×

‘คืนมืดที่มาลัง’ บันทึกสีดำ โศกนาฏกรรมลูกหนังอินโดนีเซีย

03.10.2022
  • LOADING...

เช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 ตุลาคม) มีข่าวร้ายที่ไม่มีใครอยากได้ยินเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์ ‘เหยียบกันตาย’ ของแฟนฟุตบอลในประเทศอินโดนีเซีย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 125 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 180 คน

 

โดยเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่สนามกันจูรูฮัน เมืองมาลัง ในเกมฟุตบอลลีกของประเทศอินโดนีเซีย คู่ระหว่างอารีมา เอฟซี ซึ่งเป็นเจ้าบ้านต้อนรับการมาเยือนของเปอร์เซบายา สุราบายา ที่ทำการแข่งขันในช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น โดยเป็นเหตุความวุ่นวายในช่วงหลังจากจบการแข่งขันที่เปอร์เซบายาบุกมาคว้าชัยชนะได้ 3-2

 

จากภาพที่มีการบันทึกไว้และมีการเผยแพร่ออกมา จะเห็นแฟนฟุตบอลกรูลงไปในสนามจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะเข้าควบคุมสถานการณ์ด้วยการใช้กระบองตี และมีการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งถูกวิพากษ์ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในสนามที่เลวร้ายที่สุดอีกครั้งของโลก


เกิดอะไรขึ้นกันแน่ใน ‘คืนมืดที่มาลัง’?

 

บันทึกฉบับที่ 1: ไอ้ฆาตกร!

 

จากรายงานข่าวด่วนที่สำนักข่าวต่างๆ รายงาน ทำให้โลกได้รับรู้ว่าเกิดเหตุโศกนาฏกรรมอีกครั้งที่ประเทศอินโดนีเซีย

 

สิ่งที่เรารู้ในเบื้องต้นคือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจบเกมระหว่างอารีมา เอฟซี ที่พบกับเปอร์เซบายา สุราบายา ซึ่งทั้งสองทีมนี้เป็นคู่อริกัน โดยเหตุการณ์ลุกลามจากการที่แฟนฟุตบอลได้กรูกันลงไปในสนาม ก่อนที่จะมีการเข้าควบคุมสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

โดยเจ้าหน้าที่มีการใช้กระบองและแก๊สน้ำตาจนเป็นเหตุให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย และเกิดการเหยียบกันตายของแฟนฟุตบอลจำนวนมาก ซึ่งเสียชีวิตโดยขาดอากาศหายใจ

 

รายงานเบื้องต้นระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนมากกว่า 120 คน และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 180 คน

 

ชาวอินโดนีเซียที่ได้รับรู้เรื่องราวในช่วงเช้าวันอาทิตย์ต่างร่วมกันประณามเจ้าหน้าที่ด้วยคำว่า ‘Pemnunuh’ หรือ ‘ฆาตกร’ ที่กลายเป็นเทรนด์บนทวิตเตอร์ มีการทวีตมากกว่า 11,500 ข้อความ เช่นเดียวกับคำว่า ‘Tear Gas’ หรือแก๊สน้ำตา และ ‘PrayForKanjuruhan’ ซึ่งมาจากชื่อของสนามกีฬาที่เกิดเหตุสลดขึ้นที่ติดเทรนด์เช่นกัน

 

หนึ่งในผู้ใช้ทวิตเตอร์อ้างว่าหลาน 3 คนเสียชีวิตในสนาม “ใครก็ตามที่เป็นคนยิงแก๊สน้ำตาเมื่อคืนนี้ แกมันคือไอ้ฆาตกร”

 

ขณะที่หนึ่งในผู้สูญเสียอย่าง บัมบัง ซิสวันโต ที่พาภรรยาและลูกชายรวมถึงหลานชายไปชมเกมด้วยรวม 4 คน แต่สุดท้ายกลับมาพร้อมลมหายใจได้แค่ 3 คน

 

“ผมพาลูกชายกลับมาบ้านพร้อมกับศพหลานของผม พวกเขาโหดเหี้ยมมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจพวกนี้โหดเหี้ยมเกินไป”

 

ขณะที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ออกแถลงต่อประชาชนชาวอินโดนีเซีย “ผมขอแสดงความเสียใจต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น และผมหวังว่ามันจะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสุดท้ายของประเทศนี้”

 

สำหรับลีกฟุตบอลพักการแข่งขันทันที และแบนห้ามไม่ให้แฟนบอลอารีมาเข้าสนามอีกในฤดูกาลนี้

 

บันทึกฉบับที่ 2: คำบอกเล่าของพยานผู้เห็นเหตุการณ์

 

หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และเห็นทุกอย่างเป็นอย่างดีคือ โจชัว ที่เดินทางไปชมเกมการแข่งขันนัดนี้พร้อมกับภรรยาและเพื่อนอีก 13 คน ซึ่งทุกคนเป็นแฟนของทีมอารีมา

 

ทีมอารีมา เอฟซี นั้นเป็นสโมสรฟุตบอลที่เก่าแก่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1987 เป็น 1 ใน 3 สโมสรของอินโดนีเซียที่เคยผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ศึกฟุตบอลเอเอฟซีคัพ ซึ่งคู่ปรับในสนามของพวกเขาก็คือผู้มาเยือนในเกมนี้อย่างเปอร์เซบายา สุราบายา

 

เกมนี้ถูกขนานนามว่าเป็นเกม ‘Derby Jatim’ หรือดาร์บีแมตช์แห่งชวาตะวันออก ซึ่งสำหรับชาวอินโดนีเซียแล้วเป็น 1 ใน 2 ดาร์บีแมตช์ที่ดุเดือดเลือดพล่านที่สุด (อีกแมตช์คือเปอร์ซิบกับเปอร์ซิยา ที่เรียกกันว่า Laga Klasik) ไม่ต่างอะไรจากเกมดาร์บีแมตช์ของชาวตะวันตกเลยแม้แต่น้อย

 

ก่อนหน้าจะลงสนามในเกมนี้ อารีมา เอฟซี ทำผลงานได้ไม่ดีนัก โดยอยู่ในอันดับที่ 9 และที่สำคัญคือแพ้เกมในบ้านมาแล้ว 2 นัดติดต่อกัน ต่อเปอร์ซิยา จาการ์ตา และเปอร์ซิบ บันดุง ทำให้นัดนี้แฟนบอลของอารีมาหมายมั่นปั้นมือว่าทีมรักจะกำราบคู่ปรับตลอดกาลให้จงได้


นั่นทำให้กระแสก่อนเกมร้อนแรงอย่างยิ่ง ตั๋วเข้าชมการแข่งขันถูกจำหน่ายหมด 42,000 ที่นั่ง (ตามข้อมูลจาก footballindonesia) โดยที่มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า เพื่อการป้องกันเหตุอันตรายจึงไม่มีการจำหน่ายตั๋วให้แฟนบอลทีมเยือนแต่อย่างใด (และนั่นทำให้ไม่ใช่เหตุแฟนบอลตีกัน)

 

ผลปรากฏว่าอารีมาแพ้ในเกมนี้ เป็นการแพ้ในบ้าน 3 นัดติดต่อกัน และเป็นครั้งแรกนับจากปี 2019 ที่พ่ายต่อคู่ปรับตลอดกาลอย่างเปอร์เซบายาด้วย

 

ความพ่ายแพ้ทำให้แฟนฟุตบอลในสนามไม่พอใจทีมอย่างรุนแรง โดยหลังจบเกมผู้เล่นและฝ่ายจัดการทีมอยู่ในสนามเพื่อขอโทษต่อความพ่ายแพ้

 

ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม โดยโจชัวเปิดเผยว่า มีแฟนฟุตบอลที่เดือดดาล 2-3 คนลงมาในสนาม ขณะที่บนอัฒจันทร์ก็มีการด่าทออย่างรุนแรง ทำให้ทางด้านเจ้าหน้าที่พยายามที่จะผลักดันแฟนบอลที่กำลังบุกลงมาในสนามให้กลับขึ้นไปเพื่อความปลอดภัย

 

แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ แฟนฟุตบอลกลับยิ่งลงมาในสนามมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในสนามอย่างมาก ขณะที่ผู้เล่นของทีมเปอร์เซบายารีบกลับเข้าไปในห้องแต่งตัว ทางด้านนักเตะของอารีมาไม่ได้กลับเข้าไป และมีผู้เล่นบางคนที่มีรายงานว่าถูกทำร้าย

 

สถานการณ์เริ่มลุกลามควบคุมไม่ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสนามตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่แฟนบอลในสนาม โดยเริ่มยิงนัดแรกในช่วงเวลาประมาณ 22.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น และมีการยิงต่อเนื่องไปอีกราว 30 นาที

 

แฟนบอลจำนวนมากพยายามจะออกจากสนามแต่ไม่สามารถออกได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปิดกั้นทางออกไว้เพราะภายนอกสนามก็มีเหตุการณ์ปะทะกัน ระหว่างแฟนบอลที่โกรธแค้นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านนอก

 

ในช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เริ่มยิงแก๊สน้ำตาขึ้นมาบนอัฒจันทร์ และทำให้แฟนฟุตบอลหลายร้อยคนพยายามรีบไปยังทางออก

 

โจชัว ภรรยา และเพื่อนทั้งหมด 13 คนอยู่บนที่นั่งวีไอพี แม้จะไม่โดนโดยตรงแต่ควันของแก๊สน้ำตาทำให้หายใจลำบาก และการยิงแก๊สน้ำตาไม่หยุดยิ่งทำให้เหตุการณ์ทุกอย่างโกลาหลขึ้นกว่าเดิม แฟนฟุตบอลหลายคนต้องปีนรั้วสนามที่สูงกว่า 5 เมตรเพื่อหนีฝูงชนที่กำลังแตกตื่น

 

แก๊สน้ำตาทำให้หายใจลำบาก ขณะที่แฟนบอลไม่มีน้ำที่จะช่วยล้างได้เพราะมีการห้ามนำเครื่องดื่มเข้าสนาม ความโกลาหลทำให้ทุกคนพยายามหนีเอาชีวิตรอด และนั่นคือที่มาของโศกนาฏกรรม

 

แฟนฟุตบอลที่เสียชีวิตส่วนใหญ่คือแฟนฟุตบอลที่อยู่บนอัฒจันทร์ ที่เป็นเหยื่อของการเหยียบกันตายจนขาดอากาศหายใจ

 

เวลาราวเที่ยงคืน โจชัวถึงสามารถพาตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนกลับออกจากสนามได้ โดยสิ่งที่เขาเห็นนอกจากร่างจำนวนมากที่นอนบนอัฒจันทร์แล้ว ยังเห็นเศษแก้วแตกกระจายเกลื่อนสนาม รวมถึงมีรถที่ถูกเผาด้วย

 

แต่สิ่งที่เป็นของที่ระลึกจากนรกที่เขาไม่ต้องการได้เลย คือความทรงจำและภาพที่เขาไม่สามารถลบมันได้

 

“เมื่อผมหลับตา ผมยังได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลืออยู่ มันยังดังก้องในหูของผม ผมไม่อยากจะเป็นแฟนบอลอีกแล้ว ผมจะไม่ไปดูฟุตบอลในอินโดนีเซียอีก ผมหวังว่าจะยกเลิกการแข่งฟุตบอลในอินโดนีเซียไปเลย”

 

บันทึกฉบับที่ 3: เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ

 

ซูซี ราฮายู ช่างภาพสาวที่ลงไปทำหน้าที่อยู่ขอบสนามเป็นอีกคนที่เห็นเหตุการณ์ และเธอยืนยันว่าทุกอย่างมาจากการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่

 

“การใช้แก๊สน้ำตามันเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ” ซูซีเปิดเผยต่อ The New York Times “มีคนเป็นลมจำนวนมาก ถ้าไม่ได้มีการใช้แก๊สน้ำตามันก็จะไม่เป็นการจลาจลแบบนี้”

 

ทางด้าน Legal Aid Foundation องค์กรในประเทศอินโดนีเซีย ได้กล่าวประณามการกระทำครั้งนี้ว่า “การบังคับใช้อำนาจเกินขอบเขตด้วยการใช้แก๊สน้ำตาและการควบคุมฝูงชนที่ผิดหลักการ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก”


ทั้งนี้ มีการระบุว่าในระเบียบการรักษาความปลอดภัยของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ระบุเอาไว้ว่าห้ามใช้แก๊สน้ำตาในการควบคุมสถานการณ์อย่างเด็ดขาด


“การใช้แก๊สน้ำตานั้นไม่เป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติในการควบคุมฝูงชน และทำให้แฟนบอลบนอัฒจันทร์ต้องหนีไปยังประตูทางออก ส่งผลให้พวกเขาขาดอากาศหายใจ เป็นลม และถูกผู้อื่นเหยียบ”


ขณะที่ทางด้าน จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนของผู้เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เช่นเดียวกับเหล่าครอบครัวในโลกของฟุตบอลที่ร่วมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

หนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งคือลิเวอร์พูล ทีมฟุตบอลดังจากอังกฤษที่เคยเกิดเหตุโศกนาฏกรรมในสนามฮิลส์โบโรห์ ในเกมฟุตบอลเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศ ที่พบกับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1989 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวมถึง 97 รายด้วยกัน

 

โดยที่สาเหตุมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และการขาดแผนการรักษาความปลอดภัยของแฟนบอลที่ดี ซึ่งยังมีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

บันทึกฉบับที่ 4: แก๊สน้ำตา

 

ในอีกด้านทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกสังคมตัดสินว่าเป็นผู้ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ได้พยายามชี้แจงต่อขั้นตอนการปฏิบัติในการควบคุมสถานการณ์ด้วยการใช้แก๊สน้ำตา

 

เหตุผลเดียวที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำแบบนี้ เพราะแฟนฟุตบอลนั้นเริ่มทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายรถของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสนาม

 

“เราได้ทำตามขั้นตอนทุกอย่างก่อนที่จะใช้แก๊สน้ำตา เพราะพวกเขากำลังจะทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำให้รถเสียหาย” นิโค อาฟินตา สารวัตรตำรวจชวาตะวันออก กล่าวในการแถลงสรุปสถานการณ์ พร้อมเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญว่าเกมการแข่งขันนัดนี้มีการจำหน่ายตั๋วเข้าชมเกินความจุของสนาม

 

ตัวแทนฝ่ายตำรวจระบุว่าสนามแห่งนี้มีความจุแค่ 38,000 ที่นั่ง แต่มีการจำหน่ายตั๋วถึง 42,000 ที่นั่ง และไม่มีแฟนฟุตบอลที่เสียชีวิตจากการถูกฟาดด้วยกระบองของเจ้าหน้าที่ หรือถูกปฏิบัติอย่างรุนแรง แต่เสียชีวิตจากการเหยียบกันตาย

 

และฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็เสียชีวิตด้วย 2 ราย

 

ขณะที่จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นในช่วงแรกยังคลาดเคลื่อน มีทั้งขยับเพิ่มสูงขึ้นและลดลง แต่ตามรายงานในเวลานี้ ตัวเลขปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 125 รายด้วยกัน

 

สำหรับการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจได้กล่าวโจมตีการตัดสินใจว่า เป็นการเลือกวิธีที่อันตรายในการควบคุมฝูงชนที่อยู่ในพื้นที่ปิดอย่างสนามฟุตบอลที่ไม่มีทางออกที่เปิดโล่ง

 

บันทึกฉบับที่ 5: สมุดโน้ตแห่งความตายที่ไม่มีใครเปิดอ่าน

 

สิ่งที่น่าเศร้าคือนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมในสนามฟุตบอลหรือสนามกีฬาเพราะการใช้แก๊สน้ำตา

 

ย้อนกลับไปในปี 2001 ที่ประเทศกานา เกิดเหตุโศกนาฏกรรมคล้ายกันกับที่มาลัง ในเกมระหว่างคูมาซี อาซานเต โคโตโก พบกับฮาร์ตส์ ออฟ โอ๊ก ทีมคู่ปรับ

 

โดยแฟนบอลของทีมคูมาซีไม่พอใจกับผลงานของทีมและได้ขว้างปาสิ่งของลงมา จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงใส่แฟนบอลบนอัฒจันทร์เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการหนีเอาตัวรอด สุดท้ายเหยียบกันตายจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 126 คนด้วยกัน

 

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นในปี 1964 ที่ประเทศเปรู เกิดโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ในเกมฟุตบอลโอลิมปิกรอบคัดเลือก ระหว่างเปรูกับอาร์เจนตินา

 

ในเกมนั้นเกิดความโกลาหลขึ้นเมื่อผู้ตัดสินปฏิเสธจะให้ประตูตีเสมอแก่เปรูในช่วงนาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ทำให้มีแฟนบอลกรูลงมาในสนามเอสตาดิโอ นาซิอองนาล และขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนทำให้ตำรวจพยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการปาระเบิดแก๊สน้ำตาไปยังฝูงชนที่อยู่บนอัฒจันทร์ที่ถูกปิดตาย

 

แฟนฟุตบอลต่างพากันหนีเอาชีวิตรอด แต่มีคนที่พลาดล้มและถูกเหยียบตายในอุโมงค์สนามเป็นจำนวนมาก ไม่นับที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คน และบาดเจ็บเกินกว่า 500 คนเลยทีเดียว

 

บันทึกฉบับที่ 6: ความตายที่มิอาจหลีกเลี่ยง

 

ในความเห็นของผู้ที่คลุกคลีและเห็นมามากเกี่ยวกับวงการฟุตบอลในประเทศอินโดนีเซียอย่าง เจมส์ มอนทาก ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมของแฟนฟุตบอลซึ่งเคยเขียนหนังสือ ‘1312: Among the Ultras’ มองว่าโศกนาฏกรรมที่มาลังไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ

 

มันเป็นสิ่งที่พร้อมจะเกิดขึ้นเสมอในอินโดนีเซีย แค่รอเวลาเท่านั้น

 

“การจัดการที่เลวร้าย สิ่งอำนวยความสะดวกที่เลวร้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เลวร้าย และวัฒนธรรมความรุนแรงของแฟนฟุตบอลบางกลุ่ม ทั้งหมดนี้มันคือหายนะที่รอวันจะเกิดเท่านั้น”

 

ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรมากกว่า 275 ล้านคน และกีฬาฟุตบอลคือกีฬายอดนิยมอันดับ 2 พลังในการเชียร์และสีสันของพวกเขาไม่เป็นสองรองใครก็จริง แต่ชื่อเสียงของฟุตบอลประเทศนี้กลับเป็นชื่อเสียอย่างในเรื่องของความรุนแรงมากกว่า

 

“มันไม่ใช่เรื่องที่ไม่ปกติ เพราะมันเกิดขึ้นบ่อยมาก” มอนทากให้สัมภาษณ์ต่อ DW สำนักข่าวจากเยอรมนี “เราจะได้เห็นรถโค้ชของนักฟุตบอลถูกแฟนบอลโจมตีบ่อยๆ เวลาที่ผลงานย่ำแย่”

 

อีกด้านหนึ่งมอนทากเองคิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนอย่างมาก เพราะจากประสบการณ์ที่เคยพบมา ตำรวจนั้นปฏิบัติต่อแฟนบอลอย่างเลวร้าย ขาดทักษะรวมถึงเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน ทำให้นิยมใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมสถานการณ์


ข้อมูลที่น่าตกใจคือตั้งแต่ปี 1994-2019 มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องจากเหตุในเกมฟุตบอลมากถึง 74 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมฟุตบอลที่เล่นกันถึงชีวิตของชาวอินโดนีเซีย

 

ในปี 2018 ลีกฟุตบอลอินโดนีเซียต้องเคยหยุดพักการแข่งขันจากการเสียชีวิตของ ฮาริงกา ซิริลา แฟนบอลของเปอร์ซิยาที่ถูกแฟนบอลคู่อริเปอร์ซิบ บันดุง รุมทำร้ายจนถึงแก่ความตาย

 

2 ปีก่อนหน้านั้น แฟนบอลของเปอร์ซิบอย่าง มูฮัมหมัด โรวิ อาร์ราห์มาน ก็ประสบชะตากรรมเดียวกันด้วยแฟนบอลในเมืองจาการ์ตา


ตำรวจก็เคยทำร้ายแฟนบอลจนถึงแก่ความตายด้วยเช่นกันในปี 2016 เมื่อ มูฮัมหมัด ฟาห์รีซา แฟนบอลวัย 16 ปี เสียชีวิตจากการถูกตำรวจตีในเกมระหว่างเปอร์ซิยา กับเปอร์เซลา ลามังกัน

 

ขณะที่สนามแข่งขันเองก็เก่า ล้าสมัย ไม่เพียงแต่ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้ แต่ยังขาดการจัดการดูแลเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้แก่แฟนฟุตบอลด้วย

 

กล่าวได้ว่ามีครบทุกองค์ประกอบที่จะทำให้การไปเชียร์ฟุตบอลในสนามที่อินโดนีเซียอันตรายถึงชีวิต

 

บันทึกฉบับที่ 7: การค้นหาความจริงและสิ่งที่ต้องทำ

 

ทางการอินโดนีเซียได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ทั้งหมด โดยคาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้นราว 2 สัปดาห์ด้วยกัน

 

สิ่งที่ทางการจะตัดสินใจขั้นต่อไปคือมีการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายก็จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ขณะที่ญาติของผู้สูญเสียจะได้รับเงินชดเชย

 

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ประเทศอินโดนีเซียจะต้องทำ คือการศึกษาบทเรียนที่แลกมาด้วยชีวิตของแฟนฟุตบอลมากกว่า 125 คน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำอีก ซึ่งอาจหมายถึงการสร้างสนามใหม่ขึ้นทดแทนสนามเก่าที่ล้าสมัยและขาดการดูแล


มีหลายสิ่งหลายอย่างเหลือเกินที่อินโดนีเซียต้องจัดการหลังจากนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ความกระจ่างของคนในประเทศ แต่ยังรวมถึงความมั่นใจจากนานาประเทศด้วย ในฐานะที่พวกเขากำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ในปี 2023 (20 พฤษภาคม – 11 มิถุนายน) ซึ่งอินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันโดยอัตโนมัติ


เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องรอติดตาม แต่สิ่งที่แน่นอนคือคืนมืดที่มาลังนั้น จะเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนชาวอินโดนีเซียไปอีกแสนนาน

 

กับความหวังว่าบทเรียนที่แลกมาด้วยชีวิตผู้คนนับร้อยครั้งนี้ จะทำให้เรื่องเลวร้ายทั้งหมดยุติได้จริงๆ สักที

           

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising