จากสถานการณ์ตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี หลังเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธหลายสิบลูก จนทำให้เกาหลีใต้ตอบโต้ ซึ่งทำให้บรรยากาศคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้นั้น วันนี้ (3 พฤศจิกายน) THE STANDARD ได้สัมภาษณ์ความเห็นจาก ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับมิติของความมั่นคงและการทหาร รวมถึงสถานการณ์ที่ร้อนระอุในภูมิภาค
-
มีความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า “การทดสอบ (ขีปนาวุธ) ระลอกใหม่นี้มีสัญญาณของความน่ากลัว เพราะว่าในรอบก่อนๆ ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าเกาหลีเหนือจะยิงขีปนาวุธไปตกทะเล คือใช้พื้นที่ส่วนนอกที่ไม่ได้กระทบกับญี่ปุ่นมาก ซึ่งถ้าเป็นทะเลก็อาจจะเป็นทะเลด้านเหนือของฮอกไกโด แต่ในรอบนี้เราเห็นการยิงขีปนาวุธผ่านญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเตือนให้ประชาชนอยู่ในบ้านหรือที่หลบภัยและติดตามข่าวสารจากรัฐบาลอย่างใกล้ชิด สัญญาณในลักษณะนี้เดิมทีจะมีไม่มากในญี่ปุ่น แต่ถ้าวันนี้ช่วงเช้าเราตื่นขึ้นมาที่ญี่ปุ่นแล้วเปิดโทรทัศน์ดู ผมคาดว่าคนญี่ปุ่นตกใจนะ นี่เป็นสัญญาณที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
“เพราะว่าในขณะที่เราเห็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนเมื่อช่วงต้นปี แล้วก็ยังไม่จบ ประกอบกับความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวันที่ดูเหมือนจะจบแต่ก็ยังไม่ได้จบลงทั้งหมด หลายฝ่ายจึงเฝ้าติดตามว่า จากยูเครนและช่องแคบไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุดความขัดแย้งในเวทีโลกไหม เท่ากับว่าวันนี้สถานการณ์ของเกาหลีได้ยกระดับขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง”
-
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในเวลานี้คืออะไร
“สิ่งที่น่ากังวลเวลาเราพูดถึงอาวุธนิวเคลียร์ ในลักษณะของการซ้อมรบคือ สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่าผู้นำของอีกฝ่ายหนึ่งคิดแค่ไหน อย่างไร เพราะมันไม่ใช่การทดลองยิงอาวุธตามปกติ อีกทั้งทุกฝ่ายทราบดีว่าการทดลองยิงอาวุธตามปกตินั้นมีขอบเขตด้านการทำลายอยู่ในระดับหนึ่ง
“แต่สิ่งที่ทุกคนไม่สามารถตอบได้เลย ไม่ต่างจากกรณีของยูเครนก็คือ ในยูเครนไม่มีใครเดาใจปูตินได้ ในกรณีนี้ก็ไม่มีใครเดาใจคิมจองอึนได้ว่าการทดลองจะหยุดเพียงแค่การทดลองในความหมายของ ‘การขู่’ หรือจะเป็นการทดลองที่จะขยายหรือยกระดับความขัดแย้ง”
-
กระบวนการเจรจาเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ยังเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ศ.ดร.สุรชาติ อธิบายว่า “สิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์เปิดไว้ ไม่ว่าจะเป็นซัมมิตที่สิงคโปร์ ต่อด้วยฮานอย และไปเจอกันอีกครั้งที่เขตปลอดทหารชายแดนเกาหลี เราจะสังเกตได้ว่าไม่มีเนื้อหาที่เป็นจริงเป็นจัง ไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น ถ้าเราสังเกตต่อจากใน 3 ซัมมิต แทบจะไม่เกิดอะไรขึ้นเลย เราไม่เห็นมาตรการสืบเนื่องว่าการพบปะนำไปสู่อะไร มากกว่าแค่ภาพถ่ายที่เกิดขึ้น
“เพราะฉะนั้นในวันนี้ ประเด็นเกี่ยวกับความพยายามในการจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือแทบจะเป็นประเด็นที่ไม่มีความหมาย เพราะในความเป็นจริงแล้วเกาหลีเหนือทดลองไม่หยุด ตอนนี้อาจจะต้องยอมรับว่าเกาหลีเหนือแทบจะเป็นรัฐนิวเคลียร์แล้ว ถ้าเราไม่นับรัฐมหาอำนาจ เราจะเห็นความเป็นรัฐนิวเคลียร์ในกรณีของอินเดียและปากีสถาน ในขณะที่กรณีของอิหร่านยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่าอยู่ในสถานะขนาดไหน ส่วนเกาหลีเหนือเราเห็นการทดลองยิงขีปนาวุธเพื่อคำนวณพิกัดบวกลบทั้งหลายชัดเจน ซึ่งอยู่ในขั้นของความสำเร็จจริงๆ แต่สำหรับอิหร่านนั้น เราไม่เห็นการทดลองยิงขีปนาวุธที่โจ่งแจ้งและบ่อยครั้งเช่นนี้ แต่เราก็พอจะเห็นความพยายามในการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเพื่อใส่หัวรบนิวเคลียร์ของอิหร่าน”
-
ประชาคมโลกจะมีวิธีการป้องปรามเกาหลีเหนืออย่างไร
ศ.ดร.สุรชาติ ชี้ว่า คำตอบนี้ค่อนข้างยาก เพราะประชาคมโลกคุมพฤติกรรมของผู้นำเกาหลีเหนือไม่ได้ สมมติว่า ถ้าประชาคมโลก โดยเฉพาะตะวันตกจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่ก็ไม่ได้มีผลมาก เนื่องจากเกาหลีเหนือปิดประเทศอยู่แล้ว เพราะการพึ่งพาใหญ่ๆ ก็พึ่งพาจีนกับรัสเซีย การคว่ำบาตรจากโลกตะวันตกจึงไม่มีผล ดังเช่นที่เราเคยเห็นในหลายกรณีที่ผ่านมา
สุดท้ายคนที่จะปกป้องเกาหลีเหนือก็คือ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย เนื่องจากต่างฝ่ายต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
-
คิดเห็นอย่างไรกับความคิดเห็นที่ว่า คิมจองอึนอาจจะมีดีลพิเศษกับปูติน เพื่อหันเหความสนใจของสหรัฐฯ ออกจากสงครามยูเครน
สิ่งนี้เป็นการตีความของหลายฝ่ายที่เชื่อว่า แต่เดิมคนที่พยายามเปิดเกมในเอเชียคือจีน เผื่อดึงสหรัฐฯ ออกจากสงครามยูเครน หากแต่วันนี้ก็มีการตีความว่า เกาหลีเหนือก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่จะเปิดเกม เพื่อดึงสหรัฐฯ ออกจากสงครามในยุโรป แต่ถามว่าถึงจะเปิดเกมแบบนี้ สหรัฐฯ ได้ออกจากสงครามยูเครนไหม คำตอบคือไม่ เพราะสงครามตรงนั้นคือสงครามจริง ขณะที่สถานการณ์ในเอเชียยังมีลักษณะของการขู่ ยังไม่ได้ขยายตัวไปจนถึงขั้นต้องส่งกำลังเข้าสู่พื้นที่ความขัดแย้ง
ถ้าหากทั้งจีนและเกาหลีเหนือสามารถดึงสหรัฐฯ ออกจากสงครามยูเครนได้ ก็มีนัยเท่ากับการช่วยเหลือทางการทหารและด้านอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่ให้กับรัฐบาลโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครนก็จะลดลง เหมือนกับสหรัฐฯ ต้องมาเปิดแนวรบใหม่ในเอเชีย แต่วันนี้ยังไม่ได้เดินไปถึงจุดนั้น แนวรบจริงๆ ยังคงอยู่ในยุโรป แต่ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตช่องแคบไต้หวันที่เราเห็นเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หรือวิกฤตการทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ก็ยังไม่ได้ขยายตัวเป็นความขัดแย้งชุดใหญ่ สหรัฐฯ ก็เลยยังไม่มีความจำเป็นถึงขนาดจะต้องทิ้งสงครามยูเครนแล้วมาเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในเอเชียอย่างเดียว
โดยทั้งหมดยังเป็นเพียงแค่การตีความเท่านั้น ซึ่งสหรัฐฯ เองก็คิดตลอดเวลาว่าแนวรบของสหรัฐฯ ในทางการเมืองไม่ได้มีอยู่เฉพาะในยุโรป เพราะในช่วงหลังผู้นำสหรัฐฯ ตระหนักดีว่า การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับมหาอำนาจในเอเชียอย่างจีนก็มีความชัดเจนขึ้นตลอดเวลา ซึ่งในวันนี้สหรัฐฯ ได้วาง 2 ยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชียอย่างอินโดแปซิฟิก กับ AUKUS ในขณะที่จีนเองก็ขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่องในเอเชียอีกแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน
-
สิ่งที่อยากจะทิ้งท้ายคืออะไร
ความขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ เมื่อไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ ประเด็นความขัดแย้งจะเป็นเรื่องใหญ่ในตัวของมันเอง ทั้งยังเป็นประเด็นที่มีความเปราะบาง เพราะอำนาจการทำลายล้างของอาวุธชุดนี้ไม่ใช่การทำลายแบบปกติ แล้วถ้าผู้นำที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ตัดสินใจด้วยความไร้เหตุผล และเชื่อว่าอาวุธนิวเคลียร์จะสามารถเอาชนะรัฐฝ่ายตรงข้ามได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการโจมตีใหญ่หรือการโจมตีเล็ก ผลที่เกิดขึ้นคือหายนะขนาดใหญ่ แล้วถ้าเกิดใช้อาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถควบคุมไม่ให้กลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ที่มีขอบเขตจำกัดได้
ตัวแบบที่ใหญ่ที่สุดที่เรามองเห็นคือ ผลพวงจากเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่นหลอมละลาย เราได้เห็นผลกระทบของชาวบ้านจำนวนมาก หรือถอยกลับไปยังเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลทางตอนเหนือของยูเครน ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ยังไม่ใช่การใช้ระเบิดนิวเคลียร์ แต่ผลกระทบต่อชีวิตประชาชนค่อนข้างน่ากลัวและเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เราจะไม่มีคำตอบเหลืออีกเลย เราไม่มีหลักประกันว่าสงครามนิวเคลียร์จะคุมได้ทั้งหมด
แฟ้มภาพ: Dancing_Man / Shutterstock