วานนี้ (21 กันยายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครร่วมกับภาคีเครือข่ายทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เพื่อจัดกิจกรรม Kick Off ทางม้าลายปลอดภัยวินัยดี ภายใต้แคมเปญ ‘หยุด ก่อนทางข้าม’ รณรงค์พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในการรณรงค์ เพื่อกระตุ้นให้สังคมร่วมกันสร้างวัฒนธรรมและวินัยจราจร เพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะบริเวณทางม้าลายคนข้ามให้มีความปลอดภัยทั้งคนเดินข้ามและผู้ขับขี่
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน โดยดำเนินการทั้ง 3 ส่วน คือการปรับปรุงทางด้านกายภาพ การดูแลความปลอดภัยโดยสนับสนุนกำลังเทศกิจประจำหน้าโรงเรียน และการร่วมกับตำรวจในการบังคับเข้มงวดเรื่องการจับปรับผู้กระทำผิด
ในการปรับปรุงด้านกายภาพ โดยเฉพาะทางม้าลายในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 2,788 จุด ที่ผ่านมามีการปรับปรุง 1,286 จุด โดยการทาสีขาวและสีแดงให้เห็นชัดเจน ในเดือนกันยายน 2565 ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางแยกข้ามถนนเพิ่มเติมอีก 2 จุด รวมเป็น 540 แห่ง ติดตั้งสัญญาณทางข้ามชนิดกดปุ่มเพิ่ม 34 แห่ง รวมเป็น 271 แห่ง และติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้ามเพิ่ม 50 แห่ง รวมเป็น 974 แห่ง และมีแผนจะปรับปรุงเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2566
ขณะเดียวกันในด้านการดูแลความปลอดภัย กทม. ได้จัดทำโครงการ School Care ดูแลนักเรียนบริเวณทางข้ามหน้าโรงเรียน และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร 526 จุด แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 45 แห่ง โรงเรียนเอกชน 43 แห่ง และจุดอื่นๆ 1 แห่ง ใช้เทศกิจ 574 รายต่อผลัด หรือ 1,148 รายต่อวัน ช่วงเวลาในการดูแล 2 ช่วง แบ่งเป็น ช่วงเช้า 06.30-08.30 น. ช่วงเย็น 14.30-16.30 น.
ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า การปรับปรุงทางม้าลาย กทม. จะทำให้ครอบคลุมทุกจุด แต่ไม่ใช่ทุกจุดที่จะต้องทำสัญญาณกดปุ่ม ซึ่งการติดตั้งสัญญาณเพิ่มเติมต้องพิจารณาจุดที่เหมาะสม บางจุดอาจไม่คุ้มที่จะติดตั้งเพราะเป็นถนนเส้นเล็ก แต่ขอให้มีแสงสว่างเพียงพอ อย่างไรก็ดี ถ้าไม่มีการหยุดรถให้คนข้าม ก็เป็นไปไม่ได้ที่ทางม้าลายจะปลอดภัย
“ต้องมี 3 ส่วน คือ เรื่องกายภาพต้องดี เรื่องจิตสำนึกต้องมี และการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเพิ่มขึ้น ขณะนี้ กทม. ได้ปรับป้ายความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บริเวณทางม้าลาย เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็ว ถ้าใช้ความเร็วเกินก็จะต้องมีการจับปรับ โดยทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะต้องร่วมมือกับตำรวจดำเนินการจับปรับอย่างเข้มข้นต่อไป” ชัชชาติกล่าวในที่สุด