ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) ถูกบังคับให้เข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรอีกครั้ง โดยประกาศขยายการดำเนินการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินให้ครอบคลุมพันธบัตรที่อ้างอิงกับดัชนีด้วย หลังพบว่าพันธบัตรดังกล่าวเผชิญแรงเทขายครั้งใหญ่ พร้อมเตือนว่าความผิดปกติในตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษอาจทำให้เกิด ‘ความเสี่ยงสำคัญ’ ต่อเสถียรภาพทางการเงินประเทศได้
ในวันนี้ (11 ตุลาคม) ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) ประกาศว่า จะขยายการดำเนินการซื้อพันธบัตรฉุกเฉิน รวมไปถึงพันธบัตรที่อ้างอิงกับดัชนี (Index-Linked Gilt) ตั้งแต่วันที่ 11-14 ตุลาคมนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ธนาคารกลางอังกฤษประกาศซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยวงเงิน 6.5 หมื่นล้านปอนด์ หวังสร้างเสถียรภาพทางการเงิน
- เกิดอะไรขึ้นกับระบบการเงินในอังกฤษ ทำไมธนาคารกลางอังกฤษต้องกลับลำมาทำ QE?
- กูรูชี้ ‘รัฐบาลอังกฤษ’ เดินเกมพลาด ผลักเศรษฐกิจติดหล่ม จี้จุดอ่อนคือขาดการประเมินงบประ
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เรียกว่า Gilts โดยพันธบัตรที่อ้างอิงกับดัชนี (Index-Linked Gilt) จะมีการจ่ายผลตอบแทน (Payout) สอดคล้องดัชนีราคาขายปลีก
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ นับเป็นการขยายโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 2 ของธนาคารกลางอังกฤษในรอบหลายวัน และเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 ตุลาคม) ธนาคารกลางอังกฤษได้ประกาศเพิ่มขีดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเท่าตัว เป็น 1 หมื่นล้านปอนด์ต่อวัน จากที่กำหนดไว้ 5 พันล้านปอนด์ ก่อนโครงการซื้อพันธบัตรที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้จะสิ้นสุดในวันศุกร์นี้ (14 ตุลาคม)
ก่อนหน้านี้ BOE เปิดตัวโครงการแทรกแซงฉุกเฉินครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กันยายน หลังเกิดการเทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษประเภทอายุยาวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า “ช่วงต้นสัปดาห์นี้ BOE ได้เห็นการปรับราคาของพันธบัตรรัฐบาลของสหราชอาณาจักรอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะพันธบัตรที่อ้างอิงกับดัชนี (Index-Linked Gilt) โดยความผิดปกติในตลาดดังกล่าวและโอกาสที่จะเกิดแรงเทขาย (Fire Sale) อาจทำให้เกิดความเสี่ยงสำคัญต่อความมั่นคงทางการเงินของสหราชอาณาจักรได้
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 ตุลาคม) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษที่อ้างอิงกับดัชนี (Index-Linked Gilt) อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 0.64% ขณะที่ราคาลดลงอย่างมากถึง 5.5% ส่วนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษที่อ้างอิงกับดัชนี อายุ 30 ปี มีราคาลดลง 16% ในวันนี้ โดยผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 1.5% จากอยู่ที่ -1.5% เมื่อ 6 เดือนก่อน โดยการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่แบบนี้นับเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมากในตลาดพันธบัตรรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะเคลื่อนไหวผกผันกับราคา โดยเมื่อเกิดแรงเทขายจะทำให้ราคาลดลง แต่ผลตอบแทนสูงขึ้น โดยผลตอบแทนที่สูงขึ้นถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่รัฐบาล
อ้างอิง: