×

ข้อเรียกร้องใหม่จากพรีเมียร์ลีก และแชมเปียนส์ลีกสัญจร?

21.09.2022
  • LOADING...
พรีเมียร์ลีก

ในสัปดาห์ที่ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลลีกเนื่องจากติดโปรแกรมทีมชาติ กลับมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างยิ่งใน 2 รายการระดับสโมสรที่ใหญ่และมีมูลค่าสูงสุดอย่างพรีเมียร์ลีก และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก

 

เป็นการส่งสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ซึ่งมีอะไรบ้างมาลองติดตามกัน

 

‘New Deal for Football’ ข้อตกลงใหม่ ใครได้ประโยชน์

 

นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด แล้วพรีเมียร์ลีกให้อะไรกับวงการฟุตบอลอังกฤษ?

 

เรื่องนี้เป็นคำถามที่จุกอยู่ในใจของคนในวงการฟุตบอลเมืองผู้ดีที่ไม่ได้อยู่ในระดับลีกสูงสุด เพราะในขณะที่ 20 สโมสรของพรีเมียร์ลีกรวยเอาๆ จากเงินส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอล ซึ่งในการประมูลรอบใหม่มีการประเมินว่าจะทำให้แต่ละสโมสรได้รับเงินถึง 300 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล

 

แต่ในระดับรองลงไปตั้งแต่เดอะแชมเปียนชิป, ลีกวัน, ลีกทู ไปจนถึงคอนเฟอเรนซ์ลีก และระดับฟุตบอลรากหญ้า (Grassroots) พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียร หลายทีมเป็นหนี้เป็นสินจนถึงขั้นเอาตัวไม่รอด กลายเป็นโศกนาฏกรรมทางเกมลูกหนังอย่างการล่มสลายของบิวรี เอฟซีก็มี


ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการเจรจากันครั้งใหม่ระหว่างพรีเมียร์ลีก และอิงลิชฟุตบอลลีก (EFL) ที่หวังจะได้รับประโยชน์จากเงินรายได้ที่มากมายมหาศาลของลีกสูงสุดด้วย โดยเรียกการเจรจาข้อตกลงครั้งนี้ว่า ‘New Deal for Football’

 

เรื่องนี้ผู้จุดประเด็นคือรัฐบาลอังกฤษในยุคบอริส จอห์นสัน ที่ส่งคำเตือนว่าพรีเมียร์ลีกจะต้องแบ่งปันความมั่งคั่งที่มีเพื่อช่วยเหลือลีกระดับรองลงไปด้วย โดยที่หากเพิกเฉยอาจจะถึงขั้นต้องตราเป็นกฎหมายขึ้นมา โดยตัวเลขเงินที่ทางด้าน EFL ต้องการนั้นมากกว่า 250 ล้านปอนด์ต่อปี เพื่อดูแลทีมใน 3 ดิวิชัน

 

เงินจำนวนนี้ทางด้าน EFL จะนำมาแบ่งให้แก่สโมสรในระดับแชมเปียนชิป, ลีกวัน และลีกทู แต่จะมีการให้ในระบบ Merit Payments หรือให้ตามผลงานอันดับในตารางคะแนน อันดับสูงกว่าจะได้มากกว่า ซึ่งเป็นในลักษณะเดียวกับพรีเมียร์ลีก

 

สิ่งตอบแทนที่พรีเมียร์ลีกต้องการ

 

แล้วพรีเมียร์ลีกจะได้อะไรตอบแทน?

 

สิ่งที่พรีเมียร์ลีกต้องการคือ การลด ‘ภาระ’ ในเรื่องโปรแกรมการแข่งขัน ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอที่น่าจับตามองคือ สโมสรที่เข้าร่วมในรายการชิงแชมป์สโมสรยุโรป (แชมเปียนส์ลีก, ยูโรปาลีก, ยูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก) อาจจะของดเข้าร่วมแข่งลีกคัพ ซึ่งเป็นรายการของ EFL เอง หรืออาจขอส่งทีมในระดับอายุไม่เกิน 21 ปีลงเล่นแทน

 

ในการส่ง ‘ทีมเด็ก’ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหรือไม่แต่อย่างใด เพราะหลายทีมก็ทำอยู่แล้ว เพียงแต่มันขัดต่อข้อบังคับในการที่สโมสรจะต้องส่งนักเตะที่ดีที่สุดเท่าที่มีลงเล่นด้วย (เพื่อให้เป็นการดีต่อเกมฟุตบอล) ขณะที่การของดส่งทีมเข้าร่วมนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำมาก่อนเช่นกัน (ยกเว้นกรณีสุดวิสัยของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่งดส่งทีมลงแข่งเอฟเอคัพ เพราะติดต้องแข่งรายการชิงแชมป์สโมสรโลกในปี 2000)

 

อย่าลืมว่าตั้งแต่ฤดูกาล 2024/25 เป็นต้นไป รายการแชมเปียนส์ลีกจะเปลี่ยนระบบมาเป็นแบบ Swiss Model (อ่านเพิ่มเติม สวัสดีนี่คือ ‘แชมเปียนส์ลีก’ โฉมใหม่! มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง? https://thestandard.co/new-uefa-club-competition-formats/)

 

เรื่องนี้ต้องรอจับตาดูว่า EFL จะว่าอย่างไร แต่สิ่งที่น่าจะตกลงกันได้ง่ายกว่าคือการยกเลิกเกมรีเพลย์ของรายการเอฟเอคัพในรอบที่ 3 และ 4 ซึ่งเรื่องนี้ทางด้านสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ไม่มีปัญหา และสโมสรในระดับลีกรองก็ยินดีเช่นกัน เพราะเชื่อว่าหากยันเสมอในเวลาได้และยื้อจนถึงช่วงการดวลจุดโทษ ก็มีโอกาสจะได้ลุ้นชนะมากกว่าการต้องเล่นนัดรีเพลย์

 

New Deal for Football ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีก เช่น การลดเงินช่วยเหลือของสโมสรที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก ที่เรียกว่า Parachute Payments เพื่อลดความได้เปรียบของสโมสรเหล่านั้นที่ทำให้สามารถกลับขึ้นชั้นได้ง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกจะต้องเผชิญอีกคือการถูกจำกัดเพดานการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับกฎ Financial Rules ใหม่ของยูฟ่า ซึ่งสโมสรจะถูกจำกัดการใช้จ่ายตามจำนวนเปอร์เซ็นต์ของรายได้ในปฏิทินฟุตบอล โดยจะควบคุมรายจ่าย 3 อย่างคือ ค่าเหนื่อยนักฟุตบอล ค่าตัวนักฟุตบอล และเงินค่าธรรมเนียมของเอเจนต์

 

โดยยูฟ่าจะบังคับใช้กฎใหม่นี้ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ซึ่งจะค่อยๆ ลดเพดานลงจาก 90 เปอร์เซ็นต์ (หาได้ 100 ใช้ได้ 90) ในปีหน้า ลดเหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ในปี 2024 และ 70 เปอร์เซ็นต์ในปี 2025


ขณะที่พรีเมียร์ลีกคาดว่าจะต่อรองเพื่อให้สามารถใช้ได้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้

 

เรื่องนี้ทั้งหมดจะถูกหยิบมาถกกันในการประชุมวันนี้ เพียงแต่คาดว่าจะยังไม่มีการสรุปใดๆ ในเวลานี้ โดยจะต้องดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาลที่นำโดย ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ว่าจะเดินตามแผนเดิมของรัฐบาลที่แล้วหรือไม่

 

แชมเปียนส์ลีกสัญจร

 

นอกเหนือจากพรีเมียร์ลีกแล้ว ในสัปดาห์นี้มีการประชุมที่น่าจับตามองไม่น้อยไปกว่ากันของยูฟ่า ซึ่งจะมีขึ้นที่เกาะฮวาร์ (Hvar) ในประเทศโครเอเชีย ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสามัญของสมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป (ECA) ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในปลายสัปดาห์นี้

 

วาระใหญ่ที่น่าสนใจคือการหารือจะนำเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกออกไปแข่งขันกันนอกยุโรปเป็นครั้งแรก เพื่อให้เข้าถึงฐานแฟนฟุตบอลที่มีอยู่มากมายทั่วโลก หรือพูดง่ายๆ คือเป็นแผน ‘แชมเปียนส์ลีกสัญจร’

 

รายละเอียดที่มีการเปิดเผยตอนนี้คือ ไอเดียนี้ยังเป็น ‘วุ้น’ อยู่ และยังต้องพูดคุยถกเถียงกันอีกมากว่าการทำแบบนี้จะเป็นเรื่องที่ดีจริงๆ หรือไม่ ไม่นับที่พวกเขายังไม่ได้ถามไถ่ความรู้สึกของแฟนฟุตบอลของตัวเองในยุโรปเลย

 

ทั้งนี้ หากจะเกิดขึ้นจริงจะเป็น ‘บางเกม’ ในช่วงแรกของรอบแบ่งกลุ่ม มากกว่าที่จะเป็นเกมที่มีความสำคัญในระดับการชี้ชะตาในรอบน็อกเอาต์

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ หนึ่งในคนที่ยกมือสนับสนุนไอเดียคือ นาสเซอร์ อัล เคไลฟี ประธานสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ซึ่งนั่งแท่นเป็นประธานของ ECA (และเป็นประธานของช่องกีฬาระดับโลก beIN SPORTS ที่รู้ความต้องการของตลาดผู้ชมกีฬาทั่วโลกเป็นอย่างดี)

 

ส่วนจะสัญจรไปที่ไหนนั้น? มี 3 ที่หมายที่มีศักยภาพดีที่สุดคือ

 

  1. สหรัฐอเมริกา
  2. จีน
  3. ตะวันออกกลาง

 

อีกทางเลือกที่ง่ายกว่าคือ การทดลองนำซูเปอร์คัพไปสัญจรแทน (ซึ่งปัจจุบันก็สัญจรไปตามเมืองเล็กๆ ทั่วยุโรป เพื่อกระจายโอกาส) และอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเดิมแข่งกันนัดเดียวจบมาเป็นมินิทัวร์นาเมนต์ 4 ทีม (แชมป์ 3 รายการ แชมเปียนส์ลีก,ยูโรปาลีก และยูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก + 1 เมืองเจ้าภาพ?) และยกให้เป็น ‘ทัวร์นาเมนต์เปิดม่าน’ ที่ชวนให้คิดถึงการทัวร์ของ NBA, NFL หรือแม้แต่มวยปล้ำอย่าง WWE

 

แต่ย้ำว่าเรื่องนี้ยังเป็นแค่การพูดคุยเบื้องต้น แม้จะถือว่าเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในเกมฟุตบอล

 

แชมเปียนส์ลีกไม่ใช่ยูโรเปียนคัพอีกแล้ว นี่คือ Global Brand และพวกเขาต้องการเข้าถึงแฟนฟุตบอลทั่วโลกอย่างแท้จริง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X