สื่อต่างประเทศรายงานว่า สถานีบริการน้ำมันหลายแห่งในเวียดนามได้ประกาศปิดให้บริการ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีน้ำมันจะขาย หลังจากตลาดปิโตรเลียมของเวียดนามกำลังเผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่, สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันโลก, ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และมาตรการจำกัดราคาขายปลีกน้ำมันของรัฐบาล
ตั้งแต่วันอังคาร (1 พฤศจิกายน) สื่อทางการของเวียดนามอย่าง Vietnam News Agency รายงานว่า สถานีบริการน้ำมันหลายแห่งในนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองธุรกิจของเวียดนาม ได้หยุดขายน้ำมันเบนซินแล้ว แต่ยังขายดีเซลต่อไปอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- S&P เผยกรณีแบงก์ SCB ใน เวียดนาม เกิด Bank Run กระทบอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ‘จำกัด
- แบงก์ เวียดนาม โกลาหล! ลูกค้าแห่ถอนเงินหลังกรรมการบอร์ดเสียชีวิต จนแบงก์ชาติต้องออกโรงรับรองประกันเงินฝาก
- ไขคำตอบ…ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
ขณะที่สื่อวิทยุของเวียดนามอย่าง National Voice of Vietnam รายงานว่า ปั๊มน้ำมันหลายแห่งในกรุงฮานอยก็ปิดการให้บริการแล้ว
ด้านสำนักข่าว Nikkei Asia ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม สถานีบริการน้ำมันหลายร้อยแห่งในนครโฮจิมินห์ และในเมืองใกล้เคียงทางตอนใต้ของเวียดนามต้องระงับการดำเนินงานเป็นครั้งคราว โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาไม่มีน้ำมันจะขาย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า มีปั๊มน้ำมันมากแค่ไหนในเวียดนามได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้
การกำหนดราคาค้าปลีกเป็นปัญหาอย่างไร
ปัจจุบัน รัฐบาลเวียดนามเป็นผู้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงทุก 10 วัน ตามการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดต่างประเทศ บังคับให้บริษัทน้ำมันในประเทศต้องยอมกำหนดราคาตามคำสั่งของรัฐบาล ท่ามกลางความผันผวนเป็นพิเศษในตลาดระหว่างประเทศปัจจุบัน
โดยมาตรการจำกัดราคาน้ำมันของรัฐบาล ทำให้ผู้จำหน่ายน้ำมันไม่สามารถส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ทำให้ผู้จำหน่ายรายย่อยได้รับผลกระทบอย่างหนัก และทำให้ผู้จำหน่ายรายย่อยไม่มีแรงจูงใจในการเปิดสถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากผลกำไรที่เหลือน้อยเกินไป
ดอลลาร์แข็งค่าเพิ่มต้นทุนนำเข้าน้ำมัน
ตามข้อมูลของทางการเวียดนามระบุว่า การนำเข้าเชื้อเพลิงที่กลั่นแล้วในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 22.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน อยู่ที่ 7.13 ล้านตัน ขณะที่ต้นทุนกลับเพิ่มขึ้นถึง 123.8% อยู่ที่ 7,370 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ Petrolimex บริษัทนำเข้าเชื้อเพลิงรายใหญ่ของเวียดนาม ระบุว่า ความต้องการปิโตรเลียมในภูมิภาคได้เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ ทำให้ความต้องการสูงกว่าอุปทาน ส่งผลทำให้เกิดภาวะขาดแคลนและราคาเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ตุลาคม) Nguyen Hong Dien รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ยืนยันว่าประเทศไม่ได้ประสบกับภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิง หลังจากปั๊มน้ำมันบางแห่งเริ่มลดปริมาณและจำกัดการขายน้ำมัน
นอกจากนี้ Dien ยังกล่าวโทษอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ผันผวน และความยากลำบากที่ผู้นำเข้าน้ำมันในประเทศบางรายกำลังเผชิญในการเข้าถึงเครดิตและสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยรัฐมนตรียังยืนยันว่าโรงกลั่นในประเทศ ซึ่งเป็นผู้จัดหาอุปทานเชื้อเพลิงในประเทศราว 70-80% กำลังเริ่งกำลังการผลิตอย่างเต็มกำลัง
เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้ร้องขอให้โรงกลั่น 2 แห่ง เพิ่มกำลังการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังขอให้ผู้จ่ายน้ำมันเร่งจัดส่งน้ำมันไปยังปั๊มด้วย
Petrovietnam บริษัทน้ำมันของรัฐที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม พยายามรับมือกับปัญหาด้วยการเพิ่มอัตราการปฏิบัติการของโรงกลั่น Dung Quat ในจังหวัด Quang Ngai ทางตอนกลางของประเทศ จาก 107% เป็น 109%
โดยผู้บริหารโรงกลั่นยังกล่าวว่า บริษัทสามารถผลักดันอัตราดังกล่าวเพิ่มเป็น 110% หรือสูงกว่านั้นได้ หากรัฐบาลร้องขอเพิ่มเติม
ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันทั่วไปในเวียดนามมักจะกันกำลังการผลิตบางส่วนไว้ แม้ว่าจะประกาศว่า กำลังผลิตอยู่ที่ 100% แล้วก็ตาม โดยในกรณีฉุกเฉิน อัตราการดำเนินการของโรงกลั่นสามารถเกิน 100%
การผลิตในช่วงต้นปีของโรงกลั่น Nghi Son ทางตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งมีบริษัท Idemitsu Kosan ของญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากบริษัทไม่สามารถจัดหาเงินทุนเพียงพอสำหรับการนำเข้าน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนเมษายน โรงกลั่นสามารถกลับมาดำเนินการจนเกือบเต็มกำลังการผลิตแล้ว
สงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบตลาดพลังงานทั่วโลก
โรงกลั่น 2 แห่งในเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้จัดหาน้ำมันตอบสนองต่อความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศมากกว่า 70% เปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในตลาดพลังงานทั่วโลก
โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศต่างๆ ในยุโรปกำลังซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจำนวนมาก ทำให้ประเทศเล็กๆ เช่น เวียดนาม เพิ่มการซื้อได้ยากขึ้น
อ้างอิง: