เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 3 หดตัว 1.2% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี เหตุพิษเงินเฟ้อ และเงินเยนที่อ่อนค่า ฉุดกำลังการบริโภค ด้านนักเศรษฐศาสตร์มอง GDP ญี่ปุ่นจะพลิกบวกได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวและดุลการค้าที่แข็งแกร่งขึ้น
สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 พบว่า หดตัวลง 1.2% เมื่อเป็นเป็นอัตรารายปี ขณะที่หากเทียบเป็นรายไตรมาส GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 3 หดตัวลง 0.3% สวนทางกับที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้าว่าขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า 0.3%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
- ร้านโอมากาเสะทั่วโลกขาดแคลน ‘เชฟซูชิชาวญี่ปุ่น’ แย่งตัวกันอุตลุด ยิ่งได้ภาษาจะถูกเสนอค่าจ้างสูงถึง 2.2 ล้านบาทต่อปี
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเหนือความคาดหมายของญี่ปุ่นในครั้งนี้นับเป็นการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ฉุดให้การอุปโภคบริโภคชะลอตัวลงตาม บวกกับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภค พื้นฐาน (CPI) ซึ่งไม่รวมราคาในหมวดอาหารสด พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีในเดือนกันยายน
นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงทำให้ต้นทุนการนำเข้าของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนเชื้อเพลิงและวัตถุดิบ รวมถึงยังทำให้กลุ่มผู้ผลิตเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น จนต้องผลักภาระต้นทุนไปให้กับผู้บริโภคที่ต่างก็หันมาปรับลดค่าใช้จ่ายและรัดเข็มขัดอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันต้นทุนที่สูงขึ้นยังทำให้บรรดาบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหลายหันมาปรับลดการใช้จ่ายเช่นกัน โดยมีรายงานว่าการใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นเพียง 1.5% ในไตรมาส 3 ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 2.1% และชะลอตัวลงอย่างมากจากไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัวถึง 2.4%
โดยการบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ของญี่ปุ่น
กระนั้นข้อมูลจากทางการระบุว่า ขณะที่การลงทุนภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น การลงทุนในที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนกลับลดลง ส่วนต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นก็ถูกชดเชยด้วยการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 1.9%
ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัจจัยความท้าทายต่างๆ รวมถึงความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เช่น กรณีสงครามในยูเครน ทำให้ญี่ปุ่นยังคงต้องต่อสู้กับค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง กลายเป็นแรงกดดันด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้นสำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่นดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปีในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยปรับตัวลดลงแตะ 151 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าหลังจากนั้นจะฟื้นตัวกลับมาได้บ้างแล้ว แต่ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้เปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์เมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลต้องการปกป้องการดำรงชีวิต การจ้างงาน และธุรกิจของผู้คน ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่หันมาควบคุมการใช้จ่ายท่ามกลางความหวาดกลัวต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสินค้านำเข้าราคาแพง แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์กลับคาดว่าเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกแห่งนี้จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย และฟื้นตัวได้ในปีนี้
Darren Tay นักเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่นในสังกัด Capital Economics คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะพลิกกลับไปสู่การขยายตัวภายในสิ้นปี 2022 โดยได้รับอานิสงส์มาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและดุลการค้าที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ความเสี่ยงจากโควิดและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะจำกัดขอบเขตของการฟื้นตัว
ขณะเดียวกันแม้ว่าค่าเงินเยนที่อ่อนค่าจะทำให้ญี่ปุ่นมีความน่าดึงดูดน้อยลงในสายตาของนักลงทุน แต่ Nobuko Kobayashi นักวิเคราะห์จาก EY มองว่าเงินเยนอ่อนก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับภาคการส่งออกของญี่ปุ่น โดย Kobayashi กล่าวว่า สำหรับผู้ส่งออก เงินเยนที่อ่อนค่าลงนั้นส่งผลบวกอย่างแน่นอน เนื่องจากช่วยลดต้นทุน สำหรับผู้ที่ผลิตและให้บริการในตลาดต่างประเทศ กำไรที่แปลงเป็นเงินเยนจะสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินเยนที่ถูกกว่า ดังนั้นภาคยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์จึงได้รับประโยชน์จากเงินเยนที่อ่อนค่าลง บวกกับส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในแง่ที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
อ้างอิง: