×

ถอดแนวคิดการวางผัง ‘ทิศทางการศึกษาแห่งโลกอนาคต’ ผ่านมุมมองของคณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2022
  • LOADING...
Thammasat Design Center

มีความเป็นไปได้สูงที่โลกยุค VUCA จะท้าทายกว่าและหาวิธีรับมือยากกว่าเมื่อเทียบกับยุคที่โลกถูก Disruption เพราะการทำลายล้างอย่างน้อยเราก็รู้ว่ากำลังถูกจู่โจมจากอะไร แต่โลก VUCA ไม่มีสูตรสำเร็จในการจัดการ สิ่งที่เคยใช้ได้ในอดีตอาจไม่ตอบโจทย์โลกอนาคต ทุกคนเดินหน้าสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความผันผวน (Volatility), ความไม่แน่นอน (Uncertainty), ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ ยากจะคาดเดา (Ambiguity) 

 

VUCA ไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆ แล้วคำนี้ปรากฏครั้งแรกเมื่อปี 1985 ในหนังสือ Leaders: Strategies for Taking Charge ของ Warren Bennis และ Burt Nanus สองกูรูด้านทักษะผู้นำ ที่พูดถึงความท้าทายของผู้นำต่อสถานการณ์ที่ซับซ้อนจากปัจจัยภายนอก 

 

ปี 1990 วิทยาลัยการสงครามกองทัพสหรัฐฯ นำมาใช้เรียกช่วงเวลาของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อันเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง และต่อเนื่อง ก่อนที่จะกลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกธุรกิจ 

 

VUCA ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อโลกเข้าสู่สภาวะตึงเครียดและผันผวนจากสถานการณ์การระบาดของโควิด การขับเคลื่อนอนาคตท่ามกลางสภาวการณ์ที่เต็มไปด้วยความผันผวน ซับซ้อน ไม่แน่นอน และคาดเดาไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและส่งผลต่อชีวิตในทุกมิติ ตั้งแต่การใช้ชีวิต การทำธุรกิจ หรือแม้แต่การศึกษา 

 

สิ่งที่เคยเรียนรู้วันนี้อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ทักษะที่เคยจำเป็นอาจไร้ความหมาย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งฟันเฟืองเล็กๆ ที่คอยผลักดันระบบการศึกษาไทยและย้ำเสมอว่า ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนแบบเร่งสปีด หากหัวใจของอุดมศึกษาคือการผลิตคนเพื่ออยู่กับโลกในอนาคต วันนี้โลกยุค VUCA มาถึงแล้ว สถาบันการศึกษาจะปรับทิศทางการศึกษาแห่งโลกอนาคตอย่างไร?  

 

Thammasat Design Center

 

ผศ.ดร.กัลยา ตันติยาสวัสดิกุล รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำทันทีในฐานะของสถาบันการศึกษาที่ต้องผลิตบุคลากรให้พร้อมต่อโลกยุค VUCA คือการ Reinventing Future หรือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอนาคตแบบที่ไม่เหลือเค้าโครงเดิม เพื่อหาโซลูชันใหม่จากบริบทใหม่นั่นเอง 

 

“ความท้าทายของอนาคตที่แท้จริงมันแฝงอยู่ใน The Unknown Unknown นั่นคือสิ่งที่เราเองก็ไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร แต่มันสำคัญมากในมิติการศึกษา เพราะการบ่มเพาะคนหนึ่งคนในระบบการศึกษายาวนานเกือบ 20 ปี รูปแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์แล้ว และเราจะเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนอย่างไร เพื่อรองรับงานในอนาคตที่แม้แต่ตัวเราเองก็ยังไม่รู้เลยว่ามันจะหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าดีที่สุดคือต้องพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติ Future-Proof หรือคนที่สามารถยืนหยัด ปรับตัว และเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตได้ แม้ว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม”  

 

ผศ.ดร.กัลยา อธิบายถึงคนที่มีคุณสมบัติแบบ Future-Proof นั้นต้องเป็นคนที่เปิดรับเทคโนโลยี กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ (Embrace Technology) สิ่งต่อมาคือความสามารถในการจัดการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งครอบคลุมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับเทคโนโลยี และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (Optimize Human Interaction) ถัดไปคือความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล (Personalize Content) เพื่อสร้างการทำความเข้าใจข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงได้ ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และสุดท้ายคือความสามารถในการเข้าถึงผู้คน (Reach More People) จะสร้างโอกาสให้กับความสำเร็จ

 

“อีกหนึ่งองค์ความรู้สำคัญและจำเป็นในการขับเคลื่อนอนาคตคือ ทักษะในการเข้าใจคนอย่างลึกซึ้ง หรือ Empathy เป็นมิติที่เรารู้สึกได้เลยว่าเขารู้สึกอย่างไร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน โดยเฉพาะปัญหาที่มีคนเข้ามามีบทบาทสำคัญ และจริงๆ แล้ว Empathy เป็นทักษะสำคัญของนักออกแบบ” 

 

ผศ.ดร.กัลยา ยังเพิ่มเติม ‘การพัฒนาทักษะกระบวนการคิดแบบ Think the Unthinkable’ เป็นการคิดในสิ่งที่คาดไม่ถึง ซึ่งสามารถพัฒนาได้ง่ายๆ โดยใช้องค์ความรู้จาก Design Thinking หรือการคิดเชิงออกแบบ อย่างการฝึกตั้งคำถาม What if…? หรือจะเป็นอย่างไรถ้า… เช่น จะเป็นอย่างไรถ้าในอีก 10 ปีข้างหน้าไม่มีมหาวิทยาลัยแล้ว 

 


ปรับตัวนำความเปลี่ยนแปลง 

ปัจจุบันคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองเดินหน้าเข้าสู่ขวบปีที่ 24 แม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่จากนี้จะเป็นการปรับตัวนำความเปลี่ยนแปลงด้วยการคาดการณ์อนาคต วางแผนที่มีความยืดหยุ่น มอนิเตอร์สถานการณ์และแนวโน้มอนาคต เพื่อให้อยู่รอดไม่ว่าอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม 

 

Academic Foresight เป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงการปรับตัวนำความเปลี่ยนแปลงได้ดีของคณะ เพราะเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มและแรงขับเคลื่อนในอนาคต จนพบ 3 Future Trend ที่ส่งผลต่อทิศทางการศึกษาแห่งอนาคตโลก ได้แก่  

 

 

‘Well-Being and Quality of Life’ หรือสุขภาวะและคุณภาพชีวิต สอดคล้องไปกับวิชาชีพในเรื่องของการออกแบบและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง จึงเป็นบทบาทและหน้าที่โดยตรงในการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ดีที่นำไปสู่สุขภาวะและคุณภาพชีวิตสำหรับทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสเกลเล็กที่สุดอย่างที่อยู่อาศัย ไปจนถึงสเกลใหญ่อย่างชุมชนและเมือง

 

รศ.ดร.ดารณี จารีมิตร รองคณบดีฝ่ายบริหารองค์กร อธิบายถึงความจำเป็นของการออกแบบที่นำไปสู่สุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีว่า “เทรนด์รักสุขภาพในปัจจุบันมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ครอบครัวที่แต่งงานไม่ต้องการอยากมีลูก คนกลุ่มนี้เริ่มมองหาที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่รองรับการใช้ชีวิตที่ทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง พึ่งพาตัวเองได้เมื่ออายุมากขึ้น อีกทั้งการเติบโตของเมืองก็เป็นปัจจัยที่ทำให้รูปแบบที่พักอาศัยเปลี่ยนไป การอยู่อาศัยมีความแออัดมากขึ้น 

 

