*บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง*
ข่าวการกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู นับเป็นข่าวสะเทือนใจทั้งกับชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่อีกมุมหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ปัญหาการกราดยิงถือเป็นปัญหาใหญ่และมีจำนวนเพื่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสถิติการกราดยิงในสถานศึกษาแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ที่จำนวน 93 ครั้งในปีการศึกษา 2020-2021
Luckiest Girl Alive คือหนังเรื่องใหม่ที่สตรีมใน Netflix เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม ที่นำเอาเรื่องราวการกราดยิงในโรงเรียนมาแตกประเด็นถึงปัญหาการกลั่นแกล้งและล่วงละเมิดทางเพศ สร้างจากนวนิยายขายดีชื่อเดียวกันในปี 2015 ว่าด้วยเรื่องราวของ Ani FaNelli (Mila Kunis) คอลัมนิสต์เรื่องเพศในนิตยสารผู้หญิงชื่อดังของนิวยอร์ก เธอกำลังจะแต่งงานกับทายาทตระกูลผู้ดี แต่ภายใต้เปลือกนอกที่เกือบสมบูรณ์แบบ Ani กลับมีปมอะไรบางอย่าง นั่นคือเธอเป็นผู้รอดชีวิตจากการกราดยิงในโรงเรียนเอกชนชื่อดังเมื่อปี 1999 ซ้ำร้ายยังถูกกล่าวหาจาก Dean (Alex Barone) อีกหนึ่งผู้รอดชีวิต ว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดอีกต่างหาก Ani ทำทุกวิถีทางเพื่อลืมเรื่องเลวร้ายในอดีต แต่แล้ววันหนึ่งเธอถูกชักชวนให้ถ่ายทำสารคดีรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ต้องกลับไปรื้อค้นปมในใจว่าจะยอมรับและก้าวผ่านไปได้อย่างไร
หนังเปิดเรื่องแบบชวนตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว Ani คือผู้สมคบคิดหรือเหยื่อ ด้วยพฤติกรรมผิดปกติหลายๆ อย่าง โดยการให้คนดูได้ยินเสียงพูดในใจที่ดูย้อนแย้งกับการแสดงออก ส่วนภาพในจินตนาการของเธอที่มักออกไปในทางความรุนแรงเสมอ ก่อนจะค่อยๆ เปิดเผยเรื่องราวในอดีตเมื่อครั้งที่ Ani ยังใช้ชื่อว่า Tiffani สมัยเรียนไฮสคูล
Tiffani คือเด็กสาวพลัสไซส์ผู้ได้ทุนด้านภาษาให้เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีแต่ทายาทผู้ดี ต่อมาในปาร์ตี้คืนหนึ่ง Tiffani ถูกเพื่อน 3 คนล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแฟนหนุ่มของเธอเอง พอเรื่องรู้ไปถึงครูที่โรงเรียน Tiffani ทั้งรู้สึกสับสนและกดดันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอตัดสินใจไม่บอกเรื่องนี้กับแม่ และเอาไปปรึกษาเพื่อนผู้เคยถูกกลั่นแกล้งอีก 2 คน คือ Arthur (Thomas Barbusca) และ Ben (David Webster) จนกลายเป็นที่มาของการสังหารหมู่ในโรงเรียน
เรื่องราวเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่หนังต้องการเน้นย้ำคือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด อย่างเช่นตัว Tiffani เอง ที่ไม่แน่ใจว่าจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอว่าการข่มขืนได้หรือไม่ รวมถึงการไต่สวนด้วยคำถามจี้ และการจะนำเรื่องนี้ไปแจ้งกับคนที่เหยื่อไม่ต้องการ ทุกอย่างล้วนสร้างความกดดัน และมักจะจบลงด้วยการไม่เอาความในที่สุด
ที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือการโทษเหยื่อ และการตีตรา อย่างเช่นในฉากที่แม่ Tiffani รู้ความจริง แล้วมองว่าสิ่งนี้คือความสกปรกที่ติดตัวลูกจนไม่สมควรไปบอกใครต่อใคร และแม้จะผ่านไปหลายปี เมื่อ Ani หรือ Tiffani ในอดีตเลือกที่จะลุกขึ้นสู้ แฟนหนุ่มก็กลับอยากให้เธออยู่ในมุมเงียบๆ มากกว่า
นอกจากนี้การถูกล่วงละเมิดยังมีผลต่อพฤติกรรมของเหยื่อ อย่างเช่นการกล้าพูดเรื่องเพศมากกว่าคนอื่น เช่น Ani เป็นคอลัมนิสต์ด้านเพศ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้ชอบ หรือความต้องการละทิ้งตัวตนเก่าๆ ทั้งการเปลี่ยนชื่อ ลดน้ำหนัก การสร้างภาพลักษณ์หรูเลิศ รวมทั้งการยอมทำในสิ่งที่ขัดกับความต้องการของตัวเองทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำให้มีความสุขเลยก็ตาม ซึ่งในท้ายที่สุดถ้าไม่ยอมรับหรือพยามกลบเกลื่อน มันก็ส่งผลกระทบต่อทุกอย่าง เช่นตัว Ani ไม่สามารถเขียนเรื่องจากใจจริงได้ เพราะความเกรงกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับคนรอบข้าง
Luckiest Girl Alive เปิดเรื่องได้อย่างน่าติดตามและดึงประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาพูด แต่น่าเสียดายที่การเล่าเรื่องยังขาดชั้นเชิงและดูผิวเผินเกินไป ซึ่งน่าจะมาจากการย่อยรายละเอียดของบทประพันธ์มาได้ไม่มาก ทำให้เรื่องจิตวิทยาออกไปในแนวกว้างมากกว่าเชิงลึก อีกทั้งปมส่วนใหญ่ก็คาดเดาได้ ซึ่งถ้าเทียกับหนังแนวใกล้ๆ กันอย่าง Gone Girl ก็เรียกว่ายังห่างชั้นไปมาก โดยเฉพาะช่วงท้ายของเรื่องที่ดูตั้งใจที่จะสร้างพลังให้กับเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ และทำออกมาค่อนข้างยืดยาวเกินไป จนกลายเป็นความซ้ำซากจำเจที่เราเคยได้เห็นจากหนังหลายๆ เรื่องมาแล้ว
สิ่งที่น่าชื่นชมคือการแสดงของ Mila Kunis ที่ถ่ายทอดความกดดันของเหยื่อผู้พยายามซ่อนเร้นอดีตของตัวเองออกมาได้ดี ซึ่งถ้าหากบทส่งเสริมเธอมากกว่านี้ นี่จะเป็นบทบาทที่น่าจดจำของเธอทีเดียว
รับชม Luckiest Girl Alive ได้ทาง Netflix
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่