วานนี้ (3 พฤศจิกายน) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทรงเปิดงานเปิดตัว ‘หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 3’ (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023) ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานผ้าไทยและเทรนด์แฟชั่นระดับโลก เพื่อเสนอแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า เป็นประโยชน์ต่อนักออกแบบ ช่างผ้า ชุมชน และผู้ประกอบอาชีพทุกสาขา และเสวนาวิชาการ ‘การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2565’ ที่ทรงมีพระดำริให้จัดทำขึ้น และทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (Editor in Chief) ด้วยพระองค์เอง ต่อเนื่องมาถึงเล่มล่าสุด นับเป็นเล่มที่ 3 จัดโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
โดยมี อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, พาสินี ลิ่มอติบูลย์ ผู้บริหาร บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ตลอดจนข้าราชการ ผู้ประกอบการด้านผ้าไทย นิสิตนักศึกษา เฝ้ารับเสด็จ ณ ICON Art and Cultural Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม
โอกาสนี้ ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยด้วยความสนพระทัย แล้วพระราชทานหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยฯ ให้แก่คณะผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้น ทรงบรรยายในหัวข้อ ‘การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล’ ความตอนหนึ่งว่า เล่มที่ 3 เป็นอะไรที่สนุกสนานสีสันสดใสอย่างหัวข้อวัฒนธรรมเคลื่อนคล้อยเป็นเรื่องวัฒนธรรมจากพื้นที่ต่างๆ มารวมในที่เดียวกัน
อย่างไฮไลต์ของเล่มนี้คือ ผ้าบาติกมาจากมลายู และผ้าขาวม้ามาจากเปอร์เซีย ผ้าบาติก หรือปาเต๊ะ ในภาคใต้ของประเทศไทย หรือบางท่านเรียกว่าโสร่ง มีรากศัพท์มาจากภาษาอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในไฮไลต์ซีซันนี้ เกิดขึ้นจากในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ชวา อินโดนีเซีย พระองค์ทรงเป็นนักสะสม ได้เห็นการทำผ้าบาติก พระองค์จึงทรงสั่งทำ และทรงตีทะเบียนเองว่าผ้าชิ้นนี้มาจากที่ไหน ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ (พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง) ต้นฉบับผ้าไม่มีในอินโดนีเซียแล้ว เพราะโรงงานไม่มีแล้ว แต่โชคดีที่ยังอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ การเดินทางของผ้าผืนบาติกในไทยมีอยู่ทุกภาค แต่ที่คนรู้จักมากที่สุดในภาคใต้
ส่วนผ้าขาวม้า หรือกะมัรบันด์ รากศัพท์มาจากเปอร์เซีย (Kamarband) คือผ้าผูกเอวในบ้านเรา เหมือนเป็นผ้าที่ใช้ได้ทุกโอกาส ห่มเลี้ยงลูก ทำเปล คลุมเข้าห้องน้ำ พันผม เป็นผ้าที่เอนกประสงค์ ใช้ตั้งแต่กำเนิดจนวายชนม์
“ท่านหญิงอยากเห็นน้องๆ รุ่นใหม่ชาเลนจ์ตัวเอง เอาผ้าขาวม้ามาทำเครื่องประดับหรือของใช้ในบ้านว่าจะทำได้ขนาดไหน”
“อยากแนะนำผ้าบาติก ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก ผ้าพิมพ์ลายธรรมชาติ โดยมีวัสดุแห่งฤดูกาล อย่างผ้าฝ้ายเขียนมือเส้นเล็ก ไหมน้อย ใบกัญชง เส้นใยรีไซเคิล อย่างในส่วนเส้นใยรีไซเคิลเป็นเทรนด์กำลังมาแฟชั่นระดับโลก คนเริ่มใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เคยไปสัมผัสผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลมาที่อิตาลี ผิวสัมผัสนุ่ม สาก กระด้างหน่อยๆ ด้วยวิธีการทอแน่นกำลังดี ส่วนในไทยเป็นเรื่องใหม่ ต้องใช้เวลาพัฒนา แต่คิดว่าทำได้ อยากให้ลอง
“เทรนด์บุ๊กเล่มที่ 1 และ 2 ยังใช้ได้ เล่ม 3 ก็ใช้ได้ ทุกอันย่อยมาให้หมดแล้ว ท่านหญิงอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้เมดอินไทยแลนด์ ใช้ได้กับนักเรียนนักศึกษาเป็นตำราเรียนที่ใช้ได้เท่าเทียมกัน ตำราไทยที่เทียบเท่าราคาฝรั่งที่ราคาสูงเหลือเกิน ทุกคนสามารถไปอ้างอิงได้ในการทำมาอาชีพของทุกท่าน ขอให้ใช้ให้ถูก เมื่อใช้ให้ถูกจะไปได้ดี ขอให้ทำความเข้าใจ
“ท่านหญิงเชื่อเหลือเกินว่าจะเป็นองค์ความรู้ที่ผู้ประกอบการรอคอย จะทำมาอาชีพได้เป็นกอบเป็นกำ พวกเราที่เป็นนักวิชาการจะย่อยให้ทุกคนได้ต่อยอดต่อไป ครูอาจารย์ต้องสอนและให้โอกาสเด็กได้อ่านและทำ หนังสือเล่มนี้ต้องลงมือทำ เชื่อเหลือเกินว่าอาชีพนี้จะทำให้ประเทศไทยเจริญด้วยมือของเรา ขอฝากหนังสือเล่มนี้และใช้ให้มีประโยชน์ที่สุด”
ในช่วงท้ายของการบรรยาย คณะผู้จัดงานได้ฉายภาพเบื้องหลังของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงงานการทำหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 3 อย่างตั้งพระทัย โอกาสนี้ ทรงบรรยายภาพเบื้องหลังนี้ความตอนหนึ่งว่า
“เราเป็นคนแอ็กชัน แต่ไม่ค่อยพูด รูปเหล่านี้คือการบอกตัวเราที่ทำงานนะ ไม่ว่าอยู่ที่บ้าน ทำงานต่างประเทศ ซึ่งที่ชอบมากคือทำงานด้วยมือ ถ่ายรูป จดบันทึก นี่คือที่มาแรงบันดาลใจของท่านหญิง ที่อยากพระราชทานคนทำสายอาชีพนี้ ความขยันของเราสามารถทำให้คนอื่นได้ เป็นตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นได้ ขอบคุณค่ะ”
ด้วยทรงตั้งพระทัยที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและคนในครอบครัว ควบคู่ไปกับการถนอมรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022 เล่มแรกขึ้น โดยทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (Editor in Chief) ด้วยพระองค์เอง ต่อเนื่องมาถึงเล่มล่าสุด Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023 เป็นเล่มที่ 3
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดทำหนังสือ Thai Textiles Trend Book เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานผ้าไทยและเทรนด์แฟชั่นระดับโลก เพื่อเสนอแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักออกแบบ ช่างทอผ้า ชุมชน และผู้ประกอบอาชีพทุกสาขา โดยหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023 เล่มล่าสุด นำเสนอแนวคิด ‘วัฒนธรรมอันเคลื่อนคล้อย’ (Moving Culture) การเคลื่อนที่ทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนเอกลักษณ์ของแต่ละถิ่นฐานบนผืนผ้า ซึ่งได้แรงบันดาลใจของบรรยากาศฤดูร้อนของไทย โดยทำการศึกษาควบคู่ไปกับงานภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์ สะท้อนแนวคิดผ้าไทยหลายชนิดที่มีที่มาจากวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของวัฒนธรรมที่ไม่ตายตัว แต่มีการปรับตัวและแลกเปลี่ยนของอัตลักษณประจำถิ่นเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง โดยมีผ้าไทยประจำฤดูกาลนี้อย่าง ‘ผ้าขาวม้า’ และ ‘ผ้าบาติก’ เป็นตัวอย่างของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายใต้แนวคิด ‘วัฒนธรรมอันเคลื่อนคล้อย’ (Moving Culture) ยังมีการแตกย่อยออกเป็น 5 เทรนด์ ได้แก่ มิติแห่งความฝัน (Dream Catcher), ตัวตนข้ามวัฒนธรรม (Expressive Exotic), ความไม่สมบูรณ์ที่งอกงาม (Vibrant Variegations), อารยธรรมแห่งโลกใหม่ (Neo-Tribes) และ มหัศจรรยแห่งธรรมชาติ (Natural Extraction) ซึ่งแสดงถึง สีสัน รูปทรง รายละเอียด และวัสดุที่ช่วยพัฒนางานหัตถศิลป์ของไทยให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมร่วมสมัย ตลอดจนกระแสความยั่งยืนของโลก บอกเล่าวัฒนธรรมร่วมสมัยในมุมมองและมิติความหมายที่แตกต่างกันออกไป พร้อมกับการพัฒนาการเทคนิค วิธีการ และวัสดุสิ่งทอจากรูปแบบดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่นให้ยกระดับไปสู่มาตรฐานสากล
ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานการออกแบบลิมิเต็ดเอดิชันของแบรนด์ชั้นนำ เพื่อนำเสนอแนวคิดหลักและเทรนด์ทั้ง 5 ประจำฤดูกาลนี้ โดยเฉพาะโทนสีที่ใช้จะเน้นเฉดที่หลากหลายมากขึ้น และเป็นโทนสีที่แปลกแตกต่างออกไปจากเดิม เพื่อให้ศิลปิน นักออกแบบ ตลอดจนช่างทอผ้า ชุมชน สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายรูปแบบและมีมิติในการใช้สีมากขึ้น เริ่มจากแนวคิด วัฒนธรรมอันเคลื่อนคล้อย ที่นำเสนอโดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK และเทรนด์ทั้ง 5 ประกอบด้วย มิติแห่งความฝัน นำเสนอโดยแบรนด์ VINN PATARARIN และ WISHARAWISH ตัวตนข้ามวัฒนธรรม นำเสนอโดยแบรนด์ THEATRE และ KLOSET ความไม่สมบูรณ์ที่งอกงาม นำเสนอโดยแบรนด์ EK THONGPRASERT และ RENIM PROJECT อารยธรรมแห่งโลกใหม่ นำเสนอโดยแบรนด์ ISSUE และ ARCHIVE026 สุดท้าย มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ นำเสนอโดยแบรนด์ ASAVA และ TANDT
ขอเชิญทุกท่านร่วมชมนิทรรศการ และงานเปิดตัวหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 3 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023) และการเสวนาวิชาการ ‘การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2565’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2565 ณ ICON Art and Cultural Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม