‘โซนี่ กรุ๊ป’ เตรียมตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย เหตุพยายามลดต้นทุนการผลิต และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ด้วยการกระจายฐานการผลิตไปทั่วโลก พร้อมเตรียมจ้างพนักงาน 2,000 คน เพื่อทำงานในโรงงานแห่งนี้
สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า บริษัท โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ (Sony Semiconductor Solutions) จะทุ่มทุนประมาณ 1 หมื่นล้านเยน (หรือราว 2.5 พันล้านบาท) ในการก่อสร้างอาคารใหม่บริเวณฐานการผลิตเดิมในภาคกลางของประเทศไทย โดยการก่อสร้างอยู่ในระหว่างการดำเนินการแล้ว พร้อมคาดว่าโรงงานจะเริ่มการผลิตได้ภายในปีงบการเงินซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปี 2025
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Sony เตรียมวางจำหน่าย ‘Olfactory Device’ เครื่องค้นหาสัญญาณของภาวะสมองเสื่อม จากการ ‘ดมกลิ่น’
- Apple เดินตามรอย Sony ในการพัฒนาโปรไฟล์เสียงที่จะทำให้การดื่มด่ำกับประสบการณ์เสียงรอบทิศทางดีขึ้น
- Sony มีแผนจะพัฒนา ‘เซ็นเซอร์ขับรถอัตโนมัติ’ ที่กินไฟน้อยลงกว่า 70% หวังช่วยเพิ่มระยะทางการขับขี่
โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะใช้ผลิตเซ็นเซอร์รับภาพ (Image Sensor) ประเภทหนึ่งที่ใช้ในรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Automated Car) หรือรถยนต์ไร้คนขับ เพื่อตรวจจับคนเดินถนนและสิ่งกีดขวาง
และเมื่อโรงงานแห่งนี้สร้างเสร็จแล้ว ขนาดการผลิตของโซนี่ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 70% โดยบริษัทคาดว่าจะจ้างพนักงาน 2,000 คน เพื่อทำงานในโรงงานแห่งนี้
โดยกระบวนการส่วนหน้า (Front-End Process) ของการสร้างวงจรบน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซมิคอนดักเตอร์จะแล้วเสร็จในญี่ปุ่น ขณะที่โรงงานในประเทศไทยจะดำเนินการส่วนหลัง (Back-End) และผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จจะถูกส่งออกไปทั่วโลก
แม้ว่ากระบวนการส่วนแรกจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญระดับสูง แต่ขั้นตอนส่วนหลังนี้ต้องการกำลังคนจำนวนมากในการใช้งานเครื่องจักร ดังนั้นการรักษาต้นทุนแรงงานให้ต่ำลงจึงเป็นปัจจัยสำคัญเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นการดำเนินงานในประเทศไทยซึ่งมีค่าแรงค่อนข้างต่ำจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท จากปัจจุบันที่โซนี่ดำเนินกระบวนการผลิตเซ็นเซอร์ยานยนต์ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลังที่โรงงานในญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่
ในช่วงต้นของการระบาดใหญ่ ห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกได้หยุดชะงัก ทำให้การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ลดลงตามไปด้วย โซนี่จึงพยายามสร้างระบบที่ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือการระบาดของโรค
ไม่ใช่แต่โซนี่เท่านั้น แต่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อย่าง Intel ก็กำลังเร่งกระจายฐานการผลิตของตนเช่นกัน
ขณะที่ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในพีซีและสมาร์ทโฟนกำลังลดลง แต่ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในรถยนต์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากโลกกำลังนำเทคโนโลยีช่วยเหลือการขับขี่ และการขับขี่อัตโนมัติมาใช้มากขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดเซ็นเซอร์รับภาพ CMOS คาดว่าจะแตะ 2.69 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2026 เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2021 โดยโซนี่ถือเป็นผู้ผลิตเซ็นเซอร์รับภาพชั้นนำของโลก โดยควบคุมตลาดประมาณครึ่งหนึ่ง
อ้างอิง: