×

ส่องประเด็นประชุม APEC 2022 ผู้นำจะคุยอะไรกัน?

17.11.2022
  • LOADING...

การประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือ APEC 2022 เตรียมเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจรวมถึงไทยในฐานะเจ้าภาพ เข้าร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อหลักคือ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ หรือ ‘Open. Connect. Balance.’

 

หัวข้อหลักดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการผลักดันประเด็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในยุคหลังโควิด ไปจนถึงการฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวใน APEC ตลอดจนการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals) ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการหารือในประเด็นระดับโลก เช่น ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร ภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามยูเครน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

และนี่คือประเด็นหลักๆ ที่คาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งนี้

 

Open. Connect. Balance.

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน จะเป็นวาระการประชุมแบบปิด โดยหัวข้อหลักของการประชุม คือ Open. Connect. Balance. นั้นมีรายละเอียดที่ตรงตัวดังนี้

 

Open – เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์

หมายถึงการเปิดกว้างทางการค้าและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรี โดยรวมถึงการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทยุคหลังโควิด ซึ่งที่ผ่านมา ในการประชุมรัฐมนตรีการค้า APEC (Ministers Responsible for Trade (MRT) Meeting) เมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม ได้เห็นชอบให้จัดทำแผนงานขับเคลื่อนต่อเนื่องหลายปี (Multi-Year Work Plan) เพื่อผลักดันการหารือให้เป็นรูปธรรม

 

Connect – สร้างการเชื่อมโยงทุกมิติ

หมายถึงการสนับสนุนการฟื้นฟูความเชื่อมโยงใน APEC โดยเฉพาะด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด โดยขับเคลื่อนผ่านคณะทำงานเฉพาะกิจที่เรียกว่า Safe Passage Taskforce ที่ไทยริเริ่มจัดตั้งและเป็นประธาน ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและภูมิภาคหลายประการ ได้แก่

 

  • การจัดทำระบบฐานข้อมูลมาตรการการเดินทางข้ามแดน APEC (Information Portal) เพื่อให้สามารถหาข้อมูลล่าสุด เกี่ยวกับกฎระเบียบการเดินทางเข้าเมืองของเขตเศรษฐกิจต่างๆ ได้ในที่เดียว (เริ่มใช้แล้ว)
  • การจัดทำหลักการเพื่อส่งเสริมความสอดคล้องกันของใบรับรองการฉีดวัคซีน (ซึ่งได้การรับรองแล้ว โดยเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วม 4 เขต และอยู่ระหว่างการแลกเปลี่ยนรายละเอียดทางเทคนิค เพื่อให้สามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลใบรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกันได้)
  • การขยายกลุ่มผู้ถือบัตรเดินทางนักธุรกิจ APEC (ABTC) ให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ MSMEs และสตาร์ทอัพ (อยู่ในช่วงสุดท้ายของการผลักดัน)

 

Balance – สร้างสมดุลรอบด้าน

หมายถึงการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเน้นการสร้างสมดุลในทุกด้าน ซึ่งไทยริเริ่มการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bangkok Goals on BCG Economy เพื่อเป็นโรดแมป หรือแผนดำเนินการในการขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมของ APEC ในระยะยาว 

 

ประเด็นระดับโลกและการพูดคุยนอกรอบ

นอกจากนี้ ประเด็นสถานการณ์ระดับโลก ทั้งกรณีสงครามยูเครน ปัญหาความขัดแย้งของมหาอำนาจและการแข่งขันสร้างอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ ภาวะโลกรวนและความไม่มั่นคงทางอาหารและพลังงาน ก็เป็นประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะอยู่ในวาระการประชุม

 

โดยประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามยูเครน ถือเป็นประเด็นที่มีความท้าทายสำหรับผู้นำ APEC ในการหาฉันทามติเพื่อแสดงท่าทีหรือออกแถลงการณ์ ซึ่งในการประชุมอื่นๆ ของ APEC ช่วงปีที่ผ่านมา ไม่สามารถเห็นพ้องและออกแถลงการณ์ใดๆ ได้ เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกเขตเศรษฐกิจต่างๆ ในการกล่าวถึงกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลไทยได้แสดงความคาดหวังให้เวที APEC เป็นพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาระดับโลกในระยะยาวหลายด้าน ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวที่ไม่แน่นอนจากโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด

 

“การประชุม APEC ในปีนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงสองทาง เราไม่จำเป็นต้องนึกถึงความขัดแย้งด้านความมั่นคงที่รุนแรง ซึ่งไม่รู้ว่าชัยชนะจะออกมาเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกัน โลกกำลังจับจ้องไปที่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ห่วงโซ่อุปทานที่พังทลาย ภาวะความขาดแคลน และภัยพิบัติทางสภาพอากาศ” ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการเปิดการประชุมรัฐมนตรี APEC (APEC Ministerial Meeting: AMM) ซึ่งมีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ที่จะเผยแพร่ภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC

 

ทั้งนี้ การประชุมผู้นำ APEC ยังเป็นพื้นที่สำหรับการพบปะพูดคุยทวิภาคีของบรรดาผู้นำโลก เช่น ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ที่มีแผนพูดคุยนอกรอบ ทั้งกับ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ 

 

ขณะที่ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงสหรัฐฯ ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมแทน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกจับจ้องว่าจะใช้เวที APEC ในการตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และวางระเบียบวาระทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมของสหรัฐฯ สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก อันเป็นความคิดริเริ่มของ 14 ประเทศ นำโดยสหรัฐฯ เพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น

 

เป้าหมายและโอกาสของไทย

ในส่วนของไทยนั้น อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการและกำกับการทำงานของฝ่ายไทย โดยให้คำนึงถึงหลักการที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

 

ประการแรก: ประเด็นในการหารือที่จะส่งผลให้ช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่ได้เข้าถึงประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนการเร่งฟื้นฟูการเดินทางภายหลังวิกฤตโควิด เพื่อประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และการส่งเสริมเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีความรับผิดชอบ ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว

 

ประการที่สอง: การหาช่องทางให้ไทยได้แสดงศักยภาพและความพร้อมให้โลกได้เห็น ผ่านความสำเร็จในการจัดประชุมตลอดทั้งปี ซึ่งไทยต้องจัดการประชุมท่ามกลางความท้าทาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับโควิดและสถานการณ์โลกที่ผันผวน ซึ่งการประชุมผู้นำ APEC ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่จัดแบบพบหน้ากัน และเป็นโอกาสให้ผู้นำ APEC ได้เดินทางมาพบและหารือกันด้วยตัวเอง

 

ประการที่สาม: การหาโอกาสและช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยตลอดช่วงสัปดาห์การประชุม APEC จะมีผู้นำและผู้แทนจากต่างประเทศเดินทางมาเยือนไทยประมาณ 3,000 คน และสื่อต่างชาติอีกกว่า 2,000 คน ซึ่งทุกคนจะได้เห็นศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน นำไปสู่โอกาสทางการค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น

 

ขณะเดียวกัน เวทีประชุม APEC ยังเป็นโอกาสในการนำเสนอภาพความโดดเด่นทางวัฒนธรรม อาหาร การแสดง และเอกลักษณ์ความสวยงามของไทยที่จะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก 

 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการประชุมระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ยังมีการประชุมที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายการ เช่น APEC CEO summit, ABAC, APEC SME และเป็นโอกาสของไทยในการได้ต้อนรับผู้นำจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นผู้นำเขตเศรษฐกิจและเป็นแขกพิเศษ ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส

 

ภาพ: Photo by Vachira Vachira/NurPhoto via Getty Images


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X