×

กรมวิทย์เผย ไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.3.20 แนวโน้มแพร่เร็ว ติดเชื้อในไทยแล้ว 2 ราย

โดย THE STANDARD TEAM
03.11.2022
  • LOADING...

วานนี้ (2 พฤศจิกายน) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ แถลงข่าวอัปเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดและสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทยว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ขณะนี้สายพันธุ์หลักที่พบยังเป็นโอมิครอน และการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็น BA.5 เช่นเดียวกับทั่วโลก และพบสายพันธุ์ย่อยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุให้เฝ้าติดตามเพิ่มขึ้น เช่น XBB, BA.4.6 และ BQ.1 

 

โดยแต่ละพื้นที่อาจพบการระบาดสายพันธุ์ที่ต่างกัน เช่น ยุโรปและสหรัฐอเมริกา รายงานแนวโน้มสายพันธุ์ BQ.1, BQ.1.1 เพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าสายพันธุ์ BQ.1 หรือ BQ.1.1 มีความรุนแรงกว่า BA.4 หรือ BA.5

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่ออีกว่า สำหรับข่าวที่ระบุว่ามีสายพันธุ์ใหม่ ขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ โดยยังเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้ เช่น เดลตา อัลฟา แกมมา โอมิครอน สายพันธุ์ย่อยที่ WHO ระบุให้เฝ้าติดตามที่เริ่มพบในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น

 

สายพันธุ์ BA.4.6 มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น เช่น BA.1, BA.2, BA.4 และ BA.5 พบว่า ภูมิคุ้มกันของคนที่ได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาก่อน ลบล้างเชื้อหรือฆ่าเชื้อ BA.4.6 ได้น้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง แสดงว่าคนที่ได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาจะได้ผลต่อ BA.4.6 น้อยลงไปครึ่งหนึ่ง ขณะนี้พบ 3 รายแล้ว

 

สายพันธุ์ BA.2.3.20 ซึ่งเป็นลูกหลานของ BA.2 มีการกลายพันธุ์อยู่หลายตำแหน่ง มีแนวโน้มแพร่เร็ว แต่ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรง ขณะนี้พบในประเทศไทยแล้ว 2 ราย ทั้งคู่หายแล้ว

 

สายพันธุ์ AY.103 ซึ่งเป็นลูกหลานเดลตา ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เพียงแต่มีตำแหน่งกลายพันธุ์ที่เพิ่มจากเดลตาเดิม ซึ่งยังไม่มีหลักฐานแสดงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น และมีรายงานเข้าฐานข้อมูล GISAID เพียงรายเดียว จึงยังไม่ต้องกังวลอะไร ประเทศไทยยังไม่พบ

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่ออีกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (22- 28 ตุลาคม) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังตรวจการกลายพันธุ์โควิด จำนวน 143 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์ BA.2 จำนวน 5 ราย สายพันธุ์ BA.4/BA.5 จำนวน 118 ราย และสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 10 ราย และโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ 10 ราย และสิ่งที่น่าสนใจคือพบ BA.2.75 ถึง 10 รายในบางพื้นที่ ซึ่งเดิมบางสัปดาห์พบเพียง 3-5 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้น จะต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไป โดยอนาคตเราจะจับตาดู BQ.1 ว่าจะเพิ่มจำนวนเหมือนในยุโรปและสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ซึ่งจะต้องเพิ่มน้ำยาตรวจจำเพาะต่อสายพันธุ์ BQ ทั้งหลายด้วย

 

ทั้งนี้ โดยสรุปจำนวนสายพันธุ์ย่อยที่น่าสนใจ และ WHO ระบุให้เฝ้าติดตาม ซึ่งประเทศไทยพบและได้เผยแพร่ในฐานข้อมูล GISAID ได้แก่ BF.5 พบ 6 ราย, BF.7 พบ 2 ราย, BQ.1 พบ 2 ราย, BE.1 พบ 5 ราย, BE.1.1 พบ 2 ราย, BN.1 พบ 9 ราย, BA.4.6 พบ 3 ราย, XBB.X พบ 5 ราย และ BA.2.3.20 พบ 2 ราย ข้อมูลดังกล่าวได้รายงานให้กรมควบคุมโรคเพื่อติดตามสอบสวนโรคต่อไป

 

“การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติของไวรัส และมีการแตกลูกหลานจำนวนมาก ซึ่งยังไม่มีสัญญาณของความรุนแรง ที่เพิ่มเติมจากปกติแต่อย่างใด ประกอบกับผู้คนในโลกมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นทั้งจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน ทำให้อัตราการเสียชีวิตก็ลดน้อยลง สำหรับประเทศไทยยังมีมาตรการป้องกัน ใส่หน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดยังมีความสำคัญในการช่วยลดการติดเชื้อ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนี้อาจมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าจะทำหน้าที่เฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดอย่างเข้มข้นและไม่ลดน้อยถอยลง” นพ.ศุภกิจกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X