จะดีไหม ถ้าจู่ๆ คุณไม่ได้แค่มีเงินมหาศาลหล่นทับฟรีๆ แต่สามารถ ‘สลับชีวิต’ กลายไปเป็นลูกเศรษฐีได้เลย?
The Golden Spoon ซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่จากช่อง MBC ที่เพิ่งเริ่มสตรีมตอนแรกบน Disney+ Hotstar เมื่อคืนนี้ (23 กันยายน) ดัดแปลงมาจากเว็บตูนของนักเขียน gp04fb เล่าเรื่องราวของ อีซึงชอน เด็กหนุ่มฐานะยากจนผู้คาบ ‘ช้อนดิน’ มาเกิด จู่ๆ ก็ได้รับข้อเสนอให้ซื้อ ‘ช้อนทอง’ ที่ทำให้เขาได้สลับชีวิตกับเพื่อนร่วมชั้นอย่าง ฮวังแทยง ซึ่งเป็นทายาทของบริษัทเบอร์ใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้
ซีรีส์นำแสดงโดย ยุกซองแจ, อีจงวอน, จองแชยอน และ ยอนอู กำกับโดยผู้กำกับหน้าใหม่ อีฮันจุน และ ซงฮยอนอุก (จาก Another Miss Oh, The Beauty Inside และ The King’s Affection)
สิ่งที่น่าจับตามองอย่างหนึ่งคือ เรื่องนี้เป็นผลงานใหม่ในรอบ 9 ปีของ คิมอึนฮี และ ยุนอึนกยอง นักเขียนบทที่แท็กทีมด้วยกันมาทุกเรื่อง เช่น Winter Sonata, My Fair Lady, The Prime Minister and I ฯลฯ)
“ทุกคนสวมชุดนักเรียนแบบเดียวกัน นั่งท่าเดียวกัน แต่ประเทศเกาหลีคือสังคมแห่งชนชั้น โลกที่ปกครองโดยพวกคาบช้อนทองมาเกิด”
อีซึงชอนกัดฟันอดทนเมื่อโดนดูถูกและกลั่นแกล้งมาตลอด เขาวิ่งวุ่นทำงานพาร์ตไทม์ในเวลาที่คนอื่นๆ ไปเรียนพิเศษก่อนจะกลับมาอ่านหนังสือเองคนเดียว และครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องเงินก็ไม่ใช่เซฟโซนของเขา เมื่อได้รับช้อนทองที่คนขายบอกว่าจะทำให้เปลี่ยนพ่อแม่และมีชีวิตที่ร่ำรวยได้ เด็กหนุ่มก็ตกลงเชื่ออย่างสนิทใจทันที โดยไม่รู้ว่าเรื่องราววุ่นวายที่ตามมาหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร
‘ช้อน’ ปรากฏเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้เปรียบเทียบชะตาชีวิตกับฐานะของครอบครัวในหลายๆ ภาษา ดังที่ว่า Born with a silver spoon in one’s mouth หรือคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด
ในภาษาเกาหลีเองก็นำสำนวนนี้มาขยายเป็น 수저계급론 Spoon Class Theory หรือ ‘ทฤษฎีชนชั้นช้อน’ ซึ่งแพร่หลายบนโลกออนไลน์ช่วงปี 2015 เป็นการเปรียบเทียบสีช้อนกับฐานะความมั่งคั่งของครอบครัวที่กำหนดความสำเร็จมาตั้งแต่เกิด โดยมากจะแบ่งเป็น 4 ลำดับคือ
- 금수저 ช้อนทอง – กลุ่มคนที่มีทรัพย์สินอย่างน้อย 2 พันล้านวอน และมีรายได้ต่อปีมากกว่า 200 ล้านวอน
- 은수저 ช้อนเงิน – กลุ่มคนที่มีทรัพย์สิน 1 พันล้านวอน และมีรายได้อย่างน้อย 80 ล้านวอนต่อปี
- 동수저 ช้อนทองแดง – กลุ่มคนที่มีทรัพย์สิน 500 ล้านวอน และมีรายได้ต่อปี 55 ล้านวอน
- 흙수저 ช้อนดิน – กลุ่มคนที่มีทรัพย์สินน้อยกว่า 50 ล้านวอน และมีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 20 ล้านวอน
ย้อนไปในยุคของอดีตประธานาธิบดีหญิง พัคกึนฮเย ลูกของผู้นำเผด็จการ พัคจองฮี มีคดีติดสินบนร่วมกับรองประธานบริษัทซัมซุง และอีกหลายๆ คดี กลายเป็นชนวนให้ในปี 2016-2017 นักศึกษาและประชาชนออกมาขับไล่เธอออกจากตำแหน่ง กูเซอุง นักกิจกรรมชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งกล่าวถึงการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์นี้ว่า
“คนช้อนดินก็ต่อต้านการทุจริตกันแน่นอนอยู่แล้ว พวกเขาคิดว่านี่แหละคือวิธีที่ชนชั้นสูงสืบทอดอำนาจและความมั่งคั่ง เรื่องอื้อฉาวนี้นอกจากจะกลายเป็นจุดรวมของความไม่พอใจในวงกว้างต่อวิธีการบริหารประเทศ มันยังเป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีและรัฐบาลด้วย เหมือนดูละครน้ำเน่าอยู่เลย พวกเขาทำทุกอย่างที่ต้องการ พวกเขาทุจริตและคิดว่าจะไม่ถูกลงโทษ และนี่คือสาเหตุที่ผู้คนกำลังโกรธแค้นกันมากๆ”
หลายเรื่องอื้อฉาวของเหล่าอีลีทที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่กันยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ ในสังคม ตั้งแต่ภาคการเมืองและธุรกิจมาจนถึงระบบการศึกษา เช่น ปี 2019 ยุคของอดีตประธานาธิบดี มุนแจอิน มีการทุจริตของลูกสาวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มีผลงานวิชาการทางการแพทย์ขณะยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย คดีนี้ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้สาธารณชนจนนำไปสู่การประท้วงเช่นกัน
ใช่ว่าคนรวยไม่มีวันต้องพยายาม หรือคนจนไม่มีสิทธิ์สร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่หากคนช้อนดินหรือแม้แต่คนชนชั้นกลางยังต้องวิ่งวนในสนามที่แข่งขันกันสูง และกดดันอย่างหนักแบบไม่เห็นหนทางลืมตาอ้าปาก ขณะเดียวกับที่คนช้อนทองไม่ใช่แค่มีต้นทุนและโอกาสสูงกว่า มีมรดกตกทอดเป็นฟูกรองรับ แต่ยังคอยสอดส่องหาช่องว่างเอาเปรียบคนอื่นด้วยอำนาจในทางมิชอบ ก็คงไม่แปลกที่จะมีวาทกรรมใหม่ๆ อย่าง ทฤษฎีชนชั้นช้อน, 헬조선 ‘นรกโชซอน’ หรือ N포세대 ‘รุ่นแห่งการล้มเลิกไม่มีที่สิ้นสุด’ เกิดขึ้นต่อไป เพื่อวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ในยุคสมัยใหม่นี้ที่ไร้ซึ่งความหวังสำหรับพวกเขาเหลือเกิน
ภาพ: MBC
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/2019/10/21/world/asia/south-korea-cho-kuk-gold-spoon-elite.html
- https://www.universityworldnews.com/post.php?story=20190826132715522
- https://www.vice.com/sv/article/jmkd7k/south-korea-scandal-corruption-park-geun-hye
- Kim, H. (2017). “Spoon Theory” and the Fall of a Populist Princess in Seoul. The Journal of Asian Studies, 76(4), 839-849.