×

ครั้งแรกของโลก ไทยเปิดตัว ‘โควิแทรป’ นวัตกรรมใหม่ สเปรย์พ่นจมูกดักจับ-ยับยั้งเชื้อโควิด เริ่มขาย 1 ต.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
27.09.2022
  • LOADING...

วานนี้ (27 กันยายน) มีการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรชั้นนำภาครัฐ-เอกชน ทั้ง 5 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด (บริษัทย่อยใน บมจ.โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล)

 

ทั้ง 5 ภาคีเครือข่าย ได้ร่วมพัฒนานวัตกรรมจนสามารถผลักดันงานวิจัยและพัฒนา ‘วัคซีนโควิด’ จนเป็นผลิตภัณฑ์ ‘สเปรย์พ่นจมูก’ ที่มีคุณสมบัติดักจับและยับยั้งเชื้อโควิดทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก ภายใต้แบรนด์ เวลล์โควิแทรป แอนติ-โคฟ นาซาล สเปรย์ สำเร็จในที่สุด และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

 

ขณะที่ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะประธานในงาน กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2562 มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แม้จะมีแนวโน้มคลี่คลาย แต่โควิดยังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ทีมวิจัยทั้งจากภาครัฐและเอกชนจึงร่วมกันทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาวัคซีน, ชุดตรวจเชื้อ, เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงการพัฒนาแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติดักจับและยับยั้งเชื้อโควิดทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในรูปแบบของสเปรย์สำหรับพ่นจมูก ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของประเทศไทยที่จะปรากฏสู่สายตาชาวโลก และเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นสถานการณ์โรคระบาดโควิดครั้งนี้ไปได้ จนประสบผลสำเร็จและสามารถยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย โดยถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่ภาคเอกชนเพื่อนำไปต่อยอดในการทำการวิจัย สร้างเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมช่วยยับยั้งเชื้อโควิดได้ในที่สุด

 

นพ.นพพรกล่าวถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกเพื่อยับยั้งเชื้อโควิดทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก ภายใต้แบรนด์เวลล์โควิแทรปครั้งแรกของไทยและของโลกด้วยว่า ขอชื่นชมในความสำเร็จของสเปรย์พ่นจมูกเพื่อยับยั้งเชื้อโควิดที่มีคุณสมบัติดักจับและยับยั้งเชื้อโควิดทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 5 ภาคีเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน ที่ได้ร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมไทยสู่ระดับโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทย ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศ และผลิตภัณฑ์นี้นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนที่จะช่วยในการยับยั้งการติดเชื้อโควิด

 

นพ.นพพรกล่าวว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นถึงความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 5 จากภาครัฐและเอกชน หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ที่ได้มุ่งมั่นและร่วมกันพัฒนานวัตกรรมแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติเพื่อยับยั้งเชื้อโควิด ให้เป็นนวัตกรรมสุขภาพต้นแบบในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพคนไทย และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยมากยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพของประเทศไทย 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความร่วมมือของภาควิชาการ ภาคเอกชน จนสามารถต่อยอดไปยังภาคธุรกิจได้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความร่วมมือในการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ และพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า งานวิจัยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันเวลาในสถานการณ์จริง 

 

ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์โควิด ตลอดจนมุมมองด้านการแพทย์เกี่ยวกับโควิดในปัจจุบันว่า แม้สถานการณ์โควิดจะมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทว่าโควิดก็ยังคงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตลอดจนคอยติดตามข่าวสารและงานวิจัยทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีงานวิจัยที่ยังคงศึกษาถึงผลกระทบกับสุขภาพในระยะยาวของผู้ติดเชื้อเช่นกัน นอกจากนั้น งานวิจัยและนวัตกรรมของจุฬาฯ ในการป้องกันและรักษาผู้ป่วยโควิด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกับคณะต่างๆ ยังมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์สำคัญระดับประเทศต่างๆ เช่น การพัฒนาวัคซีน ChulaCov 19, ชุดตรวจเชื้อ, เครื่องช่วยหายใจ องค์กรมีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำองค์ความรู้จากการทำวิจัย โดยทีมนักวิจัยแพทย์จุฬาฯ คือการพัฒนาแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติดักจับและยับยั้งเชื้อโควิดทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก ซึ่งทีมนักวิจัยได้บ่มเพาะและพัฒนามาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาด โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาคประชาชน และภาครัฐคือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทั่งสามารถพัฒนาแอนติบอดีต้นแบบได้และได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย และมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่ภาคเอกชนเพื่อนำไปต่อยอดในการทำการวิจัยทางคลินิก เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่น่าจะมีส่วนช่วยป้องกันหรือรักษาโรคโควิดจนเป็นผลสำเร็จได้ในวันนี้

 

สำหรับเทคโนโลยี Human Monoclonal Antibody เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีทางชีวภาพชั้นสูง โดยพัฒนาจากการถอดรหัสแอนติบอดีที่ได้จากอาสาสมัครที่หายดีจากโควิด โดยมีภูมิคุ้มกันในระดับดีเยี่ยม

 

สำหรับนวัตกรรม ‘วัคซีนโควิด’ ผลิตภัณฑ์ ‘สเปรย์พ่นจมูก’ ดักจับและยับยั้งเชื้อโควิดทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก เวลล์โควิแทรป แอนติ-โคฟ นาซาล สเปรย์ (Vaill CoviTRAP Anti-CoV Nasal Spray) ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่พร้อมสู่สายตาของชาวโลก ที่มีคุณสมบัติสามารถดักจับและยับยั้งเชื้อโควิดต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง

 

ด้วยหลักการทำงาน 2 กลไก ได้แก่

 

  1. ดักจับด้วย HPMC ที่ทำหน้าที่เคลือบบริเวณพื้นผิวโพรงจมูก ทำให้ความสามารถในการเกาะของเชื้อไวรัสที่บริเวณโพรงจมูกลดลง

 

  1. ยับยั้งเชื้อไวรัสโควิดทางกายภาพที่เข้ามาในบริเวณโพรงจมูกด้วยภูมิคุ้มกัน ใช้พ่นที่โพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง สอดหัวพ่นเข้าไปในโพรงจมูกในแนวตั้ง พ่นข้างละ 1-2 ครั้ง ใช้ได้ตามต้องการทุก 6 ชั่วโมง ได้ถึงวันละ 3 ครั้ง มีขนาด 15 มิลลิเมตร

 

พร้อมจัดจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Official LINE: @Covitrap หรือ Facebook: โควิแทรป ตลอดจนเภสัชกรประจำร้านยาองค์การเภสัชกรรม, สถานพยาบาล The Senizens และ สถานพยาบาล Panacura ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X