วานนี้ (26 กันยายน) ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับเพิ่มสัดส่วนสำรองความเสี่ยงสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FOREX) เป็น 20% จาก 0 ในปัจจุบัน เพื่อเป็นการสนับสนุนเสถียรภาพของเงินหยวนท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็ว
ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีนในครั้งนี้สะท้อนถึงเครื่องมือด้านนโยบายในการบริหารจัดการการเก็งกำไรค่าเงิน โดยธนาคารกลางจีนคาดว่าจะสามารถหนุนค่าเงินหยวนได้ในระยะยาว ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันพุธที่ 28 กันยายนนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คุมวิกฤต! ธนาคารของจีนประกาศจัดตั้งกองทุนมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท สำหรับเข้าซื้อ ‘อสังหาริมทรัพย์’ ที่ไปต่อไม่ไหว
- ‘จีน’ ผนึก ‘รัสเซีย’ ดันสกุลเงินกลุ่ม BRICS เป็นทางเลือกชำระเงิน หวังคานอำนาจดอลลาร์สหรัฐ
- 10 กองทุนหุ้นจีน ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือน แกร่งสุด
นักเศรษฐศาสตร์มองว่าการเพิ่มสัดส่วนสำรองความเสี่ยงครั้งนี้จะเพิ่มต้นทุนของการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าโดยธนาคาร และลดความต้องการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในตลาด ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพของเงินหยวน
Ming Ming หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มหภาคของ CITIC Securities กล่าวว่า ตลาดน่าจะแกว่งตัวไปตามความคาดหวังของค่าเงินหยวนที่มีเสถียรภาพ ก่อนอธิบายว่าการอ่อนค่าของค่าเงินหยวนเมื่อไม่นานมานี้เป็นผลจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และภาวะความไม่แน่นอนของโลก
ขณะเดียวกัน Ming ย้ำว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้อยู่ภายใต้การเผชิญกับแรงกดดันจากวิกฤตตามที่รายงานของสื่อต่างประเทศบางฉบับกล่าวอ้าง โดยการปรับลดของค่าเงินหยวนของจีนและค่าเงินเยนของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สื่อตะวันตกบางส่วนมองว่าสกุลเงินเอเชียกำลังร่วงระนาว
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา Liu Guoqiang รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวว่า การแกว่งตัวสองทางของค่าเงินในระยะสั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานปกติ แต่การเคลื่อนไหวของค่าเงินไปในทางเดียวน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก
นอกจากนี้ Liu ยังได้กล่าวเตือนห้ามไม่ให้มีการเก็งกำไรค่าเงินหยวน โดยย้ำว่าจีนมีความสามารถในการสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนที่สมเหตุสมผลตามดุลยพินิจ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าการยอมรับค่าเงินหยวนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาค่าเงินหยวนยังคงรักษาตำแหน่งสกุลเงินที่ใช้งานมากที่สุดอันดับที่ 5 สำหรับการชำระเงินทั่วโลกในแง่ของมูลค่า โดยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น 2.31% จาก 2.2% ในเดือนกรกฎาคม
ด้าน Guan Tao หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ BOC International กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีนล่าสุดเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาเสถียรภาพทั้งค่าเงินหยวนและความคาดหวังของตลาดท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถส่งเสริมความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และหลีกเลี่ยง ‘พฤติกรรมเชิงวัฏจักร’ ที่มากเกินไป และ ‘ผลกระทบหมู่’ (Herd Effect) ในกลุ่มผู้ประกอบการ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ผันผวนมากขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐทะยานสู่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง
Sun Lijian ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางการเงินของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า วัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก ค่าเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์ทั่วโลกอ่อนค่าลง และทำให้เงินทุนไหลออกจากหลายประเทศและหลายภูมิภาค ก่อนชี้ว่าด้วยการเพิ่มสัดส่วนความเสี่ยงสำรอง 20% ธนาคารกลางจีนจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในการจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ รวมถึงลดความเสี่ยงของระบบ
นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 กันยายน) ทาง PBOC ได้ให้คำมั่นว่าจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับรากฐานของสถาบันการเงิน เพื่อการดำเนินการทางการเงินที่ดีของประเทศ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเชิงระบบ
เพียงไม่นานหลังจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศเพิ่มสัดส่วนสำรองความเสี่ยงสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FOREX) ค่าเงินหยวนในต่างประเทศแข็งค่าขึ้นกว่า 300% (pips) เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวานนี้ตลอดทั้งวันค่าเงินหยวนในต่างประเทศซื้อขายอยู่ในช่วง 7.10-7.17 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ 7.1173 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาธนาคารกลางจีนได้ประกาศแผนการที่จะลดข้อกำหนดการสำรองเงินตราต่างประเทศสำหรับสถาบันการเงินลง 1% มาอยู่ที่ 8% ท่ามกลางค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในขณะนั้น โดยก่อนที่การปรับลดจะมีผลในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ธนาคารกลางจีนได้เพิ่มอัตราส่วนความต้องการสำรองอัตราแลกเปลี่ยน 2 ครั้งในปีที่แล้วเมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น เพื่อรักษาความแข็งแกร่งในภาคการส่งออก
ธนาคารกลางจีนเคยปรับลดอัตราส่วนสำรองความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็น 0 จาก 20% เมื่อเดือนตุลาคม 2020 เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนในต่างประเทศพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน
อ้างอิง: