เป็นธรรมดาสำหรับการประชุมระดับโลกที่มีเนื้อหาสาระเข้าถึงยากตั้งแต่ชื่อแล้วอย่าง การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือที่จำง่ายๆ ว่า COP27 จะเต็มไปด้วยศัพท์แสงที่เข้าใจยากทั้งศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์และภาษาทางการทูต นั่นทำให้ประโยคง่ายๆ จากสาวน้อยชาวกานาวัย 10 ขวบ ว่า ‘มียอดค้างชำระ’ (Payment Overdue) จึงโดนใจทุกคนในการประชุมเข้าอย่างจัง
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 พฤศจิกายน) บนเวทีประชุมเสวนา COP27 ที่เมืองชาร์มเอลชีคของอียิปต์ ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมายาวนานกว่า 2 สัปดาห์ โดยมีตัวแทนจากชาติต่างๆ เข้าร่วมการประชุมนับร้อยคน นาคียัต ดรามานี แซม สาวน้อยวัย 10 ขวบจากกานา ซึ่งเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมการประชุมด้วย ได้มีโอกาสขึ้นพูดด้วยน้ำเสียงใสๆ และซื่อตรง
โดยขณะที่มีการพูดถึงเรื่องที่ชาวกานาต้องเผชิญความเจ็บปวดจากเรื่องน้ำท่วมใหญ่ แซมได้ชูป้ายที่มีข้อความสั้นๆ ว่า ‘มียอดค้างชำระ’ ก่อนที่จะกล่าวว่า “หนูขอตั้งคำถามแค่คำถามเดียว เมื่อไรพวกคุณจะชดใช้ให้พวกเรา? เพราะค่าใช้จ่ายมันค้างชำระมานานแล้ว”
สิ่งที่แซมพูดคือประเด็นที่ชาติพัฒนาแล้วสมควรต้องมีส่วนชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลก ขณะที่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องของการชดใช้ สำหรับผู้ใหญ่แล้ว การเจรจาพูดคุยกันเต็มไปด้วยศัพท์แสงที่เข้าใจยาก และมองไม่เห็นวี่แววของการเจรจาว่าจะรู้เรื่องได้อย่างไร
แซมยังได้เล่าให้ผู้เข้าร่วมการประชุมฟังว่า เธอได้มีโอกาสพบกับ จอห์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษ ว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบอกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ดีต่อเธอมาก แต่การได้พบกันครั้งนี้ทำให้เธอเริ่มคิดถึงอนาคต
“ตอนที่หนูอายุเท่าเขา ถ้าพระเจ้าปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น มันก็น่าจะเป็นจุดสิ้นสุดของศตวรรษนี้พอดี” เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้จากทั้งห้องประชุม ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวนที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า เราเหลือเวลาไม่ถึงทศวรรษในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนก่อนที่จะสายเกินไปและทุกอย่างจะเลวร้ายกว่านี้ว่า “ได้โปรดใช้หัวใจคิด เรื่องนี้คือเรื่องเร่งด่วนจริงๆ”
ก่อนที่เสียงปรบมือจะดังสนั่นห้องประชุม ด้วยความหวังว่าข้อความจากน้ำเสียงใสๆ ของแซม ซึ่งกลายมาเป็นนักสิ่งแวดล้อมตัวน้อยเพราะหลงรักการปลูกต้นไม้และปลูกมาเกินกว่าร้อยต้นแล้ว รวมถึงมีผลงานหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ในประเทศกานา อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอนาคตของหนูน้อยอย่างเธอและอีกมากมายทั่วโลก
ภาพ: Mohamed Abd El Ghany / Reuters
อ้างอิง: