อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี นับเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อทำให้การเพิ่มขึ้นของราคามีเสถียรภาพ หลังนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงในปีหน้า
ในวันนี้ (18 พฤศจิกายน) รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมอาหารสดในเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 3.6% จากปีที่แล้ว สูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 3.5% และถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร็วสุดนับตั้งแต่ปี 1982 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นยังเกินเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ 2% เป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกันแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
- ร้านโอมากาเสะทั่วโลกขาดแคลน ‘เชฟซูชิชาวญี่ปุ่น’ แย่งตัวกันอุตลุด ยิ่งได้ภาษาจะถูกเสนอค่าจ้างสูงถึง 2.2 ล้านบาทต่อปี
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากเงินเยนที่อ่อนค่า ทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น ท่ามกลางปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ทำให้ต้นทุนสูงนำเข้าอยู่แล้ว
หลังจากการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าว ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ย้ำถึงมุมมองของเขาว่า อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ระดับต่ำมากในปัจจุบันยังคง ‘เหมาะสม’ แม้ว่าเขารับทราบว่าการเพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดนี้มีนัยสำคัญ และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอีก
โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ BOJ ว่าอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงในปีหน้า แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่า ธนาคารกลางประเมินความแข็งแกร่งของเงินเฟ้อต่ำกว่าความเป็นจริง
มาริ อิวาชิตะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดของ Daiwa Securities กล่าวว่า เป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับ BOJ ที่จะบอกว่า อัตราเงินเฟ้อที่ผลักดันต้นทุนในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว เนื่องจากหากเงินเยนยังคงอ่อนค่า บริษัทจำนวนมากจะพยายามส่งต่อต้นทุนไปยังผู้บริโภค
BOJ ยังคงเป็นธนาคารกลางที่มองว่า เงินเฟ้อที่ร้อนแรงรอบนี้เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ขณะที่ธนาคารกลางเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอื่นๆ กลับมองตรงกันข้าม และเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว
ท่าทีดังกล่าวได้ช่วยผลักดันให้เงินเยนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเข้าแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหลายครั้ง
คุโรดะยังยืนยันอย่างต่อเนื่องว่า อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ‘ไม่ยั่งยืน’ และขับเคลื่อนด้วยต้นทุนการนำเข้าและเงินเยนที่อ่อนค่าลง นอกจากนี้ คุโรดะดูเหมือนจะรักษาจุดยืนนโยบายดังกล่าวไว้ระหว่างช่วงเดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ
“ผมเชื่อว่าการเติบโตของราคาจะลดลงต่ำกว่า 2% ในปีงบประมาณหน้าเป็นต้นไป” คุโรดะกล่าวต่อรัฐสภาญี่ปุ่นในวันนี้
อ้างอิง: