×

ส่องมหาเศรษฐี ‘ยุคโควิด’ กับความมั่งคั่งที่หดหายไปอย่างรวดเร็ว

23.10.2022
  • LOADING...

ในช่วงเวลา 3 ปี โควิดเข้ามาเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งการใช้ชีวิต การทำงาน การพักผ่อน การศึกษา ขณะเดียวกันวิกฤตโควิดยังได้สร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่หลายคนจะจินตนาการได้ 

 

หลังจากที่วัคซีนป้องกันโควิดของ Moderna Inc. ถูกกระจายออกไป ความมั่งคั่งของ Stephane Bancel นักวิทยาศาสตร์ผู้พัฒนาวัคซีนดังกล่าว พุ่งขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 5.7 แสนล้านบาท ตามหุ้นของ Moderna ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2,400% ก่อนที่ความมั่งคั่งจะลดลงมาเหลือเพียง 3.7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 แสนล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เช่นเดียวกับ Eric Yuan ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Zoom Video Communications, Inc. เคยมีความมั่งคั่งสูงถึง 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลาที่ Zoom กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับการสื่อสารผ่านทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน หรือการสื่อสารทั่วไป ก่อนที่ความมั่งคั่งจะลดลงมาเหลือเพียง 4.6 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.75 แสนล้านบาท

 

ในมุมของ Kim Forrest ผู้ก่อตั้งบริษัทลงทุนอย่าง Bokeh Capital Partners มองว่า อานิสงส์ที่บริษัทต่างๆ ได้รับมาในช่วงที่ทุกคนต้องอาศัยอยู่ที่บ้าน เป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกับช่วงวิกฤตดอตคอมเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว ซึ่งเงินทุนต่างไหลเข้าสู่อะไรก็ตามแต่ที่มีดอตคอมต่อท้าย ซึ่งช่วงโควิดก็ไม่ต่างกัน

 

“มันมีปัญหาบางอย่างที่จำเป็นจะต้องถูกแก้ไขในช่วงโควิด แต่ปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ในมุมของนักลงทุนที่กำลังมองหาการเติบโต สิ่งที่ทำเพื่อตอบสนองการ Work from Home มันเติบโตไม่ได้อีกแล้ว” 

 

ความมั่งคั่งของบรรดามหาเศรษฐีที่เชื่อมโยงกับวิกฤตโควิดหดหายไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแค่ฉากหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวในหนึ่งชั่วอายุคน 

 

ทั้งนี้ Bloomberg News ได้รวบรวมมหาเศรษฐียุคโควิด จำนวน 58 คน โดยมี 26 คนที่ถือสัญชาติในเอเชีย อีก 18 คนถือสัญชาติสหรัฐฯ หรือแคนาดา และอีก 10 คนถือสัญชาติในยุโรป ในจำนวนทั้งหมดนี้มีเพียง 2 คนที่เป็นผู้หญิง คือ Falguni Nayar ผู้ก่อตั้งร้านค้าปลีกเครื่องสำอาง Nykaa และ Denise Coates ซีอีโอร่วมของ Bet365 Group Ltd.

 

โดยภาพรวม ธุรกิจของมหาเศรษฐียุคโควิดเหล่านี้แบ่งได้เป็น 7 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการอยู่บ้าน, วัคซีน, การทำงานทางไกล, อีคอมเมิร์ซ, อุปกรณ์การแพทย์, การชำระเงิน และชิป

 

ถึงแม้ว่าความมั่งคั่งของบุคคลเหล่านี้จะหดหายไปมาก แต่โดยรวมแล้วก็ยังถือว่าร่ำรวยขึ้นจากช่วงก่อนโควิด โดยกลุ่มที่ความมั่งคั่งหายไปมากที่สุดคืออีคอมเมิร์ซ ลดลงเฉลี่ย 58% จากช่วงพีค 

 

ในมุมกลับกัน วิกฤตโควิดส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อผู้คนนับล้าน ธนาคารโลกรายงานว่า มีคนจำนวน 97 ล้านคนต้องอยู่อาศัยด้วยเงินยังชีพต่ำกว่า 1.9 ดอลลาร์ หรือ 72.5 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นเพราะวิกฤตโควิด 

 

เงินช่วยเหลือต่างๆ ช่วยบรรเทาผลกระทบ แต่ไม่ได้ช่วยทดแทนความสูญเสียทั้งหมด และปีนี้ก็ดูเหมือนว่าผลกระทบจากโควิดจะยังไม่จบลงง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานและอาหารที่พุ่งสูง อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย 

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งและความยากจนที่พุ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X