วันนี้ (22 กันยายน) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นิพนธ์ บุญญามณี ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรค พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ร่วมกันให้การต้อนรับ วทันยา บุนนาค หรือมาดามเดียร์ มาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลังลาออกจากการเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า “ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองในรัฐสภาที่ทำลายศรัทธาประชาชน และไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังไว้กับ ส.ส. ได้”
จุรินทร์กล่าวว่า วันนี้มีความยินดีที่ได้ต้อนรับนักการเมืองรุ่นใหม่ และเป็นดาวเด่นในสภาผู้แทนราษฎร มาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นการเฉพาะ นอกเหนือจากงานด้านอื่นของพรรคในภาพรวม เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนทีม กทม. ซึ่งมี องอาจ คล้ามไพบูลย์ และ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ จากนี้ก็จะมี วทันยา อีกคน มาช่วยขับเคลื่อน และทำให้พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าไปสู่เสียงสนับสนุนที่มากขึ้นเป็นลำดับ
“มาดามเดียร์ได้แจ้งความจำนงจะลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ในฐานะหัวหน้าพรรคผมยินดีต้อนรับ” จุรินทร์กล่าว
ด้านวทันยาระบุว่า หากตนต้องการทำงานขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยต่อไป พรรคการเมืองถือเป็นหนึ่งสถาบันที่สำคัญ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วตัวตนของพรรคการเมืองก็ควรเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนถึงสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในพรรค และจากการติดตามก็รู้สึกชื่นชมในการทำงานของหัวหน้าพรรคและสมาชิกฯ ทุกท่าน ว่ามีความตั้งใจขยันทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ในการเข้ามาทำงานการเมืองในครั้งนี้ ตนตั้งใจจะยึดมั่นในความสุจริต และยึดมั่นในความถูกต้องต่อไป
“ดิฉันศรัทธาในความเป็นสถาบันของพรรคประชาธิปัตย์ ตลอด 76 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เติบโตเคียงข้างกับคนไทยทุกยุคสมัย ได้พิสูจน์ถึงความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่เป็นที่พึ่งให้กับคนไทย เห็นได้ชัดเจนว่า สมาชิกทุกคนมีอิสระทางความคิด และที่สำคัญไม่มีบุคคลใดเป็นเจ้าของ ไม่มีอำนาจใดมาผูกขาดครอบงำความเป็นพรรคประชาธิปัตย์” วทันยาระบุ
สำหรับกระแสข่าวว่ามีเงื่อนไขในการเข้าสมาชิกพรรค คือต้องการเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อใน 10 ลำดับแรกของพรรคนั้น วทันยาปฏิเสธว่าไม่จริง เพราะต้องขึ้นอยู่กับทางคณะผู้บริหารพรรคว่า พิจารณาความเหมาะสมเป็นอย่างไร ความตั้งใจทำงานการเมืองครั้งนี้ ตนอยากจะเปลี่ยนแปลง และนำแนวความคิดนโยบายมาแก้ไขประเทศในหลายๆ ด้าน ด้วยเจตจำนงนี้จึงขอสมัครเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อจะได้ขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับพรรคจะมีมติว่าจะให้ตนสมัครเป็น ส.ส. แบบใด
“ใช้เวลาตัดสินใจอยู่พอสมควร ในการลาออกก็เป็นการตัดสินใจแบบกะทันหัน ใช้เวลา 1 เดือนกว่าหลังจากลาออก ส.ส. แต่กว่าจะทำงานการเมืองต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกเสียก่อน คือพรรคการเมืองต้องมีความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในพรรค การทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีประสบการณ์ยาวนานก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสอนตนเอง ในฐานะคนรุ่นใหม่”
ส่วนจะมี ส.ส. จาก พปชร. ย้ายตามมาหรือไม่ วทันยายืนยันว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้เป็นการตัดสินใจ และเคารพการตัดสินใจของ ส.ส. ทุกท่าน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าระหว่างพรรค พปชร. และ ปชป. มีความแตกต่างกันอย่างไร วทันยากล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ในช่วงการเลือกตั้ง 2562 ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2489 เห็นได้ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้พิสูจน์แล้วถึงความเป็นสถาบัน ที่เป็นตัวแทนและที่พึ่งพาของประชาชน
สำหรับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐนั้น วทันยากล่าวว่า ตนยังคงให้ความเคารพนับถือท่านเช่นเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ในการทำงานก็อาจจะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมไปเท่านั้น เรื่องของมิตรภาพก็ขึ้นอยู่กับบริบท
สำหรับในการแข่งขันระหว่าง ส.ส. ในพื้นที่ กทม. สมัยหน้า วทันยามองว่าไม่เป็นปัญหา แต่ต้องดูว่าผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนหรือไม่ พร้อมย้ำว่าไม่ได้กังวลถึงกรณีการเคยมีหุ้นในสื่อมวลชน เพราะตนและครอบครัวได้ให้ความชัดเจน และปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ ตั้งแต่วันแรกที่ลงสมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เมื่อ 3 ปีก่อนแล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการแสดงความคิดเห็นในการย้ายพรรค แสดงว่าพรรคเดิมที่เคยสังกัดมีการผูกขาดครอบงำใช่หรือไม่ วทันยาระบุว่า คงไม่ใช่แบบนั้น และตนไม่ได้อยากพาดพิงใดๆ ถึงพรรคการเมืองอื่นๆ แต่สำหรับตนถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการทำหน้าที่นักการเมือง และตนมีความตั้งใจจะทำงานการเมืองต่อไปเมื่อมีโอกาสเข้ามาแล้ว และตัดสินใจอย่างรอบคอบด้วยหลักเหตุและผล
สำหรับเส้นทางชีวิต วทันยาเริ่มต้นเมื่อปี 2559 เธอเป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในการแข่งกีฬาฟุตบอลในซีเกมส์ 2017 ที่มาเลเซีย ซึ่งทีมของเธอได้เหรียญทอง จากนั้นในปี 2560 ได้ยุติบทบาทจากการทำหน้าที่ผู้จัดการ
ขณะที่พื้นหลังของวทันยา ถือเป็นผู้บริหารสื่อใหญ่ โดยแต่เดิมเป็นกรรมการบริษัทประกอบธุรกิจสื่อ 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท ร่วมมือร่วมใจ จำกัด, บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด โดยในปี 2559 เธอได้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 506,000,002 หุ้น หรือ 8.04%
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 วทันยาระบุว่า เธอได้ขายหุ้นบริษัทสื่อมวลชนทั้งหมด ก่อนจะยื่นใบสมัครเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เส้นทางการเมือง
- 16 พฤศจิกายน 2561: สมัครเป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ
- 27 พฤษภาคม 2562: เลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 8 เชียงใหม่ พรรคพลังประชารัฐได้รับ 27,861 คะแนน ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่ม 1 คน คือ วทันยา ในลำดับที่ 19
- 29 พฤษภาคม 2562: รับหนังสือรับรองการเป็น ส.ส. อย่างเป็นทางการ
- 2563: ตั้งทีม ส.ส. กลุ่มดาวฤกษ์ มีสมาชิกทั้งหมด 6 คน
- 16 สิงหาคม 2565: ลาออกจาก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โดยให้เหตุผลว่า “ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองในรัฐสภาที่ทำลายศรัทธาประชาชน และไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังไว้กับ ส.ส. ได้”
- 22 กันยายน 2565: เปิดตัวสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ผลงานเด่นในช่วงการทำหน้าที่ ส.ส.
- การอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โหวตสวนมติพรรค งดออกเสียงให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- การอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกันยายน 2564 งดออกเสียงให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- การอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกรกฎาคม 2565 งดออกเสียงให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- ฟ้อง พรรณิการ์ วานิช ขณะเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในคดีหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ในประเด็นการถือหุ้นและครอบงำสื่อ
- เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและการตลาด