ธ.ก.ส. คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเกษตรไทยในปี 2565 จะขยายตัว 4.1% เหตุบาทอ่อนหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ราคายาง-น้ำมันปาล์มปรับตัวสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ และการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ อย่างไรก็ตาม อัตราสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ของ ธ.ก.ส. ยังคงเพิ่มอยู่ที่ 12.5% สูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากผลพวงจากโควิด
ศูนย์วิจัยและพัฒนาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประเมินว่า ภายหลังภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการระบาดของโควิดและปรับสู่โรคท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัว ทั้งด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว ถือเป็นโอกาสของเกษตรกรในการจำหน่ายผลผลิตไปสู่ตลาดโลก ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2565 จะขยายตัวที่ 8% และเศรษฐกิจเกษตรตลอดทั้งปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ 4.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุน 4 ประการ ได้แก่
- ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนนาไม
- แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
- นโยบายรัฐบาลที่ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรและรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร
- ปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้ของเกษตรกรขยายตัวถึง 15.53% ตามดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัว 12.66% และดัชนีผลผลิตที่ขยายตัว 2.55
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. ยังเตือนว่า ปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดฝนตกชุกและอุทกภัยในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อสินค้าเกษตรและการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมไปถึงปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง แรงงานภาคการเกษตรที่โยกย้ายไปนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น และราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ GDP ภาคเกษตรขยายตัวลดลงจากที่คาดการณ์
กระนั้นยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตรที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลาย และความต้องการสินค้าอาหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากภาวะสงคราม
ในวันเดียวกัน ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังเปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2565 (1 เมษายน – 30 กันยายน 2565) อัตราสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 12.5% นับว่าสูงจากก่อนหน้านี้ ขณะที่รายได้ (จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น) อยู่ที่ 42,654 ล้านบาท นับว่าใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายรวม (รวมถึงค่าดำเนินงานต่างๆ) อยู่ที่ 41,266 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,388 ล้านบาท ซึ่งธนารัตน์ยอมรับว่า ผลกำไรสุทธิดังกล่าวนับว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ยังอยู่ที่ 12.55% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด สะท้อนว่าธนาคารยังมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง
ธนารัตน์เปิดเผยอีกว่า สาเหตุที่ทำให้ NPL สูงขึ้นมาจากการระบาดของโควิดที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้ครัวเรือนมากขึ้น เนื่องจากลูกหลานเกษตรกรหลายคนที่ออกไปทำงานในภาคอื่นๆ ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด ทำให้ส่งเงินกลับบ้านไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ รุมเร้า เช่น ราคาสินค้าเกษตร และผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ธ.ก.ส. ได้ตั้งเป้าลดภาระหนี้ครัวเรือนเกษตรกรและ NPL ให้อยู่ที่ระดับ 7% ในช่วงสิ้นปีบัญชี 2565 หรือภายใน 6 เดือนข้างหน้า ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงขาขึ้นออกไปให้นานที่สุด การจูงใจให้ลูกค้าชำระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน Plus วงเงิน 3 พันล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคมนี้ การดูแลภาระหนี้สินเดิม เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง การไกล่เกลี่ยหนี้กรณีมีหนี้นอกระบบ และมาตรการจ่ายดอกตัดต้น ควบคู่การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การให้ความรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐเอกชน สถาบันการศึกษา ในการศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะ ทั้งอาชีพเดิม อาชีพเสริม และอาชีพใหม่ การปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการยกระดับมาตรฐานสินค้า เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- เตรียมตัวไว้! ตั้งแต่ 15 พ.ย. นี้ ‘ฝากเงินผ่านตู้’ ต้องยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเครดิต เพื่อป้องกันการฟอกเงิน
- ไม่ตกขบวน! ไทยพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MOR 0.25% พร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50%