×

สำรวจปากคลองตลาดในวันวาเลนไทน์ ผู้ค้าบอกซบเซา สวนทางผลสำรวจที่ชี้ว่าเงินสะพัดเป็นประวัติการณ์

14.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins read
  • ปากคลองตลาดเช้าวันวาเลนไทน์นี้บรรยากาศคึกคัก แม้ผู้ขายจะบอกว่ารายได้ซบเซา แต่ผู้คนก็ยังมาเลือกซื้อดอกไม้กันอย่างหนาตา
  • ปีนี้มีการปรับลดราคาดอกไม้ลง ผู้ขายหวั่นภาพรวมเศรษฐกิจทำให้คนซื้อน้อย ขณะที่สภาพจริงกำลังซื้อของคนก็น้อยเช่นเดียวกัน
  • แต่ผลสำรวจจากหอการค้ากลับสะท้อนว่ากำลังซื้อปีนี้สูง เงินสะพัดวันวาเลนไทน์เป็นประวัติการณ์ แต่ที่แน่ๆ ความรักยังเป็นแรงผลักดันในการจับจ่ายอย่างชัดเจน

ถนนทุกสายมุ่งสู่ ‘ปากคลองตลาด’ พูดแบบนี้ไม่น่าจะผิดนัก เมื่อเข้าสู่ห้วงเวลาสำคัญอย่าง ‘วันวาเลนไทน์’ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี อันเป็นประเพณีที่ไทยถือเอาตามตะวันตก ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะการแสดงความรักคือความรู้สึกที่เป็นสากล ทุกชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ล้วนเข้าใจตรงกันว่าเมื่อถึงวันพิเศษก็อยากหาอะไรให้เป็นของขวัญแทนใจกัน

 

ผู้คนในเมืองกรุงและละแวกใกล้เคียงจึงหลั่งไหลมาที่ปากคลองตลาดในเช้าวันแห่งความรักอย่างไม่ขาดสาย โดยสื่อหลายสำนักเกาะติดมาก่อนหน้านี้ รวมถึงวันนี้ด้วย

 

THE STANDARD มุ่งหน้าไปปากคลองตลาดแต่เช้าเพื่อสำรวจบรรยากาศ ราคา ความรู้สึกของตลาดและถนนเส้นนี้ ซึ่งสะท้อนภาพสังคมได้หลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และแน่นอน มันบอกเราว่าที่นี่มี ‘ดอกไม้’ ที่พร้อมให้เลือกสรรส่งตรงถึงคนที่คุณรักในโอกาสพิเศษนี้

 

 

คนขาย-คนซื้อ เสียงสะท้อนจากปากคลองตลาด กำลังซื้อหด-ต้นทุนสูง

“เซ็ง…ไม่มีคนซื้อ คนมันไม่มีสตางค์จะมาซื้อ คนจนเยอะค่ะ” คือเสียงสะท้อนจาก โสภา แซ่เจี่ย เจ้าของร้านดอกไม้ที่ปากคลองตลาด ซึ่งเปิดร้านมาตั้งแต่เธอยังเป็นสาว จนปัจจุบันอายุย่างเข้าสู่รุ่นอาวุโสโอเคแล้ว

 

เสียงสะท้อนดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ค่อยตรงกับผู้ค้าบางรายในแง่ของบรรยากาศมากนัก เมื่อ ธนวัฒน์ อยู่ประไพ เจ้าของร้านดอกไม้อีกร้านในละแวกใกล้เคียงบอกกับ THE STANDARD ว่า “ก็คึกคักกว่าปกตินะครับ ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ปีที่แล้วจะดีกว่า ปีนี้จะไม่ค่อยดีเท่าไร”

 

 

ขณะที่เมื่อสอบถามถึงรายได้หรือต้นทุนจากการขายดอกไม้ในช่วงนี้ก็ได้รับคำตอบที่ดูไม่ต่างกันนักว่า “ต้นทุนก็สูงขึ้น แต่ราคาขายเราก็ขายได้เท่าเดิมหรือว่าถูกลง เพราะว่าคนค่อนข้างประหยัดขึ้น ไม่ค่อยซื้ออะไรพวกนี้”

 

พอจะเห็นสภาพที่ตรงกันสำหรับการขายดอกไม้เนื่องในเทศกาลวาเลนไทน์ที่ปากคลองตลาดได้ชัดเจนว่ากำลังซื้อดูจะลดลง ผู้ค้าแบกต้นทุนราคาที่สูง แต่ก็ต้องขายในราคาที่ผู้ซื้อพอจะรับได้ เพราะเข้าสู่โหมดประหยัด โหมดรายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย และนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากเสียงสะท้อนของผู้ค้าที่ผ่านมาแล้วทุกช่วงสมัยของภาวะเศรษฐกิจ

 

 

ฟ้าคราม แมสซีรี เธอมาเดินปากคลองตลาดเช้านี้พร้อมกับ ธนวัน ชินธนทัต เพื่อนสาวคู่หู คำถามแรกที่เราถามเธอคือทำไมเลือกซื้อดอกกุหลาบสีขาว คำตอบที่ได้ชัดเจนมากและแทบจะทันทีว่า “มันถูกดีค่ะ” ไม่ใช่คำตอบประเภทนิยามความหมายของกุหลาบขาวที่เรามักได้ยินกัน แต่สะท้อนถึงกำลังซื้อ เธอสำทับคำตอบนั้นมาพร้อมๆ กันต่อเนื่องว่า “ซื้อให้แฟนค่ะ ไม่ได้นึกถึงความหมายอะไร เห็นว่ามันถูกดี แล้วถ้าไม่ซื้อให้ก็จะงอนนิดหน่อย”

 

ด้านธนวันบอกว่าเธอไม่ได้มาซื้อดอกกุหลาบ แต่ต้องการจะมาซื้อดอกบัว เราแปลกใจเล็กน้อยว่าทำไมต้องเป็นดอกบัว “ก็มันแปลกดี ไม่เหมือนใคร และไม่แพงค่ะ จะเอากลับไปห่อเองด้วย” คำตอบนี้ยิ่งทำให้ทีมข่าวจับใจความปัญหาบางอย่างได้อยู่ในตัว และเป็นคำตอบผ่านผู้ซื้อที่กำลังเดินเลือกหาดอกไม้อยู่กลางปากคลองตลาดในวันนี้

 

 

สำรวจราคาดอกไม้ที่ปากคลองตลาด แพงบ้าง ถูกบ้าง แต่สั่งผ่าน LINE MAN กันเยอะ

จากการสำรวจของทีมข่าว เราพบว่าตลอดสองข้างทางของปากคลองตลาดเก่าที่บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าในเช้าวันวาเลนไทน์ ฝั่งด้านที่ติดกับ สน.พระราชวัง ซึ่งเป็นด้านเดียวที่สามารถเดินเลาะไปโรงเรียนสวนกุหลาบได้จะมีความคึกคักตั้งแต่เช้า ผิดกับอีกด้านที่เป็นตลาดผลไม้ มีร้านขายดอกไม้และดอกกุหลาบที่จัดสรรไว้สำหรับวาเลนไทน์เพียงร้านเดียว และดูจะเงียบเหงากว่าใคร

 

สำหรับราคาดอกไม้ เราเน้นสำรวจไปที่ดอกกุหลาบ เพราะจากการสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่ากุหลาบคือดอกไม้ยอดนิยมที่คู่รักมักซื้อเป็นของขวัญแทนใจกันเนื่องในวันวาเลนไทน์

 

 

เราพบว่าแต่ละร้านขายดอกกุหลาบทั้งปลีกและรวมช่อเป็นกุหลาบก้านยาวและก้านสั้นที่ตกแต่งด้วยการห่อให้ดูงดงามมากขึ้น สำหรับกุหลาบดอกเดี่ยวก็แล้วแต่ขนาด โดยราคามีตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป และไม่สามารถที่จะเลือกได้ เพราะผู้ค้าลดแลกแจกแถมด้วยการห่อดอกไม้ให้ฟรี เพราะฉะนั้นสิทธิ์ในการเลือกจึงต้องวัดดวงจากคนขายเองว่าดอกจะไม่ช้ำ กลีบจะไม่ร่วงมากนัก ซึ่งทีมข่าวสังเกตด้วยสายตาก็พบว่าสภาพโดยรวมดีและไม่ได้เอาเปรียบลูกค้ามากนักกับราคาที่ลดลง

 

 

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาจำหน่ายดอกกุหลาบที่ตลาดยอดพิมานและปากคลองตลาดวานนี้ ( 13 ก.พ.) พบว่าราคาดอกไม้ในช่วงนี้ถือว่าไม่ได้ปรับสูงขึ้นกว่าในช่วงเทศกาลปีก่อน โดยมีการนำเข้าสินค้าดอกกุหลาบจากเคนยาเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น ทดแทนดอกไม้จากประเทศจีน

 

จากการสำรวจพบว่ามีการลดจำนวนที่ขายลงมา และราคาก็มีการลดลงด้วย ในขณะที่ราคาดอกกุหลาบที่รับมาไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เช่น ดอกกุหลาบก้านยาวที่ปีที่แล้วอยู่ที่ราคาห่อละ 200 บาท ส่วนก้านสั้นห่อละ 150 บาท ลดลงเหลือก้านยาวห่อละ 250 บาท ก้านสั้นห่อละ 200 บาท และมีแบบช่อที่ราคาพุ่งไปสูงที่ 500-800 บาท ซึ่งน่าจะเป็นผลจากที่ผู้ขายเกรงว่ากำลังการซื้อจะลดลงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ และมาตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีนพอดี

 

 

ขณะที่เดินสำรวจอยู่นั้น เราพบว่ามีบริการสั่งซื้อสินค้าอย่าง LINE MAN จอดรอรับดอกไม้อยู่หลายคัน จึงเข้าไปสอบถามกับ กิตติพงษ์ พันธ์แก้ว ซึ่งกำลังรับดอกไม้มาเตรียมส่งอย่างขะมักเขม้น กิตติพงษ์บอกว่าการสั่งดอกไม้ผ่าน LINE MAN ที่ตนเองทำเป็นอาชีพหลักอยู่ตอนนี้มีการสั่งจองเข้ามาในวันนี้วันเดียวถึงหลักพัน ขณะที่ยังมีคนรอสั่งอีกมาก ส่วนคนขับก็จะกระจายอยู่ตามร้านดอกไม้แทบจะทั่วกรุงเทพฯ

 

“ผมรู้สึกดีมากที่ได้เป็นคนส่งดอกไม้ให้เขา ขนาดคนรับยังดีใจ ผมก็มีความสุขไปด้วย ปัจจุบันนี้อะไรก็สะดวกมากขึ้น คนสั่งผ่าน LINE MAN เยอะ ผมขับมาปีกว่า มีรายได้มากกว่าผู้จัดการธนาคารอีก” กิตติพงษ์กล่าว ส่วนค่าบริการก็ขึ้นอยู่กับ LINE MAN เป็นผู้กำหนด

 

 

ผลสำรวจสวนทาง คนใช้จ่ายวาเลนไทน์จนเงินสะพัดสูงเป็นประวัติการณ์

อย่างที่บอกว่าเมื่อดูจากสภาพจริง บรรยากาศก็ไม่ได้ดูซบเซา อาจจะเป็นเรื่องรายได้ รายจ่าย กำไรจากคนขาย-คนซื้อที่ดูจะยังเป็นปัญหาใหญ่

 

ขณะที่ ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้ที่สำรวจจาก 1,200 กลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2561 พบว่าการใช้จ่ายช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ปีนี้ คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 3,822.27 ล้านบาท สูงสุดนับตั้งแต่มีการสำรวจมา หรือเพิ่มขึ้น 3.10% จากปีก่อน เพราะราคาสินค้าที่แพงขึ้น ประกอบกับประชาชนเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น จึงใช้จ่ายมากขึ้น

 

 

นอกจากเงินสะพัดรวมจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้วยังพบว่าค่าใช้จ่ายเฉพาะการซื้อของให้คู่รักเฉลี่ยต่อคนยังสูงสุดด้วย โดยอยู่ที่ 1,490.35 บาทต่อคน จากในปี 2560 เฉลี่ยที่ 1,334.29 บาทต่อคน, ปี 2559 เฉลี่ย 1,227.67 บาทต่อคน, ปี 2558 เฉลี่ย 1,012.08 บาทต่อคน, ปี 2557 เฉลี่ย 996.24 บาทต่อคน

 

 

ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อเหลือเกินว่าความรักคือเหตุผลหนึ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ปากคลองตลาดในวันนี้ไม่ได้มีแต่เพียงดอกไม้ช่องามให้เลือกสรร หากแต่มีความรักที่เบ่งบานอยู่ตลอดสองข้างทางไปพร้อมๆ กันด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X