และที่มองข้ามไม่ได้คือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ทำให้เกิดโรคระบาดและปัญหาอุทกภัยต่างๆ ทำให้คนต้องการที่พักอาศัยที่ดีกว่าเดิม จากที่เราสามารถเปิดประตูหน้าต่างรับลมธรรมชาติเพื่อสร้างความสบายได้ แต่เมื่ออยู่คอนโดหรือห้องพักที่มีหน้าต่างเพียงด้านเดียวก็ทำได้ค่อนข้างยาก การเดินทางที่เสี่ยงสัมผัสฝุ่นจากการจราจรบนท้องถนน หรือการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมในฤดูฝน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของคนเมือง ซึ่งเป็นความท้าทายของสถาปนิกและนักออกแบบเมืองที่จะออกแบบอาคารและสภาพแวดล้อมเมืองภายใต้ข้อจำกัดทั้งหมดนี้อย่างไร ปัจจุบันเจ้าของอาคารหลายแห่งในประเทศไทยได้เริ่มนำมาตรฐานด้านสุขภาวะ ได้แก่ Well Building Standard Fitwel และเกณฑ์มาตรฐานอาคารเป็นสุข มาใช้ในการออกแบบอาคารเพิ่มขึ้น” 

 

รศ.ดร.ดารณี เล่าเพิ่มเติมว่า การออกแบบที่จะนำไปสู่สุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีอาจต้องยึดโยงกับแนวคิด 3 สุข คือ 

 

  1. สุขกาย ด้วยการออกแบบพื้นที่ส่งเสริมให้เคลื่อนไหว ทำให้คนมีร่างกายแข็งแรง เช่น ทำให้คนเดินมากขึ้นผ่านกิจกรรม เพื่อให้คนสนุกและเพลิดเพลินกับการเดิน
  2. สุขใจ การออกแบบให้ได้รับแสงธรรมชาติที่เพียงพอหรือสร้างพื้นที่ให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ก็ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพจิตที่ดี หรือการสร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น
  3. สุขกิน การนำแนวคิดให้คนเมืองสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ โดยการทำ Urban Farming เกษตรในเมืองมาผสมผสานกับการออกแบบ 

 

“ข้อจำกัดของเมืองไทยที่ทำให้การออกแบบที่นำไปสู่สุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดียังทำได้ไม่เต็มที่คือสิ่งสำคัญเราต้องมีสถาปนิกที่มีองค์ความรู้เหล่านี้ก่อน ตอนนี้ในประเทศไทยมีสถาปนิกที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จำนวนน้อย เพราะเป็นองค์ความรู้เชิงลึกต้องบูรณาการศาสตร์ด้านการออกแบบ สาธารณสุข และพฤติกรรม ที่สำคัญการออกแบบเพื่อสุขภาวะส่วนใหญ่มักมีต้นทุนการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ถ้าเจ้าของอาคารไม่เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว งานออกแบบก็เกิดขึ้นได้ยาก”

 

 

เทรนด์ต่อมาคือ ‘Digital Solution and Integration’ เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและพลิกโฉมการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน โดยมีการระบาดของโควิดเป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมของผู้บริโภคปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล ค่าเฉลี่ยทั่วโลกเร็วกว่าปกติ 3 และ 4 ปี สำหรับเอเชียแปซิฟิก 

 

ผศ.พฤฒิพร ลพเกิด ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีเพื่อการออกแบบ ขยายความถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและการบูรณาการ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแกนหลักขับเคลื่อนทิศทางการศึกษาในอนาคตว่า “สถานการณ์โควิดเป็นตัวชี้ชัดว่าเกิด Digital Disruption ภาคการศึกษาเห็นได้ชัดว่ารูปแบบของดิจิทัลเข้ามามีบทบาทการสอนอย่างไร จุดไหนดีและจุดไหนควรพัฒนา ส่วนด้านการเรียนรู้มันมี Knowledge และ Know How มากมายบนโลกออนไลน์ที่ทุกคนเรียนอะไรที่ไหนก็ได้ แต่ที่ยังต้องมีหลักสูตรในสถาบันการศึกษาอยู่ เพื่อจะได้ร้อยเรียงข้อมูลมากมายให้เกิดประโยชน์ หรือถ้าอยากทำสายอาชีพนี้เขาจะต้องร้อยเรียงชุดข้อมูลอะไรบ้าง สถาบันการศึกษาจึงยังจำเป็น แต่จะถูกขยายความออกไป” 

 

เพื่อให้มองเห็นภาพเดียวกัน ผศ.พฤฒิพรยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์งานออกแบบที่คณะกำลังผลักดันในตอนนี้ถูกนำมาใช้ในทุกกระบวนการของสถาปัตยกรรมตั้งแต่กระบวนการคิด ออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการอาคาร เช่น การใช้โดรนเข้าไปเก็บข้อมูลในไซต์งาน หรือการนำ Digital Twin สร้างอาคารจริงกับอาคารเสมือน เพื่อจัดการดูแลและตรวจสอบอาคาร 

 

“สำหรับหลักสูตรของคณะค่อนข้างยืดหยุ่น เนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็ว เมื่อมันมาต้องใช้ให้เต็มที่ ถึงเวลามันเปลี่ยนเราก็ปรับหลักสูตร แต่ยังคงคอนเซปต์ของการบูรณาการเทคโนโลยี เช่น เรานำเทคโนโลยี Computing เข้าไปปรับเปลี่ยนเปลือกอาคารหรือช่องเปลือกตามทิศทางของแสง หรือตามอัตลักษณ์ของพื้นที่ แม้กระทั่งการซ้อนข้อมูลระหว่างอาคารจริงๆ กับข้อมูลที่เป็นดิจิทัล เพื่อดูว่าอาคารนี้มีการใช้พลังงานแบบไหน” 

 

แม้จะเป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่สถาบันหรือหน่วยงานไหนก็นำไปปรับใช้ได้ แต่สิ่งที่ทำให้คณะสถาปัตย์ฯ แตกต่าง ผศ.พฤฒิพรมองว่า บุคลากรของสถาบันมีวิสัยทัศน์เดียวกัน ทุกคนพร้อมปรับเปลี่ยน ปรับไปตามการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีการ Upskill-Reskill เสมอ 

 

“สำคัญที่สุดคือการบูรณาการ คณะสถาปัตย์ฯ เรามี 5 สาขาวิชา และอีก 2 พาร์ตที่เป็นอินเตอร์ เราสามารถที่จะผสมผสานความรู้ร่วมกันได้ และเน้นการทำโปรเจกต์ให้เด็กได้ทดลองทำจริง เด็กต่างคณะก็จะเบลนด์ความรู้ระหว่างกัน

 

“จริงๆ แล้วการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการการเรียนการสอนในระบบการศึกษามีมานานแล้ว แต่ที่ยังไม่สามารถไปได้เร็ว นอกจากเรื่องงบประมาณการจัดซื้อเครื่องมือ ยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะขับเคลื่อนมัน แม้กระทั่งหลักสูตรไม่รองรับ ดังนั้นถ้าต้องการให้การบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบการศึกษาเกิดขึ้นจริงและไปได้เร็วต้องปรับทั้งระบบ และมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานควรนำความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เกิดความหลากหลายของการเรียนรู้ สุดท้ายคือการให้คุณค่าความคิดของคนรุ่นใหม่ ต้องเลิกตีมูลค่าจากสถาบันที่เด็กจบมา ต้องสร้างมาตรฐานจากคุณภาพไม่ใช่จากสถาบัน”  

 

 

เทรนด์สุดท้ายคือ ‘Circular Value and Sustainability’ คุณค่าหมุนเวียนและความยั่งยืน ในแวดวงด้านการออกแบบให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ยุค 60 มีการขับเคลื่อนผ่านรูปแบบการออกแบบต่างๆ เช่น Eco Design หรือ Green Design ปัจจุบันเกิดแรงกระเพื่อมจากผลลัพธ์ที่ตอนนี้มนุษย์เพิกเฉยไม่ได้แล้ว ต้องจริงจัง ต้องลงมือทำ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนจิตสำนึก แต่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม 

 

“จริงๆ แล้วการสร้างคุณค่าหมุนเวียนและความยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบของทุกคน เพราะเราต้องพึ่งพาโลกและทรัพยากรโลกในการใช้ชีวิต แล้วทำไมเด็กรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้เรื่องนี้ ก็เพราะในอนาคตพวกเขาคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลกใบนี้” 

 

ส่วนประเด็นที่ว่าแล้วการออกแบบมีบทบาทอย่างไรกับเรื่องของการสร้างคุณค่าหมุนเวียนและความยั่งยืน ผศ.ดร.กัลยา บอกว่า “ปัจจุบันงานออกแบบต้องให้ความสำคัญกับผู้ใช้งาน ตอบโจทย์สังคม รวมทั้งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นักออกแบบจึงต้องมีบทบาทร่วมกำหนดโจทย์และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายไปพร้อมๆ ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ความท้าทายใหม่ๆ ในโลกของการออกแบบ โดยเฉพาะประเด็นการคุณค่าหมุนเวียนและความยั่งยืน เช่น ออกแบบบ้านจะทำอย่างไรให้ประหยัดพลังงานได้มากที่สุด ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ กระบวนการก่อสร้าง จนกระทั่งส่งมอบสู่ผู้ใช้งาน ใช้ทรัพยากรที่ตอบโจทย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการออกแบบกิจกรรมที่จะเกิดในพื้นที่นั้นๆ ให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด” 

 

ตอนนี้ทางคณะมีหลักสูตรนำร่องที่ให้ความสำคัญกับ ‘Circular Value & Sustainability’ เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เราเชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการอสังหาฯ ใส่ใจและให้ความสำคัญกับคุณค่าหมุนเวียนและการออกแบบที่ยั่งยืน มันจะสะท้อนผ่านการออกแบบที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นออกแบบอย่างไรให้ประหยัดพลังงาน หรือการบริหารการก่อสร้างให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้ทรัพยากร ลดของเสียจากการก่อสร้าง ลดมลพิษให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น หลักสูตรโครงการพัฒนาหมู่บ้านจัดสรรอย่างยั่งยืนของ รศ.ดร.กองกูณฑ์ โตชัยวัฒน์ หรือหลักสูตรเกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนแนวทาง Low Carbon เป็นต้น

 

 

รูปแบบกิจกรรม หลักสูตร และเครื่องมือที่รองรับโลกการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับ ‘การเรียนรู้’ มากกว่า ‘การศึกษา’
นอกจากรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือปฏิบัติซึ่งเป็นอัตลักษณ์สำคัญของคณะ ยังมุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมผ่านการทำงานจริง โดยผู้เรียนสามารถลงมือทำงานจริงและเก็บชั่วโมงการเรียนรู้เหล่านั้นแปลงเป็นหน่วยกิตได้ สอดคล้องกับแนวโน้มการศึกษาในอนาคตที่ผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองและการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ 

 

ผศ.ดร.กัลยา บอกว่า โลกที่ท้าทายต้องการทักษะใหม่ๆ และทักษะเหล่านี้ต้องไปสู่ผู้เรียนอย่างรวดเร็ว การศึกษาในระบบจึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป นั่นทำให้ LifeLong Learning และ Non-Degree Program เข้ามามีบทบาท

 

“คณะได้จัดตั้ง Thammasat Design Center (TDC) องค์กรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของ LifeLong Learning และ Non-Degree Program ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว นอกจากนั้นยังได้จัดตั้ง Frontier Academy เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้เชิงลึกจากการวิจัยเข้ากับองค์ความรู้ที่เป็นทักษะจากประสบการณ์ของภาคอุตสาหกรรม เกิดเป็นองค์ความรู้ที่เรียกว่า ‘บุกเบิกพรมแดนแห่งความรู้ใหม่’ ซึ่งจุดแข็งของ Frontier Academy คือเป็นหลักสูตร LifeLong Learning เน้นสอนสดไม่ว่าจะ Online หรือ Offline และเน้นการสอนแบบผู้เรียนเจอตัวผู้สอนจริง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนี้ยังเน้นการเรียนรู้ที่ผ่านการปฏิบัติด้วยองค์ความรู้เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาค Academic และ Industry ผสานพลังกัน” 

 

ตัวอย่างหลักสูตรของ TDC และ  Frontier Academy จะเน้นไปที่องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อความท้าทายของอนาคต และเราเป็นที่แรกที่บุกเบิกหลักสูตรใหม่ๆ ในประเทศไทย เช่น หลักสูตร User Experience Design การออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน, Design for Behavioral Change การออกแบบที่ตอบรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้คนหรือผู้ใช้งาน, Gamification Design การใช้เกมเป็นกลยุทธ์ในการออกแบบการทำงานและการแก้ไขปัญหา หรือ Foresight & Transformative Scenario Planning การคาดการณ์อนาคตและวางแผนชุดภาพอนาคตเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือหลักสูตรทั่วไป เช่น Service Design และ Design Thinking ก็การันตีได้ว่าเป็นที่แรกของประเทศที่สอนโดยนักออกแบบจากโรงเรียนออกแบบจริงๆ และทั้งหมดนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจลงเรียนได้ รวมถึงนักศึกษาจากคณะอื่นๆ ด้วย 

 

อีกหนึ่งส่วนที่เข้ามาเสริมการเรียนรู้นอกตำราคือการจัดกิจกรรม Summer School ที่จัดร่วมกับ WHO Techne และ KU Leuven ในปี 2022 ภายใต้ธีม Design and Health ดร.ดารณี บอกว่า กิจกรรมนี้ทดลองจัดเป็นปีแรก เนื่องจากมองเห็นปัญหาโรคระบาด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักออกแบบพยายามหาแนวทางแก้ปัญหา นำไปสู่การจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป 2 สัปดาห์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้าร่วม  

 

“นักศึกษาที่เข้าร่วมจะได้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การออกแบบและหลักเกณฑ์ด้านสาธารณสุขเรื่องการป้องกันโรค แล้วจึงพานักศึกษาไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชน โดยให้เขาเลือกพื้นที่ศึกษาด้วยตัวเอง จากนั้นจะให้เขานำองค์ความรู้มาออกแบบและเสนอแนวทางแก้ปัญหา”

  

 

ฟากของมิติการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาบูรณาการ ทางคณะยังได้มีการจัดตั้ง Robotic Lab and Material Bank ขึ้น ผศ.พฤฒิพรเล่าว่า เดิมทีคณะมีการจัดตั้ง Creative Lab for Innovative/Conceptual Knowledge (CLICK) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมเครื่องมือสำหรับนักศึกษาที่ต้องการสร้างต้นแบบหรือนำไอเดียมาสร้างให้เป็นรูปธรรมสามารถเข้ามาใช้ได้ฟรี เช่น Laser Cutter, 3D Printer หรือ Laser Scanner 

 

จนกระทั่ง Robotic เข้ามามีบทบาทในภาคการศึกษา อีกทั้งแนวคิดของคณะคือการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมยั่งยืน จึงจัดตั้ง Robotic Lab & Material Bank ขึ้น เพื่อให้นักศึกษารู้คอนเซปต์และวิธีการใช้เครื่องมือ Robotic และสามารถเข้าถึงวัสดุต่างๆ ผศ.พฤฒิพรบอกว่า น่าจะเป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทยตอนนี้ที่ครบวงจรที่สุด

 

“ยิ่งตอนนี้เทรนด์ Upcycle เข้ามามีบทบาทในการออกแบบ ทำอย่างไรให้แมตทีเรียลเดิมสามารถเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนฟังก์ชัน เรามีการจัดเวิร์กช็อปและพื้นที่ให้นักศึกษานำวัสดุมาทดลองทำจริง มีเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ รองรับ เป้าหมายเราต้องการให้แล็บนี้เป็นประโยชน์ต่อคน 3 กลุ่ม คือ นักศึกษา, ศิษย์เก่าหรือคนที่ต้องการ Upskill- Reskill และกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เขาเห็นภาพชัดเจนว่าตัวเองจะวางแผนชีวิตอย่างไร” 

 



ทั้งหมดนี้คือแนวทางการวางผัง ‘ทิศทางการศึกษาแห่งโลกอนาคต’ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองที่อาจารย์ทั้ง 3 ท่านบอกว่า อาจจะถูกต้องในวันนี้ แต่ปีหน้าอาจต้องปรับ

 

เพราะอย่าลืมว่า ความท้าทายของอนาคตที่แท้จริงแฝงอยู่ใน The Unknown Unknown นั่นคือสิ่งที่เราเองก็ไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร ถ้าอยากเตรียมความพร้อมให้ทันการเปลี่ยนแปลง อาจต้องเริ่มจากการสร้างคุณสมบัติแบบ Future-Proof เพื่อให้ตัวเองสามารถยืนหยัด ปรับตัว และเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตได้ แม้ว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ตอนนี้เลย 

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X