ผู้ใช้งาน Apple ในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย ปากีสถาน เกาหลีใต้ และโปแลนด์ เตรียมควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่มสำหรับแอปพลิเคชันบน App Store ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป โดยบล็อกโพสต์ของบริษัทระบุว่า ราคาแอปพลิเคชันใหม่นี้ยังมีผลครอบคลุมถึงอียิปต์ สวีเดน เวียดนาม และบรรดากลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร โดยจะเริ่มอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 5 ตุลาคมนี้
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังสะท้อนถึงข้อบังคับใหม่สำหรับ Apple ในเวียดนาม ที่กำหนดให้บริษัทต้องเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ที่กำหนดไว้ที่ 5%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไทยขยับขึ้นเป็น Tier 1 แล้ว! Apple เปิดให้สั่งจอง ‘iPhone 14’ วันแรก 9 ก.ย. เริ่มวางจำหน่าย 16 ก.ย.
- ‘ชาวเวียดนาม’ หลายคนยอมบินไปสิงคโปร์และไทย เพื่อซื้อ ‘iPhone 14’ ในวันแรกที่เปิดขาย
- การมาของ Apple Watch Ultra อาจทำให้ Garmin ตกอยู่ในสภาพเดียวกับ Nokia ที่ย่ำแย่หลังการมาถึงของ iOS และ Android
Trevor Long นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบมากที่สุดต่อการซื้อแอปพลิเคชันที่มีราคาต่ำสุด โดยเจ้าตัวมองว่าสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ Apple ไม่ได้กำหนดราคาของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นแอปหรือการซื้อผ่านแอปภายใน Apple แต่บริษัทได้ตั้งราคาที่เพิ่มขึ้นสำหรับนักพัฒนาและผู้เผยแพร่ ขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างราคาของ Apple มักจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในระดับราคาต่ำสุด ขณะที่นักพัฒนาเหล่านั้นไม่สามารถลดราคาลงไปสู่ระดับถัดไปได้
วันเดียวกัน ทางสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อย่าง Walmart, Target และ Kroger ตลอดจนห้างสรรพสินค้าและร้านขายของชำทั่วสหรัฐฯ ต่างแสดงจุดยืนสนับสนุนร่างกฎหมายของสภาคองเกรสที่ตั้งเป้าจะลดค่าธรรมเนียมการรูดบัตร หรือที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนที่ผู้ค้าปลีกจ่ายทุกครั้งที่ลูกค้าทำการซื้อด้วยบัตรทั้งหลาย
โดยจดหมายเปิดผนึกของภาคธุรกิจถึงฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิตในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าที่อื่น เช่น สูงกว่ายุโรปถึง 7 เท่า ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
Nilson Report ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการให้บริการชำระเงิน พบว่า ค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนจะถูกใช้ผ่านระบบที่ซับซ้อน และค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันไปตามผู้ค้า ขนาดธุรกรรม ประเภทของบัตรที่ใช้ และสถาบันการธนาคาร โดยปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการและพ่อค้าทั้งหลายจ่ายค่าธรรมเนียมการดำเนินการไปประมาณ 1.38 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมเหล่านี้มักจะอยู่ระหว่าง 1-3% ของราคาสุดท้ายของธุรกรรม และร้านค้ามักจะส่งต่อค่าธรรมเนียมไปยังลูกค้า ทำให้ราคาของสินค้าสูงขึ้น
เป้าหมายของการลดค่าธรรมเนียมการรูดบัตรครั้งนี้เป็นไปเพื่อสร้างการแข่งกันให้มากขึ้นในธุรกิจบริการชำระเงินด้วยบัตร ซึ่งตลาดกว่า 80% ถูกผูกขาดโดย Visa และ Mastercard ขณะที่ยักษ์ใหญ่บัตรเครดิตทั้ง 2 รายได้ออกมาโต้แย้งว่า การลดค่าธรรมเนียมรูดบัตรอาจไม่ส่งผลดี โดยให้เหตุผลว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงสำหรับผู้ค้าโดยรับประกันการชำระเงินโดยไม่คำนึงถึงการฉ้อโกงหรือว่าลูกค้าจ่ายค่าบัตรเครดิตหรือไม่ ขณะเดียวกันก็เข้าไปช่วยสนับสนุนโปรแกรม Rewards และบริการต่างๆ ของธนาคาร ก่อนย้ำว่า การลดค่าธรรมเนียมรูดบัตรไม่เพียงแต่ไม่ช่วยลดราคาสินค้าเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างโปรแกรม Rewards ที่ลดลง การเข้าถึงเครดิตที่น้อยลง และเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูล
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/economy/2022/9/20/apple-users-in-japan-vietnam-malaysia-to-pay-more-for-apps
- https://edition.cnn.com/2022/09/20/business/credit-card-fees-visa-mastercard-retail/index.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP