ไนจีเรียเป็นอีกหนึ่งชาติที่กำลังต่อสู้กับอุทกภัยครั้งรุนแรงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คนแล้วในปีนี้ โดยเฉพาะแค่ในสัปดาห์นี้เพียงสัปดาห์เดียว ก็มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 20 คน ขณะทางการยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้
โดยปกติแล้วไนจีเรียจะเจอกับเหตุน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งบ่อยครั้งมีสาเหตุมาจากการไม่ปฏิบัติตามแนวทางด้านสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สู้ดีนัก ขณะที่ในปีนี้เจ้าหน้าที่กล่าวว่า เหตุน้ำท่วมเกิดจากน้ำที่ไหลล้นจากแม่น้ำหลายสายในท้องถิ่น และการปล่อยน้ำส่วนเกินจากเขื่อนเลกโด ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคเมอรูน รวมถึงฝนที่ตกหนักผิดปกติ
อคินทุนเด บาบาทุนเด นักวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศของไนจีเรียกล่าวว่า สาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วมที่เจอซ้ำทุกๆ ปีคือ โครงสร้างพื้นฐานของถนนที่ไม่ดี รวมถึงปัญหาการระบายน้ำ และการกำจัดขยะ พร้อมกล่าวด้วยว่า “ฝนที่ตกหนักผิดปกติคือหลักฐานที่ชัดเจนของภาวะโลกรวน”
สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินแห่งชาติไนจีเรีย เปิดเผยว่า พื้นที่ 27 รัฐของไนจีเรียจากจำนวนทั้งหมด 36 รัฐเผชิญกับน้ำท่วมหนัก ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากถึง 500,000 คน โดยมี 100,000 คนที่ไร้ที่อยู่อาศัย ขณะมีผู้บาดเจ็บราว 500 คนด้วยกัน นอกจากนี้ ภัยพิบัติครั้งนี้ยังได้ทำลายพื้นที่เพาะปลูกพืชหลายพันเฮกตาร์ ทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลว่า ไนจีเรียอาจเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องเจอกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
วานนี้ (19 กันยายน) ทางการไนจีเรียได้ประกาศเตือนหลายรัฐทั่วประเทศ ให้เตรียมรับมือกับอุทกภัยระลอกใหม่ที่อาจตามมาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากเขื่อน 2 แห่งในประเทศน้ำใกล้ล้นออกมาแล้ว
ทั้งนี้ ภาวะโลกรวนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝนตกหนักผิดปกติ โดยอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจากภาวะโลกรวน ทำให้อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้น้ำบนผิวโลกระเหยกลายเป็นไอน้ำ และจับตัวเป็นก้อนเมฆมากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งก็เกิดเป็นฝนที่ตกหนักลงมา โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นถึง 5%
ภาพ: Olukayode Jaiyeola / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: