×

กสทช. พิรงรอง แจงลงมติค้านดีล TRUE-DTAC ห่วงผูกขาดการค้า ลดการแข่งขัน และส่งผลกระทบในวงกว้าง

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2022
  • LOADING...

วานนี้ (20 ตุลาคม) ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กภายหลังจากที่ กสทช. มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวม TRUE-DTAC พร้อมกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม

 

ศ.พิรงรองระบุว่า วันนี้เป็นการประชุมยาวที่สุดในชีวิตคือ 11 ชั่วโมงเศษ จึงขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายถึงเหตุผลที่สงวนความเห็น และเป็นเสียงส่วนน้อยในการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ

 

ในทางกฎหมาย การตัดสินใจสงวนความเห็นที่จะรับทราบการรวมธุรกิจ และยืนยันที่จะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

เหตุผลสนับสนุนมี 7 ข้อหลักดังต่อไปนี้

 

  1. เมื่อรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC แล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) 

 

ดังนั้น ทั้ง TUC และ DTN จะกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ก่อนการรวมธุรกิจ TUC มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 31.99 และ DTN มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17.41 ภายหลังการรวมธุรกิจ NewCo จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40 และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย หรือเกิดสภาวะ Duopoly

 

  1. SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบายการสื่อสารระดับโลก สรุปว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมดในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่, การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าส่ง, การร่วมใช้คลื่น (Roaming) และการโอนคลื่นความถี่ (Spectrum Transfer) เป็นต้น 

 

ในบริบทของเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างประเทศไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ที่คนใช้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาต ด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการแข่งขันสูงและเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ

 

  1. การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่บังคับผู้ขอรวมธุรกิจนั้น ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม โดยในส่วนของ กสทช. ก็จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่ 

 

  1. ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเอกสารประกอบการขอรวมธุรกิจ ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ

 

  1. การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม

 

  1. การให้รวมธุรกิจจะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก เช่น กรณีการรวมธุรกิจของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวนคืนจากภาวะผูกขาดโดยผู้ประกอบการหนึ่งหรือสองรายไปสู่สภาพการแข่งขันก่อนการรวมธุรกิจ

 

  1. หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate) รายใหญ่ ซึ่งครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X