ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันดีมานด์พันธบัตรรัฐบาลไทยยังแข็งแกร่ง แม้อัตราผลตอบแทนเคลื่อนไหวผันผวนบ้าง และสูงขึ้น 1.19% จากต้นปีแตะ 3.11% พร้อมระบุ ไม่เห็นการไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ
แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่า ความต้องการพันธบัตรรัฐบาลไทยยังแข็งแกร่ง แม้อัตราผลตอบแทนอัตราพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีมีความผันผวนบ้าง แต่ก็เป็นไปตามตลาด และอยู่ในขอบเขตที่บริหารได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
“หนึ่ง เวลาเราขายพันธบัตรทุกรอบ ขายได้ครบทุกรอบ ไม่มีปัญหา สอง Bid Coverage Ratio ยังค่อนข้างดี สาม แม้นักลงทุนต่างประเทศมีออกและเข้า แต่ไม่ได้ออกอย่างมีนัยสำคัญ” แพตริเซียกล่าว
อนึ่ง Bid Coverage Ratio หมายถึงวงเงินรวมที่เสนอประมูลแบบแข่งขันราคาต่อวงเงินจำหน่าย ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจลงทุนในตราสารหนี้
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบัน อุปทาน (Supply) การออกพันธบัตรและหุ้นกู้จากภาคเอกชนค่อนข้างสูงอย่างมากในตอนนี้ แต่ความต้องการ (Demand) ทั้งโลกก็เยอะเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกยังมีเงิน และกำลังเสาะหาแหล่งลงทุนที่มีเครดิตค่อนข้างดี
ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากล (Credit Rating Agency) เช่น Moody’s, S&P และ Fitch เชื่อมั่นและกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศไทยมีฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง มีความสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง (High Debt Affordability) และคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับ BBB+/Baa1 ซึ่งอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ท่ามกลางวิกฤต
ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ The Wall Street Journal แสดงให้เห็นว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ในวันที่ 12 ตุลาคม อยู่ที่ 3.11% เพิ่มขึ้น 1.19% จากต้นปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) อยู่ที่ 2%
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น จะหมายถึงราคาพันธบัตรลดลง ซึ่งอาจสะท้อนว่านักลงทุนออกจากตลาดไปบ้าง
โดยหากนักลงทุนซื้อพันธบัตรที่ราคาต่ำกว่าราคาพาร์ นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทน (Yield) ในอัตราที่สูงกว่า Coupon และในทางตรงข้าม หากซื้อพันธบัตรที่ราคาสูงกว่าราคาพาร์ นักลงทุนก็จะได้รับ Yield ในอัตราที่ต่ากว่า Coupon
มองไทยไร้ความเสี่ยง ‘Debt Distress’
จากกรณีที่ Gita Gopinath รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กังวลว่า ประเทศรายได้ต่ำจะเผชิญกับปัญหา Debt Distress ซึ่งเป็นภาวะที่รัฐบาลประสบกับความยากลำบากในการชำระหนี้ ผู้อำนวยการ สบน. ยืนยันว่า ไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอันดับเครดิตค่อนข้างดี
“ไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเรายังสามารถระดมเงินทุนได้ครบ ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้ครบ โดยประเทศที่ได้รับความสนใจจากประเด็นนี้ มักเป็นประเทศที่เริ่มมีรายได้ไม่เพียงพอ ผลกระทบจากโควิดเข้าไปซ้ำเติม ดอกเบี้ยสูง มีเครดิตเรตติ้งไม่ดี พอเครดิตเรตติ้งไม่ดี เวลาจะกู้ก็แพง และหลายประเทศก็พึ่งพาเงินกู้ต่างประเทศเยอะ พอดอลลาร์แข็งขึ้นมา สกุลเงินท้องถิ่นอ่อน ก็จะประสบปัญหาการหาเงินมาชำระ” แพตริเซียกล่าว
บาทอ่อนกระทบการจ่ายหนี้ของไทย ‘น้อยกว่า’ ประเทศอื่นๆ
ผู้อำนวยการ สบน. ยอมรับว่า การอ่อนค่าของเงินบาทช่วงนี้ย่อมทำให้เราต้องจ่ายหนี้แพงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ จึงยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ไม่เท่าประเทศอื่นๆ ที่กู้เงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพราะไทยกู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่
แพตริเซียกล่าวอีกว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมดของไทยอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านล้านบาท จำนวนนี้เป็นหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 1.72% ซึ่งถือเป็นระดับที่น้อยมาก และในปีงบ 2566 สบน. เตรียมกู้หนี้จากองค์กรระหว่างประเทศอีก 3 หมื่นล้านบาท ก็นับเป็นจำนวนที่ไม่ได้เยอะ
อ้างอิง: