×

3 ตุลาคม 2482 – แก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’

โดย THE STANDARD TEAM
03.10.2022
  • LOADING...
รัฐธรรมนูญ

3 ตุลาคม พ.ศ. 2482 เป็นวันที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นครั้งแรก เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482’ จุดมุ่งหมายก็คือเปลี่ยนชื่อประเทศนั่นเอง 

 

ขณะที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีคือ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม และประธานสภาผู้แทนราษฎรได้แก่ พระยามานวราชเสวี

 

อันเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นก็มีอยู่สั้นๆ ในตัวรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่า

 

“…สมควรเรียกนามประเทศให้ถูกต้องตามชื่อ เชื้อชาติ และความนิยมของประชาชน”

 

การแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามเหตุผลนั้นปรากฏความอยู่ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่บัญญัติว่า 

“นามประเทศนี้ให้เรียกว่า ประเทศไทย และบทแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า สยาม ให้ใช้คำว่า ไทย แทน”

 

ที่น่าสังเกตก็คืออีก 6 ปีต่อมาเมื่อหลวงพิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหมดอำนาจทางทหารไปแล้ว ในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2488 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีของ ทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรี เรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติออกมาดังนี้

 

“ตามที่ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ซึ่งในภาษาอังกฤษให้ใช้ชื่อประเทศไทย ว่า ‘Thailand’ ชื่อประชาชนและสัญชาติว่า ‘Thai’ นั้น

 

“บัดนี้ รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า โดยที่ชื่อของประเทศเราเป็นที่นิยมเรียกกันทางต่างประเทศว่า ‘Siam’ จนแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันอย่างดีทั่วไปมาช้านานแล้ว ฉะนั้นจึงให้ชื่อประเทศในภาษาอังกฤษว่า ‘Siam’ กับชื่อประชาชนและสัญชาติให้ใช้ว่า ‘Siamese’ สำหรับในภาษาต่างประเทศอื่นให้ใช้อนุโลม ส่วนชื่อในภาษาไทยให้คงใช้ว่า ‘ไทย’ ไปตามเดิม”

 

แต่ต่อมารัฐธรรมนูญถาวรฉบับที่ตามมาคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เรียกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และใช้คำนี้ต่อมาในทุกรัฐธรรมนูญ

 

อ้างอิง: สถาบันพระปกเกล้า 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X