สถานการณ์ความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (27 กันยายน) ยังคงปิดตลาดปรับตัวในแดนลบ โดยดัชนี S&P 500 เดินหน้าเข้าสู่ภาวะตลาดหมี และทำสถิติต่ำสุดระลอกใหม่นับตั้งแต่ปี 2020
ทั้งนี้ ดัชนี Dow Jones Industrial Average ปรับตัวลดลง 125.82 จุด หรือ 0.43% ปิดที่ 29,134.99 จุด ด้านดัชนี S&P 500 ลดลง 7.75 จุด หรือ 0.21% ปิดที่ 3,647.29 จุด ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวเพิ่มขึ้น 26.58 จุด หรือ 0.25% ปิดที่ 10,829.50 จุด
ในประเทศมีปัจจัยการเมืองหลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี และให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- 9 หุ้น จ่ายเงินปันผลสูงมากกว่า 5% ตลอด 5 ปี แถมราคาตั้งแต่ต้นปียังบวก
- 10 หุ้น ขึ้น XD จ่ายเงินปันผลสูงสุดในรอบเดือน ก.ย. 65
โดยจนถึงขณะนี้ ดัชนี S&P 500 อยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 24.3% ในเดือนมกราคม ขณะที่ดัชนี Dow Jones ดิ่งลงต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 21.2% และดัชนี Nasdaq ร่วงลงมากกว่า 33% นับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน
นักวิเคราะห์หลายสำนักระบุตรงกันว่า ตลาดหุ้นยังอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากนักลงทุนตอบรับการท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อปรับลดเงินเฟ้อ โดย Fed ยอมรับว่าอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1% ในปีนี้
ทีมนักวิเคราะห์ของ Wells Fargo ประเมินว่า Fed อาจปรับเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระหว่าง 4.75-5.00% ในช่วงไตรมาสแรกปี 2023 ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Dakota Wealth กล่าวว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ Fed กับความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยังคงเป็นปัจจัยกังวลของนักลงทุนที่ลากยาวไปจนถึงปีหน้า
Art Hogan หัวหน้านักกลยุทธ์ของ B. Riley Financial ระบุว่า สิ่งที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์กังวลกันก็คือ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหนักมือเกินไปจนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
ในส่วนของราคาน้ำมันเมื่อวานนี้ (27 กันยายน) ฟื้นตัวขึ้นมา 2 ดอลลาร์ หลังจากปรับตัวลดลงจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน โดยได้แรงหนุนจากความกังวลด้านอุปทานเพราะพายุเฮอร์ริเคนเอียนที่กำลังมุงหน้าสู่อ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ จะกระทบต่อผลิตน้ำมันนอกชายฝั่ง ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินว่า ความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคนลูกนี้จะทำให้บรรดาแท่นขุดนอกชายฝั่งต้องหยุดปฏิบัติการผลิตน้ำมันราว 11%
นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย บวกกับความหวังว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่และชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส (OPEC+) จะรับมือภาวะราคาน้ำมันลดลงด้วยการตัดลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม โดยโอเปกพลัสมีกำหนดจะหารือร่วมกันในวันที่ 5 ตุลาคมนี้
สำหรับราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 1.79 ดอลลาร์ ปิดที่ 78.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 2.21 ดอลลาร์ ปิดที่ 86.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ บวกกับสถานะทางเศรษฐกิจของอเมริกา กระตุ้นให้บรรดานักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำฟื้นตัวเมื่อวานนี้ (27 กันยายน) จากระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 2.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,636.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เมื่อวานนี้ (27 กันยายน) ปรับตัวเพิมขึ้นหลังจากที่ลดลงก่อนหน้า โดยอัตราล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.97% ใกล้แตะระดับสูงสุด 4% ที่เคยทำไว้เมื่อปี 2008
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายมากกว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 4.3%
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/09/26/stock-futures-are-little-changed-after-sp-500-closes-at-lowest-level-since-2020.html
- https://www.cnbc.com/2022/09/27/oil-markets-supply-opec-prices-output-economic-downturn.html
- https://www.cnbc.com/2022/09/27/gold-markets-dollar-federal-reserve-interest-rate-hikes-policy-tightening.html
- https://www.cnbc.com/2022/09/27/treasuries-stumble-as-markets-digest-fed-commentary-and-stocks-slip.html