×

‘เบทาโกร’ มั่นใจผลงานโตต่อ ลั่นไร้กังวลหุ้นต่ำจองแม้ราคาดิ่งเกือบ 7% หลังนักลงทุน Panic Sell

02.11.2022
  • LOADING...

บมจ.เบทาโกร หรือ BTG มั่นใจผลประกอบการโตต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าลงทุนปีละ 5 พันล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการในอนาคต เผยหุ้นเข้าเทรดวันแรกราคาต่ำจองไม่กังวล มองเป็นเรื่องความกังวลของนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม

 

วันนี้ (2 พฤศจิกายน) หุ้น บมจ.เบทาโกร หรือ BTG เข้าซื้อขายเป็นวันแรก ราคาเปิดการซื้อขายอยู่ที่ 39.75 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือ 0.62% จากนั้นราคาปรับลดลงต่อเนื่องจากแรงขาย Panic Sell ส่งผลให้ราคามาปิดการซื้อขายภาคเช้าอยู่ที่ 37.25 บาท ลดลง 2.75 บาท หรือ 6.87% จากราคา IPO ที่ 40 บาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวาณิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของราคาหุ้น BTG ในวันที่เข้าซื้อขายวันแรก (2 พฤศจิกายน) มีราคาต่ำกว่าราคา IPO ที่หุ้นละ 40 บาท เนื่องจากมีแรงขายจากความกังวล (Panic Sell) ของนักลงทุนบางกลุ่มออกมา เพราะมีความกังวลว่าราคาขายหมูหรือไก่อาจผ่านจุดสูงสุดหรือจุดพีคไปแล้ว ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าอาจกระทบต่อกำไรในอนาคตของ BTG ซึ่งปรับตัวลดลงต่ำเท่าในอดีตที่ระดับ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงบางส่วนอาจกังวลเกี่ยวกับผลการประชุมดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในคืนนี้

 

ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน มองว่าไม่ได้มีความน่ากังวล เนื่องจาก BTG มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และผลประกอบการมีโอกาสเติบโตดีต่อเนื่องในอนาคต โดยการกำหนดราคา IPO มี Forward P/E ที่ 9 เท่า ต่ำกว่าอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารอยู่ที่ระดับ 14 เท่า ขณะที่ความเห็นของนักวิเคราะห์จำนวน 8 แห่งให้ราคาเป้าหมายของ BTG อยู่ที่ระดับ 48-50 บาทต่อหุ้น

 

สำหรับแผนในการดูแลราคาหุ้นของ BTG โดยการใช้เครื่องมือจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Agent) หรือ Greenshoe Option จำนวนไม่เกิน 65.2 ล้านหุ้นมาใช้หรือไม่ ในวันนี้ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและภาวะการซื้อขายด้วย เนื่องจากการใช้ Greenshoe Option จะไม่มีประโยชน์ในกรณีที่เกิดกับหุ้น Panic Sell

 

เดินหน้าลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี

ด้าน วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบทาโกร หรือ BTG กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในอนาคต บริษัทกำหนดแผนงานที่ชัดเจนจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี โดยเน้นใช้เพื่อขยายกำลังการผลิต ส่งผลให้ผลประกอบการเติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นไปตามแผนธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

โดยแผนการลงทุนสำหรับ 5 ปีต่อจากนี้ (ปี 2022-2026) เพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีดังนี้

 

  1. ขยายกำลังการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิตในอีก 5 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย อาหารสัตว์ 5.5 ล้านตันต่อปี อาหารแปรรูปและไส้กรอก 2.23 แสนตันต่อปี โรงงานแปรรูปสุกร 4.8 ล้านตัว และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อ 270 ล้านตัว

 

  1. มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งจะเพิ่มสัดส่วนของแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียมและมาตรฐาน

 

  1. ขยายการประกอบธุรกิจของบริษัทในต่างประเทศ โดยมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานและฟาร์มเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา

 

  1. ขยายการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศและเพิ่มจุดหมายปลายทางการส่งออก ได้แก่ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศที่สำคัญ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และกัมพูชา เป็นต้น

 

มั่นใจผลงานปี 2022-2023 เติบโตระดับสูง

ทั้งนี้ งวด 6 เดือนแรกปี 2022 BTG มียอดขายรวมกว่า 52,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีกำไรมากกว่า 3,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 233% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายเฉลี่ยของบริษัทในช่วง 3 ปีย้อนหลัง มีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7% ต่อปี

 

“จึงมั่นใจว่าการเติบโตจะอยู่ในระดับสูง ทั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และยังเติบโตในระดับสูงในปี 2023 โดยในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) จะพิจารณาอนุมัติผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2022 ของปีนี้ ซึ่งน่าจะออกมาในทิศทางที่ดีด้วยเช่นกัน” วสิษฐกล่าว

 

ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อผลประกอบการมาจากการเติบโตของทุกผลิตภัณฑ์และทุกตลาด โดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายที่มาจากการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศอยู่ที่สัดส่วน 15% ของยอดขาย โดยมีการส่งออกไปในมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก มีฐานลูกค้าอยู่ในเอเชีย เช่น ประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, จีน และกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป รวมไปถึงในประเทศแคนาดา อีกทั้งโรงงานผลิตไก่ของบริษัทยังได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียด้วย ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการส่งออก

 

ขณะเดียวกัน บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายอีก 85% มาจากตลาดในประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมผลิตอาหารอยู่ที่ 15% โดยที่ผ่านมากลยุทธ์การแข่งขันจะเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงมีการร่วมมือกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่และหมู ผู้ประกอบการร้านค้า และคู่ค้า

 

นอกจากนี้ภายหลังจากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชน (IPO) จะส่งผลให้บริษัทมีฐานะการเงินที่ดีขึ้น โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ลดลงจากช่วงสิ้นปี 2021 อยู่ที่ 1.9 เท่า ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 1.4 เท่า และในสิ้นปี 2022 จะลดลงต่อเนื่องลงมาต่ำกว่า 1 เท่า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising