กระแส ‘แคมปิ้งฟีเวอร์’ กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะช่วงไฮซีซันฤดูหนาว ฝั่งธุรกิจเริ่มสต๊อกสินค้า สารพัดอุปกรณ์ทั้งขายและให้เช่ารองรับดีมานด์ พร้อมทำการตลาดจัดโปรโมชันดึงขาเที่ยว
ธัชรวี หาริกุล ผู้ก่อตั้งเชนร้านอุปกรณ์ตั้งแคมป์ ไทยแลนด์ เอาท์ดอร์ ภายใต้บริษัท เอาท์ดอร์ เฮเว่น จำกัด เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กระแสการแคมปิ้งเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม และคาดการณ์ว่าจะลากยาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 เพราะคนอัดอั้นมานาน ซึ่งในช่วงโควิดที่มีการล็อกดาวน์ไม่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติทำให้บรรยากาศคึกคักมากกว่าช่วงก่อนโควิด โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว สถานที่ลานกางเต็นท์ถูกจองเต็มทุกพื้นที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กระแส ‘แคมปิ้ง’ ญี่ปุ่นเริ่มคึก เจ้าบ้านผุดธุรกิจให้เช่ารถตู้-อุปกรณ์ครบวงจร แพ็กเกจเริ่มต้น 1.9 แสนบาทต่อวัน
- เชนร้านอาหารดัง แห่ลดการใช้พลาสติก McDonald’s ญี่ปุ่น หันใช้หลอดกระดาษ-บรรจุภัณฑ์ไม้ มีเป้าหมายช่วยกำจัดขยะพลาสติก
- รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ก็จริง แต่เมืองไทยพร้อมหรือยังสำหรับรถที่จะใช้แบตเตอรี่ 100%
เช่นเดียวกับร้านอุปกรณ์ตั้งแคมป์ของไทยแลนด์ เอาท์ดอร์ ปัจจุบันมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่เป็นมือใหม่ที่ไม่เคยตั้งแคมป์มาก่อน จึงต้องทำสื่อการตลาดให้ความรู้ผ่านวิดีโอแนะนำมือใหม่หัดกางเต็นท์ต้องเริ่มอย่างไร เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจมากขึ้น
สต๊อกสินค้ารองรับดีมานด์
ขณะที่ลูกค้าเก่าก็กลับมาซื้อสินค้าและอุปกรณ์ใหม่ๆ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ เต็นท์ ตามด้วยเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ เตาทำอาหาร ส่วนราคาเต็นท์ภายในร้านมีราคาเริ่มตั้งแต่ 2,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาท โดยที่ขายดีสุดคือราคาประมาณ 5,000 บาท ซึ่งเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ สามารถนอนได้ 3-4 คน
ทั้งนี้ เพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มขึ้น บริษัทได้มีการสต๊อกสินค้าไว้จำหน่าย ทั้งแบรนด์ไทยแลนด์ เอาท์ดอร์ รวมถึงแบรนด์สินค้านำเข้าอย่าง Coleman จะขายดีมาก และปัจจุบันบริษัทเป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าอุปกรณ์แคมปิ้งกว่า 40 แบรนด์
งัดจุดขายสู้ศึกการแข่งขันสูง
พร้อมกันนี้ อุปสรรคของวงการตั้งแคมป์ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ที่ผ่านมาหลายๆ แบรนด์สินค้าทยอยแจ้งปรับขึ้นราคา เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการจัดโปรโมชันอยู่เป็นระยะๆ เพื่อรองรับการแข่งขันสูง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในตลาด ดังนั้น ทุกร้านต้องหาจุดขายเพื่อดึงลูกค้า
ด้านแหล่งข่าวจาก Ladprao Outdoor ร้านตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์แคมปิ้งแบรนด์ K2 กล่าวว่า กระแสแคมปิ้งเริ่มกลับมาตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่จะคึกคักมากในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเป็นฤดูหนาว ทำให้สินค้าและอุปกรณ์เสริมที่ใช้สำหรับการตั้งแคมป์มียอดขายดีขึ้น โดยเฉพาะเต็นท์และเก้าอี้ที่มีราคาไม่สูงมาก
สำหรับอุปกรณ์แคมปิ้งมีทั้งราคาถูกไปจนถึงราคาสูง โดยพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่เรื่องของการออกแบบ ดีไซน์การใช้งานที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคล
ธุรกิจเช่าอุปกรณ์ตั้งแคมป์ยอดจองยาวถึงปลายปี
ด้าน หฤษฎ์ ขาวสุทธิ์ ร้าน CampYard Rental เช่าอุปกรณ์แคมปิ้ง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทางร้านเปิดให้เช่าอุปกรณ์ตั้งแคมป์ เช่น เต็นท์ อุปกรณ์ทำครัว เครื่องนอน เครื่องดริปกาแฟ และอุปกรณ์เดินป่า ราคาเริ่มตั้งแต่ 500 บาทต่อวัน เน้นเจาะกลุ่มลูกค้างานอีเวนต์ และให้เช่ารายบุคคล ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาจองจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ลากยาวไปถึงปลายปี หลักๆ เป็นลูกค้าคนไทย 80% และต่างชาติ 20%
ประเมินว่าเทรนด์แคมปิ้งจะคึกคักไปจนถึงปีหน้า โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว หลายคนเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในหัวเมืองหลัก ทำให้ร้านเช่าอุปกรณ์ตั้งแคมป์ในหัวเมืองหลักได้รับความนิยมอย่างมาก และที่สำคัญยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการทดลองตั้งแคมป์ก่อนตัดสินใจซื้อมาเป็นของตัวเอง
ลานกางเต็นท์รัฐ-เอกชนเสริมความสะดวก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันมีลานกางเต็นท์ของภาครัฐและเอกชนหลายแห่งกระจายอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ เช่น เขาใหญ่ สระบุรี นครนายก กาญจนบุรี และราชบุรี โดยมีราคาเฉลี่ย 100-500 บาทต่อคืน โดยผู้ให้บริการลานกางเต็นท์มีการบริการทั้งไฟฟ้า ห้องน้ำ อาหาร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย สร้างความสะดวกให้ผู้มาใช้บริการ
ตลาดท่องเที่ยวสไตล์แคมปิ้งบูมทั่วโลก
ที่สำคัญไม่ได้บูมเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก รายงานของ The Business Research Company ระบุว่า มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวสไตล์แคมปิ้งทั่วโลกในปี 2022 มีอัตราการเติบโต 11.2% ต่อปี และคาดว่าจะเติบโตถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026
ขณะที่ PR Newswire รายงานว่า สาเหตุที่ตลาดการตั้งแคมป์เติบโต เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการตั้งแคมป์และมีการใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มเกษียณอายุแล้ว หันมาตั้งแคมป์เพื่อพักผ่อนมากขึ้นเช่นกัน
พร้อมกันนี้ อเมริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในตลาดการตั้งแคมป์ทั่วโลก โดยคิดเป็น 46.3% รองลงมาคือยุโรปตะวันตก เอเชียแปซิฟิก และภูมิภาคอื่นๆ
สำหรับผู้เล่นในตลาดมีทั้งรายย่อยและผู้เล่นหลักในตลาด ได้แก่ Bourne Leisure Holdings Limited, Sun Communities, Equity LifeStyle Properties, Parkdean Holdings Limited, Kampgrounds of America, Inc., European Camping Group, Jellystone Park, Discovery Parks Private Limited, Normandy Farms และ Siblu
อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นส่วนใหญ่จะเน้นใช้กลยุทธ์เสนอสิ่งอำนวยความสะดวก WiFi รวมถึงนวัตกรรมการออกแบบอุปกรณ์แคมปิ้งที่หลากหลายดึงนักท่องเที่ยว โดยประเมินว่าภายในปี 2025 รวมทุกค่ายจะมียอดขายกว่า 11,248.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิง: