คาบสมุทรเกาหลีกลับมาตึงเครียดและร้อนระอุอีกครั้ง หลังทางการเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง โดยทดสอบไปแล้วถึง 7 ครั้งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้
โดย คิมจองอึน เดินหน้าพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์และทดสอบขีปนาวุธทางทหารอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 3 ของเกาหลีเหนือต่อจากปู่และพ่อของเขา ซึ่งเกาหลีเหนือเคยทำสถิติทดสอบขีปนาวุธถึง 23 ครั้งในปี 2017 โดยขีปนาวุธอย่างน้อย 2 ลูกถูกยิงผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่น รวมถึงมีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ลูกแรกของเกาหลีเหนือ ซึ่งสร้างความตึงเครียดให้กับคาบสมุทรเกาหลีอย่างมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในช่วงเวลานั้น
🚀 ทำไมเกาหลีเหนือถึงยิงขีปนาวุธต่อเนื่องในเวลานี้? 🚀
1. บริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและเอื้อให้ทดสอบ
บทวิเคราะห์จากสื่อต่างประเทศระบุว่า การยิงทดสอบขีปนาวุธไม่ใช่สิ่งใหม่ในเกาหลีเหนือ เนื่องจากโครงการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2017 ที่คาบสมุทรเกาหลีมีความตึงเครียดอย่างมาก จนนำไปสู่การจัดประชุมสุดยอดผู้นำระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขณะนั้น และ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2018 ที่สิงคโปร์ ก่อนที่จะมีการประชุมอีก 2 ครั้งที่เวียดนามและเขตปลอดทหารชายแดนเกาหลีในปี 2019 ด้วยความหวังที่จะยุติและปลดอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือที่สั่นคลอนความมั่นคงของประชาคมโลก
ทั้งสองประเทศมีท่าทีประนีประนอมระหว่างกัน โดยเกาหลีเหนือชะลอโครงการพัฒนาอาวุธและทำลายไซต์งานทดสอบอาวุธนิวเคลียร์หลายแห่งในประเทศ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เองก็ระงับการซ้อมรบสเกลใหญ่กับบรรดาประเทศพันธมิตรในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ รวมถึงพันธมิตรในภูมิภาคอื่นๆ แต่ดูเหมือนว่าท้ายที่สุดแล้วความพยายามดังกล่าวจะไม่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน และดูเหมือนว่าเกาหลีเหนือปรับท่าทีอีกครั้งภายหลังสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์
โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้เกาหลีเหนือตัดสินใจปิดพรมแดนประเทศทั้งหมด จำนวนการทดสอบขีปนาวุธเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง (ปี 2020 จำนวน 4 ครั้ง และปี 2021 จำนวน 8 ครั้ง) เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องโรคระบาด แต่หลังจากที่ทางการเกาเหลีเหนือประกาศชัยชนะเหนือโควิดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประกอบกับการที่รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ เข้ามากระชับความสัมพันธ์กับบรรดาพันธมิตรในเอเชียตะวันออก นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะยิงทดสอบขีปนาวุธ หลังจากที่อัดอั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขและบริบทที่จำกัดมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ด้าน อังเดร แลนคอฟ อาจารย์ประจำ Kookmin University ในเกาหลีใต้ ระบุว่า พวกเขาไม่ได้ทดสอบขีปนาวุธได้อย่างเต็มที่มานานหลายปี เนื่องจากบริบทแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะในทางการเมืองโลก บรรดานายพลและวิศวกรเกาหลีเหนือจึงมีความต้องการอย่างมากที่จะทดสอบว่าของเล่นของพวกเขายังคงมีประสิทธิภาพและใช้งานได้ดีอยู่ อีกทั้งช่วงเวลานี้โลกตะวันตกเองก็ต่างมุ่งความสนใจไปยังสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงยิ่งทำให้เกาหลีเหนือสบโอกาสที่จะทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง
2. ภาพตัวอย่างที่เกาหลีเหนือรับรู้จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
กรณีรัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครนในช่วงกว่า 7 เดือนที่ผ่านมา อาจกลายเป็นภาพตัวอย่างในโสตการรับรู้ของเกาหลีเหนือ เป็นแรงขับที่ช่วยสนับสนุนความคิดและจุดยืนของเกาหลีเหนือในการเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป
สถานการณ์ในสงครามรัสเซีย-ยูเครนช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญของอาวุธเหล่านี้ เพราะถ้าคุณมีอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ทรงพลัง คุณแทบจะได้รับการยกเว้นโทษจากสิ่งที่คุณทำลงไป และถ้าคุณไม่มีสิ่งเหล่านี้ คุณจะต้องพบเจอกับความยากลำบากอย่างแน่นอน
ที่ผ่านมาทางการยูเครนและพันธมิตรในประชาคมโลกต่างทำได้เพียงประณามและดำเนินมาตรการคว่ำบาตร เพื่อกดดันรัสเซียในทางเศรษฐกิจ จนถึงขั้นที่ดินแดนบางส่วนของยูเครนอย่างโดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน ได้รับการผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา แม้จะอ้างผลประชามติที่มิชอบด้วยกฎหมายในสายตายูเครนและชาติตะวันตกก็ตาม ซึ่งเป็นการผนวกดินแดนจากยูเครนเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 8 ปี นับจากการผนวกรวมแหลมไครเมียเมื่อปี 2014
โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่หลายฝ่ายยังคงสงวนท่าทีต่อกรณีนี้ เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ มีกองทัพที่ทรงพลัง และประชาคมโลกต่างมีบทเรียนจากสงครามใหญ่เมื่อครั้งอดีต
3. การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับจีนและรัสเซีย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือกระชับความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เกาหลีเหนือได้รับแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรและจำเป็นต้องปิดพรมแดนประเทศ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด
รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามที่จะกดดันเกาหลีเหนือต่อเนื่อง และเสนอมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือระลอกใหม่ที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาบนเวทีของสหประชาชาติ แต่จีนและรัสเซียในฐานะ 2 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกลับยก Veto คัดค้านแนวทางดังกล่าวของสหรัฐฯ นับเป็นการยก Veto คัดค้านมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษนับตั้งแต่ปี 2006
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเติมเชื้อไฟและเพิ่มแรงขับให้กับเกาหลีเหนือที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองยังมีประเทศมหาอำนาจบนเวทีโลกคอยให้การสนับสนุน
4. ประกาศศักดาความแข็งแกร่ง มุ่งสู่การเป็น ‘รัฐนิวเคลียร์’
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คิมจองอึน ประกาศศักดาความแข็งแกร่งผ่านกฎหมายฉบับใหม่ ผลักดันให้เกาหลีเหนือเป็น ‘รัฐนิวเคลียร์’ (Nuclear States) ซึ่งเป็นประเทศที่จะไม่ยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ และจะเดินหน้าทดสอบและพัฒนาโครงการดังกล่าวนี้ต่อไป โดยมองว่าอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ทรงอานุภาพนี้จะเป็นหลักประกันสำคัญต่อความมั่นคงของเกาหลีเหนือ
ด้าน ยังมูจิน อาจารย์ประจำ University of North Korean Studies ในเกาหลีใต้ ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสถานะและกระชับความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียมากยิ่งขึ้น ในฐานะเป็นรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือยังเป็นไปเพื่อแสดงแสนยานุภาพในประชาคมโลก และฟื้นฟูภาพลักษณ์ของผู้นำสูงสุดและระบอบการเมืองที่เข้มแข็งภายในเกาหลีเหนือเองอีกด้วย
โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เกาหลีเหนือจะลดความถี่ในการทดสอบขีปนาวุธลงในช่วงที่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ที่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี) จะเริ่มเปิดฉากขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ฉันมิตรที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 3 ในการประชุมครั้งนี้ และจะได้รับการรับรองในสภาประชาชน หรือสภาตรายาง อย่างเป็นทางการอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2023
และหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่ราว 1 สัปดาห์ปิดฉากลง ทางการเกาหลีเหนือก็อาจกลับมาทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง และอาจตัดสินใจทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ในปีนี้ก็เป็นได้ เพื่อตอกย้ำและสร้างการยอมรับในฐานะรัฐนิวเคลียร์อย่างแท้จริง
แฟ้มภาพ: rogistok / Shutterstock
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/10/07/asia/north-korea-missile-testing-frequency-explainer-intl-hnk/index.html
- https://www.aljazeera.com/news/2022/10/8/north-korea-fires-two-missiles-after-us-south-korea-drills
- https://edition.cnn.com/2018/03/06/asia/north-korea-missile-tests-2017-intl/index.html
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/nkorea-fires-ballistic-missile-yonhap-2022-10-08/