×

แนวโน้มกำไรหุ้นโรงกลั่นและปิโตรเคมี ‘เครือ ปตท.’ งวดไตรมาส 3/65 จ่อพลิกขาดทุนรวมกันกว่าหมื่นล้านบาท เหตุบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมัน

26.10.2022
  • LOADING...
เครือ ปตท.

อย่างที่ทราบกันดีว่าผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีได้รับอานิสงส์จากค่าการกลั่นที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบ เช่นเดียวกับธุรกิจปิโตรเคมีที่สามารถปรับเพิ่มราคาขายตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้นทุนราคาพลังงานมีความผันผวนในไตรมาส 3/65 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี

 

THE STANDARD WEALTH จึงสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ที่มีต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3/65 ของกลุ่มบริษัทในเครือ ปตท. ที่ประกอบธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจปิโตรเคมี ได้แก่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ซึ่งพบว่านักวิเคราะห์หลายแห่งมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่าผลประกอบการกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีในเครือ ปตท. ในงวดไตรมาส 3/65 อาจจะพลิกเป็นขาดทุนสุทธิ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการต้องบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมัน และบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

โดยนักวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ คาดการณ์ว่าผลประกอบการไตรมาส 3/65 ของ TOP จะขาดทุน 167 ล้านบาท พลิกจาก 3/64 และ 2/65 ที่มีกำไรสุทธิ 2,063 ล้านบาท และ 25,327 ล้านบาท ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการรับรู้ผลขาดทุนจากรายการพิเศษสำคัญ 2 รายการ ได้แก่

  1. การรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1,650 ล้านบาท จากผลของค่าเงินบาท ณ สิ้นไตรมาสที่อ่อนค่าลง 2.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ
  2. การรับรู้บันทึกขาดทุนสต๊อกนำมันจำนวน 9,550 ล้านบาท จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงในระหว่างไตรมาสที่มากถึง 26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ขณะที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่าแนวโน้มกำไรไตรมาส 3/65 ของ PTTGC จะพลิกเป็นขาดทุนสุทธิสูง 8.6 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2/65 และช่วงปีก่อน ซึ่งจะเห็นการอ่อนแอลงในทุกธุรกิจหลัก เช่น ธุรกิจโอเลฟินส์ที่ได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ยอดขายและราคาขายปรับตัวลง ส่วนธุรกิจอะโรมาติกคาด EBITDA พลิกเป็นติดลบ

 

นอกจากนี้การปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ เงินบาทอ่อนค่า และ Crack Spread น้ำมันดีเซลสูงขึ้น ทำให้คาดว่าจะมีขาดทุนสต๊อกน้ำมัน 6.2 พันล้านบาท ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน (FX) 2.8 พันล้านบาท และขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) 2.2 พันล้านบาท

 

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/65 ของ IRPC นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่าจะพลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 2.2 พันล้านบาท เพราะอัตราการผลิตเหลือ 190,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงตามความต้องการใช้ ประกอบกับ Market GIM คาดทำได้ 7.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 37% จากปีก่อน เพราะ Crack Spread น้ำมันสำเร็จรูปลดลงทุกชนิด

 

ขณะเดียวกัน การปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทำให้คาดว่าจะบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมันประมาณ 3.8 พันล้านบาท และการอ่อนค่าของเงินบาทจะเกิดการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) 550 ล้านบาท

 

เครือ ปตท.

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X