ผู้ว่า ธปท. เรียกทีมถกทบทวนสมมติฐานการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทย หลังโลกกังวลภาวะถดถอยมากขึ้น มั่นใจยังฟื้นต่อเนื่อง แต่พร้อมปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ ชี้เงินบาทผันผวนสอดคล้องภูมิภาค ไม่พบความเคลื่อนไหวผิดปกติ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลังเดินทางกลับจากเข้าร่วมประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อเร็วนี้ๆ ตนได้เรียกทีมงานของ ธปท. มาพูดคุย เพื่อประเมินและรีเช็กแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยว่ามีภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ เนื่องจากในการประชุมดังกล่าวได้มีการพูดถึงความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากกว่าที่คิด เช่นเดียวกันภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยพร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยแรง’ หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เป็นไปตามคาด พร้อมยันบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อไม่มาก
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ มีผลวันที่ 29 กันยายน
“ธีมที่คนพูดถึงกันมากในการประชุมของ World Bank-IMF คือ โลกอาจชะลอมากกว่าที่คิด และเงินเฟ้ออาจหนืดกว่าที่คาด เราจึงไม่ชะล่าใจ หลังจากกลับจากต่างประเทศก็เรียกทีมมาคุยเพื่อรีเช็กว่ายังมั่นใจในสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบในปีหน้าหรือไม่” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า จากการประเมินล่าสุด ธปท. ยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง โดย GDP จะขยายตัวได้ที่ 3.3% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า โดยมองตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ที่ 9 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนในปีหน้า ขณะที่การส่งออกในปีนี้มองว่าจะยังโตได้ 8% แต่ในปีหน้าจะขยายตัวได้เพียง 1% เนื่องจากได้นำผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวเข้ามาคำนวณแล้ว
“เมื่อภาพเศรษฐกิจไม่เปลี่ยน นโยบายการเงินก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ปัจจัยที่จะมีผลกระทบมากต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยคือการท่องเที่ยว ตราบใดที่ท่องเที่ยวยังฟื้น ภาพรวมเศรษฐกิจเราจะยังฟื้นได้ต่อเนื่อง แต่หากสถานการณ์เปลี่ยน เราก็พร้อมจะปรับนโยบายการเงิน” เศรษฐพุฒิกล่าว
เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินของ ธปท. ยังยึดหลักยืดหยุ่นตามสถานการณ์ และ Data Dependent โดยจะไม่มองแค่เฉพาะข้อมูลในปัจจุบัน แต่จะมองไปถึงภาพเศรษฐกิจในอนาคตด้วย เพราะนโยบายการเงินเป็นนโยบายต้องใช้เวลากว่าที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
“การปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงของหลายประเทศในเวลานี้ดูเหมือนจะไม่ได้คำนึงว่านโยบายการเงินต้องใช้เวลาจึงเห็นผล ซึ่งการที่หลายประเทศ Overeact เรื่องดอกเบี้ยอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ก็เข้าใจว่าเขาต้องสู้กับเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปสงค์ด้วย ต่างจากไทยที่เงินเฟ้อส่วนใหญ่ยังมาจากฝั่งอุปทาน ทำให้เราไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบเขา” เศรษฐพุฒิกล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท. ยังกล่าวถึงค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวผันผวนในช่วงนี้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ธปท. ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่ที่มาของความผันผวนส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก ทำให้ ธปท. มีข้อจำกัดในการดูแล โดยในภาพรวมเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และยังไม่มีสัญญาณการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
เศรษฐพุฒิระบุว่า ในภาวะที่ค่าเงินมีความผันผวน การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Hedging จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการได้ แต่ยอมรับว่าปัจจุบันต้นทุนการทำ Hedging ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงสำหรับกลุ่ม SMEs ซึ่งการทำให้ต้นทุนเรื่องนี้ลดต่ำลงมาถือเป็นโจทย์ที่ ธปท. ต้องการผลักดันในแผนพัฒนา FX Ecosystem โดยหนึ่งในวิธีการคือ การเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันในระบบ
“สิ่งที่เรากำลังทำคือลดต้นทุนการทำ Hedging ซึ่งเปรียบเหมือนการซื้อประกันของผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่เราไม่อยากทำคือการเข้าไปซื้อประกันให้กับทุกคนด้วยการตรึงค่าเงินไว้ แม้วิธีการนี้จะลดความผันผวนให้ผู้ประกอบการได้ แต่เรามีบทเรียนมาแล้วจากปี 2540 ว่าไม่ใช่ทางออกที่ดี การปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดและเข้าไปดูแลเป็นบางจังหวะจะเป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่า” ผู้ว่า ธปท. กล่าว