โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เดินทางเข้าพบประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนในวันนี้ (4 พฤศจิกายน) ซึ่งถือเป็นผู้นำจากกลุ่ม G7 คนแรกที่เดินทางเยือนปักกิ่ง นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด อย่างไรก็ตาม ทริปการเดินทางเยือนครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเยอรมนี รวมถึงประเทศอื่นๆ ในยุโรปด้วย
โดยเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมรัฐบาลเยอรมนีได้อนุมัติให้บริษัท คอสโก (Cosco) ของจีน เข้าซื้อหุ้น 24.9% ของท่าเทียบเรือบรรทุกสินค้า 1 ใน 3 แห่งของท่าเรือฮัมบวร์ค (Hamburg) ซึ่งเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งภาคการเมืองของเยอรมนีเอง และพันธมิตรต่างชาติรวมถึงสหรัฐอเมริกา เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้จีนมีอิทธิพลอย่างมากต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเยอรมนี
แม้จะเผชิญกับแรงต้านอย่างหนัก แต่ผู้นำเยอรมนียังคงเดินหน้าผลักดันดีลดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ว่า ข้อตกลงที่เกิดขึ้นอาจเป็นเสมือน ‘ของขวัญ’ ให้กับสีจิ้นผิง ก่อนที่โชลซ์จะปรากฏตัวในจีน โดยเขาได้ตัดสินใจนำคณะผู้บริหารธุรกิจชาวเยอรมันไปร่วมในทริปการเดินทางครั้งนี้ด้วย ซึ่งเหมือนกับแนวปฏิบัติในยุคของอดีตผู้นำหญิง อังเกลา แมร์เคิล ที่เน้น ‘สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการค้า’ โดยเชื่อว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอาจส่งอิทธิพลไปถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศต่างๆ อย่างจีนและรัสเซีย ซึ่งการเดินทางเยือนของโชลซ์ได้ตอกย้ำว่า เขาต้องการที่จะแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อจีนมากขึ้นอีกระดับ
การเดินทางเยือนของโชลซ์โดนกระแสวิจารณ์จากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างมาก โดยเฉพาะพรรคกรีน ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อน อันนาเลนา แบร์บ็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากพรรคกรีน ได้กล่าวเตือนผู้นำเยอรมนีอย่างเปิดเผยว่า ที่เขาขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเคยสัญญาว่าจะปรับแก้นโยบายที่มีต่อจีนใหม่ โดยพรรคกรีนนั้นได้สนับสนุนให้ใช้แนวทางเข้มงวดต่อจีนมากขึ้นมานานแล้ว
ส่วน เฟลิกซ์ บานาซสาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคกรีน ก็ได้กล่าวเตือนว่า เยอรมนีควรเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต อย่างเช่นการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากเกินไป โดยระบุว่า “เราต้องทำให้เยอรมนีเป็นอิสระจากแต่ละประเทศให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศเหล่านี้เป็นรัฐที่ไม่ได้ยึดถือค่านิยมเดียวกันกับเรา”
แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่สามารถตัดทิ้งความเป็นจริงที่ว่า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี (แม้ตัวเลขการนำเข้าของเยอรมนีจะมากกว่าการส่งออกก็ตาม) โดยตำแหน่งงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในเยอรมนีนั้นเดิมพันอยู่กับความสัมพันธ์ที่มีต่อจีน ยกตัวอย่างเช่น Daimler ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ มียอดขายรถยนต์กว่า 1 ใน 3 ที่มาจากตลาดจีน ขณะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ธุรกิจสัญชาติเยอรมันก็เพิ่มการลงทุนในจีนมากกว่าที่เคยเป็นมา โดยบริษัทเคมีภัณฑ์ BASF เพิ่งเปิดโรงงานแห่งใหม่ทางตอนใต้ของจีน และคาดว่าจะลงทุน 1 หมื่นล้านยูโร (9.9 พันล้านดอลลาร์) ในจีนภายในสิ้นทศวรรษนี้
ก่อนหน้าการเดินทางเยือน ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งเยอรมนีชี้ว่า เยอรมนีพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนอย่างมาก และเตือนว่า Decoupling หรือการแยกเศรษฐกิจหรือห่วงโซ่การผลิตออกจากอีกประเทศหนึ่งอย่างสิ้นเชิง เพื่อลดการพึ่งพาประเทศนั้นๆ อาจกลายเป็นความผิดพลาดทั้งทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ก็เป็นได้
ขณะที่ประธานสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกล่าวว่า “คำแนะนำคือ อย่าทุบเครื่องลายครามจีนในขณะนี้”
ทั้งนี้ การเดินทางเยือนปักกิ่งของผู้นำเยอรมนีมีกำหนดระยะเวลาเพียงไม่ถึง 12 ชั่วโมง โดยโชลซ์กล่าวก่อนออกเดินทางว่า ทริปการเยือนครั้งนี้มีขึ้นเพราะเขาต้องการแสวงหาความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เป็นไปได้กับจีน เนื่องจาก “โลกต้องการจีน” เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดและปัญหาโลกรวน
“หากจีนเปลี่ยนไปแล้ว แนวปฏิบัติของเราที่มีต่อจีนก็ต้องเปลี่ยนตาม” โชลซ์กล่าว
ภาพ: Kay Nietfeld/picture alliance via Getty Images
อ้างอิง: