของรัฐประหาร แต่พอยิ่งเล่นขึ้น นานขึ้นๆ เราติดนิสัยที่จะเป็นคนไม่พูด ไม่แสดงออก และเชื่อว่าการไม่พูดและไม่แสดงออกบนเวทีโลกจะเป็นสิ่งที่พิทักษ์เรา แต่สำหรับผมว่าไม่ใช่ แต่กลับเป็นการทำลายผลประโยชน์ของตัวเราเอง”
ขณะที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า จะว่าไปแล้ว Quiet Diplomacy ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด Quiet Diplomacy ต้องนำมาซึ่งผลที่จับต้องได้
ดร.สุรเกียรติ์บอกเล่าประสบการณ์ขณะที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่า “ในช่วงนั้นมีการติดต่อกับเมียนมาเยอะมาก ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีประชาธิปไตยและจับ ออง ซาน ซูจี ขังอยู่ แต่เราก็ใช้วิธีการพูดกันแบบไม่เป็นข่าว แต่เราสามารถไปเล่าให้โลกฟังว่า เราไปคุยกับเขาว่าอะไร สิ่งนี้ทำให้ Quiet Diplomacy ช่วยยกสถานะของเราว่า เราใช้การทูตวิธีนี้ เพื่อโลกจะได้ทำงานร่วมกัน กล่าวคือ เราเป็นหน้าต่างประตูให้ติดต่อกับเมียนมา
“แล้วเรายังสามารถใช้ Quiet Diplomacy โน้มน้าวเขา โดย Quiet Diplomacy ไม่ได้แปลว่าเงียบๆ แล้วไม่ได้ทำอะไรเลย หรือว่าทำไปแล้วไม่บอกอะไรให้ใครรู้เลยแม้แต่นิดเดียว เราโน้มน้าวเขาให้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตย หลังจากโน้มน้าวอยู่นานก็นำไปสู่การจัดงาน Bangkok Processing ที่เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมามาเล่าให้อีกสิบกว่าประเทศฟังว่า โรดแมปของประชาธิปไตยเมียนมาเป็นอย่างไร” สิ่งนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า Quiet Diplomacy ควรนำไปสู่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้
“นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้การทูตแบบ Quiet Diplomacy ควบคู่ไปกับการทูตแบบ Megaphone ได้ ดร.สุรเกียรติ์ชี้ว่า ประเด็นด้านมนุษยธรรมเป็นหนึ่งในประเด็นที่เราสามารถใช้การทูตแบบ Megaphone ได้ อาทิ เมียนมาใช้เครื่องบินเจ็ตยิงถล่มชนกลุ่มน้อย ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จุดนี้ประเทศไทยสามารถทำการทูตแบบ Megaphone ได้ ยกมือเลยว่า เราจะเป็นผู้นำด้านมนุษยธรรม เราจะจับมือกับอาเซียน เราจะจับมือกับกาชาดสากล เราจะจับมือกับชาติตะวันตก เพื่อส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับทุกกลุ่มในเมียนมา ไม่ใช่เฉพาะแค่รัฐบาล ตรงนี้ต้องไม่ Quiet แต่ต้องทำอย่างเสียงดัง ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับนับถือมากยิ่งขึ้น”
ภาพ: (ซ้าย) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย / (ขวา) ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข / THE STANDARD