วันนี้ (28 ตุลาคม) เวลา 09.10 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางถึงบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เพื่อเป็นประธานร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์ (Groundbreaking Ceremony) โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ที่จังหวัดบึงกาฬ
การเดินทางครั้งนี้มีบุคคลสำคัญฝ่ายไทยร่วมงาน เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์เดินทางถึงบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ฝั่งไทย ที่จังหวัดบึงกาฬ ได้พบปะประชาชนที่มาร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์ และกล่าวทักทายประชาชนที่มาร่วมงานและรอต้อนรับ พร้อมขอบคุณประชาชนชาวบึงกาฬทุกคน ยินดีที่เห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อย โดยเข้าใจดีว่าทุกวันนี้ยังมีปัญหาอยู่บ้าง
รัฐบาลพร้อมดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างรอบด้าน ทั้งด้านอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงระบบน้ำ โดยยินดีที่ได้มาวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ที่แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาวในวันนี้ และขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องสะพานแห่งที่ 6 พร้อมที่จะช่วยเหลือดูแลชาวบึงกาฬ ในวันนี้ได้เอาหัวใจ ความคิดถึง ความรักชาวกรุงเทพฯ มาด้วย ซึ่งยืนยันว่าคนไทยจะไม่ทิ้งกัน
จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์พร้อมคณะได้ลงเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว เพื่อร่วมพิธีฯ พร้อมได้หารือทวิภาคีกับ พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว
ขณะที่พันคำกล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งในวันนี้ ไทย-สปป.ลาว มีสะพานเชื่อมโยง แต่ถึงจะไม่มีสะพาน คนไทย-คนลาวก็มีใจเชื่อมใจ ขอให้จดจำถ้อยคำที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่พึ่งพาถ้อยอาศัยระหว่างสองประเทศ “กินข้าวร่วมนา กินปลาร่วมน้ำ”
โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเชื่อมั่นว่าสะพานแห่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่แสดงถึงความเป็นมิตรที่ใกล้ชิด และยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศและประชาชนทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ตลอดจนจะเป็นสะพานที่เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทั้งสองประเทศ เนื่องจากจะเป็นทางเลือกการขนส่งระหว่างไทยกับ สปป.ลาว รวมทั้งส่งเสริมการขนส่งเส้นทางหมายเลข 8 (R8) ระหว่างไทย-ลาว-เวียดนามให้สะดวกยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) แล้วเสร็จ จะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณด่านชายแดนฝั่งจังหวัดบึงกาฬ และชายแดนฝั่งแขวงบอลิคำไซ ให้เป็นอีกหนึ่งประตูการค้าที่สำคัญ ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้คล่องตัวขึ้น
โดยเฉพาะ ‘ยางพารา’ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬ อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดในจีนตอนใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของ สปป.ลาว สู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย เพื่อส่งออกทางทะเลต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ
นอกจากนี้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศให้มีความใกล้ชิดและเดินทางไปมาหากันได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มจุดเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เปิดเส้นทางท่องเที่ยว 3 ประเทศ ‘ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม’ ภายหลังการคมนาคมเชื่อมโยงถึงกัน