หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปรียบเทียบการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวันกับแรดสีเทาที่กำลังพุ่งชน และจีนจำเป็นต้องหยุดยั้ง พร้อมกล่าวโทษสหรัฐฯ ว่าเป็นตัวเร่งความพยายามดังกล่าวของไต้หวัน
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวว่า การเรียกร้องเอกราชของไต้หวันที่ขยายวงกว้างขึ้นนั้นเป็นเพราะสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอยู่ใน ‘จุดเสื่อมถอย’
“การแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวันเปรียบเสมือนแรดสีเทาที่ก่อกวนเราอย่างมาก และต้องถูกหยุดยั้งอย่างเด็ดขาด” หวังกล่าวที่งานของ Asia Society ในนิวยอร์ก ซึ่งเขาเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ “เราทำงานด้วยความจริงใจ และพยายามอย่างที่สุดที่จะรวมชาติอย่างสันติ แต่เราจะไม่มีวันยอมให้กับการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่มีเป้าหมายเพื่อการแบ่งแยกดินแดน”
แรดสีเทา (Gray Rhino) คือคำเปรียบเปรยถึงปัญหาที่ถูกละเลย โดยในอดีต ทางการจีนเคยใช้คำนี้เพื่อกล่าวถึงความเสี่ยงทางการเงินที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูง และมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เช่น ธนาคารเงา ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และหนี้รัฐบาลท้องถิ่น
ในการกล่าวปราศรัยดังกล่าว รัฐมนตรีต่างประเทศจีนยังได้กล่าวโทษร้องทุกข์กรณีที่สหรัฐฯ ปฏิเสธยกเลิกกำแพงภาษีกับจีน บังคับให้ประเทศอื่นๆ เลือกข้าง และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตกอยู่ในอันตราย
หวังอี้ มีกำหนดจะพบกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความหวังค่อนข้างริบหรี่ว่าทั้งสองฝ่ายอาจพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดให้ดีขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันตกต่ำลงถึงขีดสุด เมื่อ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดรอบเกาะไต้หวัน นอกจากนี้ จีนยังยุติการเจรจาเรื่องสภาพอากาศ และการทหารกับสหรัฐฯ อีกด้วย
ในการให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘60 Minutes’ ของสถานีโทรทัศน์ CBS ซึ่งออกอากาศเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า การเป็นเอกราชคือสิ่งที่ชาวไต้หวันต้องตัดสินใจ สหรัฐฯ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือสนับสนุนการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็บอกด้วยว่า สหรัฐฯ พร้อมปกป้องไต้หวัน หากถูกโจมตีจากจีน
ที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งยืนกรานว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอด ขณะที่สหรัฐฯ นั้นใช้แนวทางการทูตแบบ ‘เดินไต่เชือก’ คือในทางหนึ่งก็ยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวของจีน แต่อีกทางหนึ่งนั้นสนับสนุนและพร้อมปกป้องไต้หวันจากจีน แม้จะไม่รับรองว่าไต้หวันเป็นรัฐเอกราช และไม่มีสัมพันธ์ในทางการทูต แต่ยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและขายอาวุธให้กับไต้หวัน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ที่ระบุว่าสหรัฐฯ จะต้องให้การสนับสนุนไต้หวันในการปกป้องตนเอง
การแสดงความเห็นของหวังอี้เป็นเพียงตัวอย่างล่าสุดของการที่ทั้งสองฝ่ายต่างโทษกันไปมา โดยฝ่ายบริหารของไบเดนกล่าวว่า จีนก้าวร้าวกับไต้หวันมากขึ้น และกล่าวหารัฐบาลของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเกี่ยวกับการปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในซินเจียง ไปจนถึงการลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองในฮ่องกง นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังวิพากษ์วิจารณ์จีนที่ปฏิเสธการประณามรัสเซีย ต่อกรณีการเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ด้วย
ภาพ: Lev Radin / Pacific Press / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: