ภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ (10 พฤศจิกายน) ดัชนี SET เปิดการซื้อขายที่ 1,613.03 จุด ลดลง 9.42 จุด หรือ 0.58% โดยในช่วงเริ่มต้นการซื้อปรับตัวลงไปจุดต่ำสุดที่ 1,611.17 จุด หลังจากนั้นดัชนีเริ่มทยอยรีบาวด์ฟื้นตัวขึ้นพลิกกลับ ปิดการซื้อขายครึ่งวันเช้าที่ 1,622.95 เพิ่มขึ้น 0.50 จุด หรือ 0.03% มูลค่าซื้อขายรวม 33,736.95 ล้านบาท
หุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
PTTEP มูลค่า 1,949.65 ล้านบาท ปิดที่ 190 บาท ลดลง 3 บาท (-1.55%)
PTTมูลค่า 1,803.37 ล้านบาท ปิดที่ 34.50 บาท ลดลง 0.50 บาท (-1.43%)
BANPU มูลค่า 1,222.90 ล้านบาท ปิดที่ 12.50 บาท ลดลง 0.10 (-0.79%)
THG มูลค่า 1,099.94 ล้านบาท ปิดที่ 74 บาท ลดลง 1.75 (-2.31%)
BH มูลค่า 949.57 ล้านบาท ปิดที่ 232 บาท เพิ่มขึ้น (+3.57%)
เบญจพล สุทธิ์วนิช รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ที่ปรับตัวลดลงแรงในช่วงเริ่มต้นการซื้อขายเป็นการปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ จึงเกิดแรงขายของนักลงทุนออกมา เพราะยังกังวลในประเด็นเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเกิดภาวะถดถอย กับปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระดับสูง
รวมถึงนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดตัวเลขเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (Dollar Index) ให้มีความผันผวนด้วย ดังนั้นในระยะสั้นจึงส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ให้มีความผันผวน ซึ่งตลาดหุ้นไทยที่มีสัดส่วนหุ้นกลุ่มนี้ในตลาดที่สูงจึงโดนผลกระทบไปด้วย
อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มพลังงานของไทย รวมถึงมูลค่าตลาดหุ้นไทยยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงถูกขายทำกำไรออกมาจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศและรายย่อย ดังนั้นระยะสั้นปัจจัยดังกล่าวนี้อาจกดดันให้เห็นตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวที่มีความผันผวนในกรอบดัชนีระหว่าง 1,590 จุด กับระดับ 1,640 จุด ซึ่งเป็นตัวเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2565 ที่บริษัทประเมินไว้
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าความเสี่ยงทางลง (Downside Risk) ของหุ้นไทยมีไม่มาก เนื่องจากคาดว่ากระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ยังมีโอกาสซื้อสุทธิในหุ้นไทยต่อเนื่อง หลังจากนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ถึงปัจจุบันพลิกกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยแล้วราว 1.77 แสนล้านบาท จากปี 2564 ที่ขายสุทธิไปแล้ว 4.86 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโอกาสได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยที่เติบโตได้ดี ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินว่ามีโอกาสฟิ้นตัวเติบโตได้ต่อเนื่องจากปี 2564 มี EPS ที่ 91.98 บาทต่อหุ้น โดยในปี 2565 จะมี EPS ที่ 95 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 3.3% จากปีก่อน และในปี 2566 จะมี EPS ที่ 105 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นถึง 10.5 % จากปีนี้ ถือว่าเป็นการเติบโตที่น่าสนใจ
เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวค่อนข้างดีมาก หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มมีแนวโน้มคลี่คลาย ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยมากขึ้น ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาประเมินว่า GDP ของไทยในปี 2565 จะขยายตัว 3.2% และขยายตัวต่อเนื่องดีขึ้นอีกเป็น 3.8% ในปี 2566
อีกทั้งประเมินว่าในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2565 คาดนักลงทุนสถาบันในประเทศมีโอกาสกลับมาทยอยซื้อหุ้นไทย เพราะปัจจุบันถือเงินสดในมือไว้จำนวนมาก โดยจากข้อมูลสถิติในปี 2564 พบว่าขายสุทธิหุ้นไทยไป 7.73 หมื่นล้านบาท และจากต้นปีนี้ถึงล่าสุดปัจจุบันขายสุทธิหุ้นไทยไปมากถึง 1.51 แสนล้านล้านบาท
ด้านกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเชีย เวลท์ แนะนำให้ขายทำกำไรลดน้ำหนักพอร์ตหุ้นลงเหลือ 40% จากเดิมที่แนะนำถือ 45% เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนจากความกังวลที่เศรษฐกิจโลกจะถอดถอยใน 2566 และผลกระทบจากการดำเนินนโนบายดอกเบี้ยของ Fed
อีกทั้งแนะนำ Selective Buy หุ้นกลุ่ม Defensive Stock ได้แก่ BDMS, BH และ BEM รวมถึงหุ้นได้ประโยชน์จากธีมเปิดเมือง ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว ได้แก่ AOT, BAFS, ERW และ CENTEL
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำความรู้จัก 7 หุ้น IPO น้องใหม่ เตรียมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ
- อัปเดต 7 หุ้น พอร์ต เซียนฮง สถาพร งามเรืองพงศ์ มูลค่า 6.14 พันล้านบาท
- 10 หุ้น ขึ้น XD จ่ายเงินปันผลสูงสุดในรอบเดือน ก.ย. 65