การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ของมาเลเซีย หรือ GE15* ได้สร้างปรากฏการณ์หน้าใหม่ในประวัติศาสตร์มาเลเซีย นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1959 เนื่องจากไม่มีพรรคหรือกลุ่มพันธมิตรใดได้ที่นั่งเกิน 50% ของสภาผู้แทนราษฎร (Dewan Rakyat) จนนำมาสู่สภาวะ ‘สภาแขวน’ (Hung Parliament)* เป็นครั้งแรก ทำให้แม้ผ่านมาแล้ว 4-5 วัน ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มพันธมิตรใดจะขึ้นเป็นรัฐบาล และจะมาจากการรวมตัวของพรรคการเมืองใดบ้าง
ไม่ใช่แค่ชาวมาเลเซียหรือนักวิเคราะห์การเมืองเท่านั้นที่ให้ความสนใจและเฝ้ารอคอย หากแต่รวมถึงบริษัทชั้นนำในตลาดหุ้นมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มก่อสร้าง และกลุ่มโทรคมนาคม ต่างลุ้นกับการจัดตั้งรัฐบาลไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะบริษัทเหล่านี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากรัฐบาลผสมชุดใหม่แตกต่างกันออกไปตามนโยบายของกลุ่มพรรคพันธมิตร
ใน GE15 กลุ่มพันธมิตร Pakatan Harapan (PH) นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ได้ที่นั่งมากที่สุดถึง 82 ที่นั่ง ตามมาด้วยกลุ่ม Perikatan Nasional (PN) ที่มี มูห์ยิดดิน ยัสซิน (Muhyddin Yassin) เป็นผู้นำได้ 73 ที่นั่ง (ซึ่งมูห์ยิดดินถึงกับกล่าวว่าเป็นชัยชนะอย่างไม่คาดคิด) ส่วน Barisan Nasional (BN) หรือที่รู้จักในชื่อกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ นำโดย ซาฮิด ฮามิดิ (Zahid Hamidi) ประธานพรรค United Malays National Organisation (UMNO) ตามมาเป็นที่สาม หลังจากพ่ายแพ้ในหลายเขตเลือกตั้งและรักษาได้เพียง 30 ที่นั่ง
ส่วน มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ผู้นำกลุ่ม Gerakan Tanah Air (GTA) นอกจากจะพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในลังกาวีแล้ว กลุ่ม GTA ก็ไม่ได้สักที่นั่งเดียว แม้ PH จะได้ ส.ส. จำนวนมากที่สุดแต่ก็ยังห่างไกลจากจำนวนครึ่งหนึ่งของสภา หรือ 112 ที่นั่ง และเมื่อต้องจับขั้วกับกลุ่มพันธมิตรอื่นแล้ว ดูเหมือนตัวเลือกของ PH จะมีไม่มากนัก ต่างกับ PN ที่ดูจะมีภาษีและตัวเลือกในการจัดตั้งรัฐบาลมากกว่า โดยเฉพาะสัญญาณบวกจากพรรคเจ้าถิ่นในซาบาห์และซาราวักที่มีที่นั่งรวมกันแล้ว 28 ที่ แถมยังเคยร่วมงานกันมาในรัฐบาลก่อนหน้า อีกทั้งในสภาวะเช่นนี้ก็ยังไม่ใช่สนามทดสอบกฎหมายต่อต้านการย้ายพรรค (Anti-Party Hopping Bill) เพราะยังเป็นช่วงระหว่างการฟอร์มทีมรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว พรรคต่างๆ ล้วนมีโอกาสในการต่อรองจับขั้วรัฐบาล ขอเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ย้ายสังกัด
ความไม่ลงตัวในการจับขั้วรัฐบาลถึงกับทำให้กษัตริย์มาเลเซียต้องยืดเวลาการส่งชื่อนายกรัฐมนตรีและรายชื่อพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ออกไปอีก 24 ชั่วโมง เป็นวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2022 ตามคำร้องขอจากเหล่าหัวหน้าพรรคการเมือง อีกทั้งจากสถานการณ์ชะงักงันทางการเมือง (Political Deadlock) ที่เกิดขึ้นหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ทำให้กษัตริย์ต้องทำหน้าที่หาทางออกให้กับประเทศ เพราะภายใต้ระบอบการปกครองของมาเลเซียที่มีกษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญมาตรา 43 (2) กำหนดไว้ว่า หากไม่มีพรรคการเมืองใดได้ที่นั่งครึ่งหนึ่งหรือเกินกว่านั้นในสภา กษัตริย์จะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินเลือกหัวหน้าพรรคการเมืองที่เห็นว่ามีความเหมาะสมต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐสภาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้นหากท้ายที่สุดการเจรจาระหว่างกษัตริย์และพรรคการเมืองต่างๆ ไม่สามารถหาจุดร่วมที่ลงตัว จนไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากดังเช่นที่เคยเป็นมา เราคงจะได้เห็นการเกิดขึ้นของรัฐบาลเสียงข้างน้อย (Minority Government) เป็นครั้งแรกของมาเลเซียก็เป็นได้ ซึ่งสภาวะเช่นนี้ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนัก ทั้งยังเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทและความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในคราวเดียวกัน
แม้ว่าในตอนนี้* ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมีหน้าตาอย่างไร แต่ GE15 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ลักษณะทางการเมือง และสิ่งที่กำลังจะตามมาในหลายด้าน
-
ปิดฉากยุคเรืองอำนาจของ BN
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงสำคัญ นั่นคือยุคเรืองอำนาจของ BN ได้จบสิ้นอย่างแท้จริงแล้ว ในช่วงก่อนปี 2018 กลุ่ม BN เคยผูกขาดการบริหารประเทศและเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลมาเป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษ หากแต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ BN กลับได้เพียง 30 ที่นั่ง ซึ่งน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์
ด้านของซาฮิด ฮามิดิ ประธานพรรค UMNO ที่เป็นทั้งผู้ผลักดันและตัวตั้งตัวตีให้มีการเลือกตั้ง เพราะหวังผลทางการเมืองที่จะตามมาหาก BN เป็นรัฐบาลในสมัยหน้า แม้ตัวซาฮิดจะยังรักษาเก้าอี้ใน Bagan Datuk ไว้ได้ แต่กลับมีคะแนนทิ้งคู่แข่งเพียงแค่ 348 คะแนนเท่านั้น อีกทั้งบุคคลสำคัญหลายคนของ BN ที่รวมถึง 3 อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในศึก GE15 ยิ่งเมื่อดูในภาพรวมแล้ว BN ได้แค่ 9 ที่นั่งในยะโฮร์ และไม่ได้แม้สักที่นั่งเดียวในปะลิส เกดะห์ ปีนัง มะละกา กลันตัน และตรังกานู
ความหายนะครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับผู้นำ UMNO นับแต่การเลือกตั้งในปี 2018 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำความพ่ายแพ้มาสู่พรรคเก่าแก่ของประเทศถึง 2 ครั้ง 2 ครา นอกจากนี้ซาฮิด ฮามิดิ ก็ดูไม่เหมาะถือธงรบนำพรรคลงสนาม เพราะมีข้อกล่าวหาติดตัวเกี่ยวกับการทุจริต รับสินบน และฟอกเงินถึง 47 ข้อหา ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมาพรรคยังไม่สามารถปฏิรูปและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้หลุดพ้นจากวังวนของคอร์รัปชันได้ ทำให้ UMNO ถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุด เมื่อบวกกับความเอือมระอาของประชาชนต่อปัญหาคอร์รัปชัน ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ชาวมลายูจำนวนมากที่เคยเป็นฐานเสียงให้กับ UMNO โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมในแนวทางอิสลามหันไปเลือกกลุ่ม PN แทนในฐานะทางเลือกเดียวที่มีอยู่
มหาเธร์ที่กลายเป็นเพียงตำนาน
GE15 เป็นการปิดฉากทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมาเป็นเวลารวมทั้งสิ้นถึง 24 ปี และถือว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย แต่การอำลานี้กลับไม่ได้สวยงาม หากเป็นความเสียหน้าและจุดด่างพร้อยในเส้นทางชีวิตการเมืองที่ไม่อาจลบเลือน หลังจากที่มหาเธร์พ่ายแพ้อย่างหมดท่าในลังกาวี ทั้งที่เคยยึดเก้าอี้นี้ไว้นานถึง 53 ปี
ด้านมูคริซ ลูกชายของมหาเธร์เองก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ทำให้ GE15 เหลือทิ้งไว้ก็เพียงตำนานการขับเคลื่อนประเทศแบบที่ใช้ตัวบุคคล (Personalization) และอำนาจรวมศูนย์ แทนที่สถาบันทางการเมืองในช่วงครองอำนาจของมหาเธร์ ตลอดจนเรื่องเล่าขานถึงความสำเร็จ เช่น Vision 2020 และ Look East Policy หรือแม้แต่การผลักดันประเทศให้ก้าวจากเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม ตลอดจนความพยายามในการปลูกปั้นลูกรักอย่างโปรตอน (Proton) บริษัทผลิตรถยนต์แห่งแรกของประเทศให้ก้าวขึ้นสู่ระดับภูมิภาค และสำคัญที่สุดคือนโยบาย New Economic Policy (NEP) ที่แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหลายทศวรรษว่าไม่เคยประสานรอยร้าวระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ให้ดีขึ้น ซ้ำร้ายทำให้การเมืองเรื่องชาติพันธุ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองมาเลเซียอย่างที่แยกออกจากกันไม่ได้ ทว่านโยบายนี้กลับได้รับการสานต่อจากรัฐบาลทุกชุดจวบจนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขาน และทิ้งมรดกตกทอดหลายอย่างไว้กับการเมืองมาเลเซียต่อไปอีกเนิ่นนาน
การเมืองเรื่องชาติพันธุ์ที่ไม่เลือนหาย
การเมืองเรื่องชาติพันธุ์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อประชาชนในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกกลุ่มพันธมิตร และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองในการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล ในด้านของกลุ่มผู้ลงคะแนนโดยเฉพาะชาวมลายูชี้ให้เห็นว่า ถึง BN และ PN จะสร้างภาพลักษณ์เป็นกลุ่มตัวแทนของชาวมาเลย์มุสลิมเหมือนกัน แต่กลุ่ม PN ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่แทนที่ UMNO แม้พรรค Bersatu ของมูห์ยิดดินที่เป็นแกนนำใน PN จะดูเหมือนเป็นพรรคอวตารของ UMNO แต่ก็ไม่เคยแปดเปื้อนกับปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งยังคงภาพลักษณ์ที่ใสสะอาดอยู่ การจัดตั้งรัฐบาลพันธมิตรก็แสดงให้เห็นถึงการเมืองเรื่องชาติพันธุ์ด้วยเช่นกัน เมื่อกลุ่ม PN โดยเฉพาะพรรค PAS (Parti Islam Se-Malaysia) พรรคพันธมิตรของ PN มีจุดยืนที่จะทำงานร่วมกับพรรคที่เป็นตัวแทนของชาวมลายู หรือพรรคที่ไม่ใช่ชาวมลายูแบบสุดโต่ง นั่นหมายถึงการหันหลังให้กับ PH อย่างสิ้นเชิง เพราะ PH มีภาพของความเป็นเสรีนิยมมากเกินไปและมองว่าถูกครอบงำโดยกลุ่มชาวจีน นี่ยังไม่ต้องจินตนาการถึงภาพที่พรรค PAS ซึ่งเป็นอิสลามแบบสุดโต่งจะทำงานได้ดีเพียงใดในบอร์เนียวที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์
การเมืองเรื่องชาติพันธุ์จะเห็นชัดเจนมากขึ้น หากนำจำนวนที่นั่งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาวางเปรียบเทียบกัน ซึ่งพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุดใน GE15 คือพรรค PAS ได้ไปถึง 48 ที่นั่ง ซึ่งเป็นความน่าสนใจอย่างมาก เพราะพรรค PAS เป็นพรรคอนุรักษนิยมตามแนวทางศาสนาอิสลาม และที่ผ่านมาพรรคเป็นที่นิยมอยู่เพียงในกลุ่มชาวมลายูมุสลิมในตรังกานู กลันตัน ปะลิส และเกดะห์ ที่สำคัญกว่านั้น จากอดีตพรรคไม่เคยได้ ส.ส. เกิน 25 ที่นั่ง แต่ปรากฏการณ์ที่คะแนนนิยมหลั่งไหลมาให้พรรคจนเรียกว่า Green Tsunami* ในครั้งนี้ ทำให้ไม่อาจละเลยได้ว่าการเมืองอิสลามกำลังกลับเข้ามามีอิทธิพลและบทบาทในการเมืองมาเลเซีย
และเมื่อ PAS เป็นส่วนสำคัญในชัยชนะของ PN ก็อาจแปลความได้ว่า PN ภายใต้การนำของมูห์ยิดดินได้รับความไว้วางใจจากประชาชนโดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิม และคนกลุ่มนี้ยังคงสนับสนุน Affirmative Action Policy อันเป็นนโยบายที่เกื้อหนุนชาวมาเลย์มุสลิมและชาวภูมิบุตร ในทางตรงกันข้ามก็ชี้ให้เห็นว่า PH ยังไม่สามารถเข้าไปอยู่ในใจของชาวมลายูมุสลิมได้ สิ่งที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าจะส่งผลต่อการวางแนวนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ความมั่นคง และการเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเรียกคะแนนและขยายความนิยมเข้าไปในคนกลุ่มนี้ เพราะจะมีผลต่ออนาคตทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างที่ไม่ต้องคาดเดา
-
วงเวียนการเมืองอุปถัมภ์
การเมืองเรื่องของการต่อรองก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล และก็มิใช่เพียงการต่อรองตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาลเท่านั้น หากต้องไม่ลืมว่าตำแหน่งสำคัญอื่นทั้งใน Government-linked Companies (GLCs) และ Government-linked Investment Companies (GLICs) เช่น Khazanah Nasional, CIMB Group Holdings Berhad, Malayan Banking Berhad (Maybank), Sime Darby และคณะกรรมาธิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาเลเซีย (Malaysian Anti-Corruption Commission), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (Election Commission), Judicial Appointments Commission, Malaysian Communications and Multimedia Commission (MCMC) ล้วนเป็นการตบรางวัลให้แก่ผู้สนับสนุนและขับเคลื่อนให้กลุ่มพันธมิตรสามารถจัดตั้งรัฐบาลอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ อีกทั้งตำแหน่งเหล่านี้ยังมีนัยต่อเสถียรภาพของฝ่ายรัฐบาลและมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสกัดกั้นฝ่ายตรงข้ามด้วย
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การต่อรองมีความดุเดือดกว่าที่เคยเป็นมา จากอดีตที่ UMNO จะเป็นผู้ตัดสินใจและควบคุมตำแหน่งสำคัญในหลายกระทรวง ตลอดจนคณะกรรมาธิการและ GLCs ชั้นนำ หากแต่ในครั้งนี้ ไม่ว่ากลุ่มใดจะเป็นรัฐบาล คงต้องยอมสละตำแหน่งสำคัญที่หมายตาไว้ให้กับพันธมิตรที่ร่วมกอดคอกันมา และพรรคร่วมอื่นที่เข้ามาเสริมทัพในการจัดตั้งรัฐบาล
นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่ามาเลเซียกำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น การว่างงาน ภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนค่าเงินริงกิตที่อ่อนลง ดังนั้นแล้วสำหรับรัฐบาลชุดใหม่นี้ หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคงหนีไม่พ้นการสานต่อเมกะโปรเจกต์ ไม่ว่าจะเป็น East Coast Rail Link, Gemas-Johor Bahru (JB) Electrified Double Track, JB-Singapore Rapid Transit Link และ Pan-Borneo Highway Sabah-Sarawak Link Road
ซึ่งโครงการขนาดยักษ์ในมาเลเซียมักมี GLCs เป็นผู้ขับเคลื่อนและได้รับสัมปทานจากรัฐ อีกทั้งการลงทุนของ GLCs ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเรียกคะแนนนิยมจากชาวมาเลย์มุสลิมในรัฐบาลทุกชุด รวมถึงหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับ GLCs มักมีปัญหาความไม่โปร่งใสและมูลค่าการลงทุนที่สูงเกินจริง ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ หากแต่มีให้เห็นในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา และไม่ใช่เพียงรัฐบาล UMNO เท่านั้น แม้แต่ในช่วงปี 2018 ที่ PH เป็นรัฐบาล ก็ได้พร่ำบอกถึงความเลวร้ายและมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหานี้ แต่ก็ยังปรากฏภาพของการเกื้อหนุนญาติมิตร (Nepotism) และการเมืองอุปถัมภ์ สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นกระจกสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ระบบอุปถัมภ์ที่เคยกัดกินประเทศมาเป็นเวลาช้านานนั้นได้หมดสิ้นไปแล้วหรือยัง ตลอดจนการลงมือทำตามจุดยืน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม PN หรือ PH ที่ได้ให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าจะสร้างธรรมาภิบาล (Good Governance) และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
นอกจากสิ่งต่างๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการเมืองมาเลเซียแล้ว รัฐบาลชุดใหม่ก็มีภาระงานเร่งด่วนรออยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหลายฉบับที่รอการขับเคลื่อนจากรัฐบาล เช่น Fiscal Responsibility Act ตลอดจนการนำงบประมาณปี 2023 ที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐบาลชุดก่อนขึ้นโต๊ะพิจารณาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ดังนั้นจึงต้องจับตาดูว่าการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้มากน้อยเพียงไร ท้ายที่สุดแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลมิใช่เพียงชัยชนะของกลุ่มพันธมิตรใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะหากพิจารณาลึกลงไปในแง่ของรัฐบาลชุดใหม่จะพบว่า ‘เสถียรภาพ’ มิใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดเพียงปัจจัยเดียวอีกต่อไป แต่ ‘ความมีอิสระในการตัดสินใจ’ และ ‘ความเป็นเอกภาพ’ ของรัฐบาลที่จะมีมากน้อยแค่ไหนต่างหากเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะจะเชื่อมโยงถึง Manifesto อุดมการณ์ และคำมั่นสัญญาที่พรรคเคยให้ไว้ ตลอดจนเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนในประเทศ นักลงทุนต่างชาติ และการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย
ภาพ: Afif Abd Halim / NurPhoto via Getty Images
- การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 มีขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2022
- สภาแขวน เป็นสภาวะที่ไม่มีพรรคการเมืองใดชนะเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. เกินครึ่งหนึ่งของที่นั่งในสภา
- บทความนี้เขียนขึ้นในวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2022 ซึ่งยังไม่มีการประกาศว่าพรรคใดจะเป็นรัฐบาล
- พรรค PAS มีสีประจำพรรค คือ สีเขียวและขาว