ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (21 ตุลาคม) ที่ระดับ 38.23 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 38.12 บาทต่อดอลลาร์ และทยอยอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 38.37 บาทต่อดอลลาร์ในช่วง 08.30 น. ตามแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง จากความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังจากที่ล่าสุดรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับ 214,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ยังคงออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงกว่า 5.25% (จาก CME FedWatch Tool) และหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.23%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS กล่าวว่า ความกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ได้ทำให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงทะลุระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นในตลาดประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเริ่มเข้ามาแทรกแซงค่าเงินเพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเยนได้
นอกจากนี้ แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม) ไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และย่อตัวลงต่อเนื่องกลับสู่ระดับ 1,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวลงของราคาทองคำอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงเลือกที่จะเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลวธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่าตราบใดที่ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เงินบาทก็ยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญก่อนหน้าที่ระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ โดยในช่วงนี้แรงกดดันต่อเงินบาทยังคงมาจากแรงขายบอนด์ระยะยาวของไทยจากนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ โฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวก็มีส่วนช่วยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าเช่นกัน ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อเงินเยนที่ล่าสุดอ่อนค่าลงมาเข้าใกล้ระดับ 25.28 บาทต่อ 100 เยน อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ยังคาดว่าเงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 38.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวอาจเห็นบรรดาผู้ส่งออกมาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติที่มีสถานะ Short เงินบาท ก็อาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Short เงินบาทในโซนดังกล่าวได้เช่นกัน อีกทั้งแรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดน้อยลง และเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิ ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในระยะนี้ จึงยังมองกรอบเงินบาทวันนี้อยู่ที่ระดับ 38.15-38.45 บาทต่อดอลลาร์