×

แบงก์ชาติวางโรดแมป 3 ปี ยกระดับระบบการชำระเงินไทย เล็งเปิดตัวระบบ PromptBiz สำหรับภาคธุรกิจ เม.ย. ปีหน้า

15.09.2022
  • LOADING...
แบงก์ชาติ

ธปท. วางโรดแมป 3 ปี พัฒนาระบบการชำระเงินไทย ตั้งเป้าให้ช่องทางดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ยกระดับประเทศสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง เตรียมเปิดตัว PromptBiz ระบบชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจต่อยอดจาก PromptPay เมษายนปีหน้า พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือกับต่างประเทศ

 

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้จัดทำ ‘ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย’ เพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์การพัฒนาระบบชำระเงินในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2565-2567) ที่สอดรับกับแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการชำระเงินตามทิศทางข้างต้นจะดำเนินการภายใต้ 3 หลักการคือ การเปิดกว้างให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Openness) การเข้าถึงและเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัล (Inclusivity) และการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและเท่าทัน (Resiliency) ภายใต้เป้าหมายที่มุ่งให้ “การชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมศักยภาพและการแข่งขัน และให้ไทยพร้อมก้าวสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง” ซึ่งแผนกลยุทธ์ที่สำคัญ มีดังนี้ 

 

  1. การเปิดกว้างให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Openness) จะเน้นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน และข้อมูลด้านการชำระเงินร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการแข่งขัน และการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการเพิ่มบทบาทด้านการชำระเงินของไทยในเวทีสากล โดยแผนงานสำคัญ ได้แก่ 

 

1.1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งข้อมูลทางการค้า และการชำระเงินดิจิทัลของภาคธุรกิจอย่างครบวงจร (ระบบ PromptBiz) 

 

1.2 การยกระดับการนำมาตรฐานสากลและมาตรฐานกลางมาใช้ในระบบการชำระเงิน เช่น มาตรฐาน ISO 20022 มาตรฐานการเชื่อมโยงระหว่างระบบและผู้ให้บริการ (Application Programming Interface: API) เป็นต้น 

 

1.3 การมีโครงสร้างด้านธรรมาภิบาลของระบบการชำระเงินที่เหมาะสม เพื่อรองรับพัฒนาการด้านการชำระเงินที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

1.4 การพัฒนาฐานข้อมูลการชำระเงินภายใต้โครงการ Regulatory Data Transformation (RDT) และการบูรณาการข้อมูลชำระเงินร่วมกับภาครัฐ เพื่อเพิ่มประโยชน์ในการใช้ข้อมูลในวงกว้าง 

 

1.5 การมีหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สำคัญ 

 

“เราเชื่อว่า PromptBiz จะเป็น Game Changer ของการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ เหมือนกับที่ PromptPay ทำในภาคประชาชน ระบบ PromptBiz จะเข้ามาช่วยแก้ Pain Point การทำธุรกิจแบบเดิมที่ยังใช้เอกสารกระดาษ มีต้นทุนสูง และมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ง่าย โดยคาดว่าเฟสแรกจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในเดือนเมษายนปีหน้า” สิริธิดากล่าว

 

สิริธิดากล่าวอีกว่า ในแผนระยะ 3 ปีนี้ ธปท. จะมีการขยายระบบบริการชำระเงินระหว่างประเทศแบบ Fast Payment เพิ่มเติม เช่น ในส่วนของการโอนเงินระหว่างประเทศ จะให้บริการเพิ่มเติมในประเทศมาเลเซีย อินเดีย และอินโดนีเซีย จากปัจจุบันที่ได้ดำเนินการร่วมกับระบบ PayNow ของประเทศสิงคโปร์ไปแล้ว ซึ่งช่วยให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศสามารถทำได้ผ่าน Mobile Banking จากแอปพลิเคชันที่ให้บริการระหว่างกัน ซึ่งมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำธุรกรรมนานแบบเดิม

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีแผนจะขยายความร่วมมือในด้านการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code ในการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มเติมกับอีก 2 ที่คือ อินเดีย และฮ่องกง จากที่ปัจจุบันมีความร่วมมือแล้ว 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, กัมพูชา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

 

  1. การเข้าถึงและเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัล (Inclusivity) โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการชำระเงินดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงในวงกว้าง เพื่อผลักดันให้การชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักของคนไทย โดยจะดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ให้บริการชำระเงินที่สำคัญ ในการขยายการชำระเงินดิจิทัลให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ อาทิ การชำระเงินดิจิทัลในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ การต่อยอดบริการชำระเงินดิจิทัลกับแอปพลิเคชันภาครัฐที่ครอบคลุมการใช้งานในวงกว้าง รวมทั้งการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลอย่างถูกต้องและปลอดภัย ให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง 

 

  1. การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและเท่าทัน (Resiliency) โดยมุ่งเน้นความมีประสิทธิผล และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบในวงกว้าง แผนงานสำคัญ ได้แก่ 

 

3.1 การทบทวนหรือปรับปรุงกรอบหลักเกณฑ์การกํากับดูแลตามแนวทาง Regulatory Impact Assessment (RIA) ให้ยืดหยุ่น และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการชำระเงิน 

 

3.2 การออกหลักเกณฑ์ด้านการชำระเงินเพื่อรองรับเทคโนโลยีและความเสี่ยงใหม่ เช่น การกำกับดูแลนวัตกรรมการชำระเงินต่างๆ 

 

3.3 การปรับแนวทางและเครื่องมือการกำกับดูแลให้เท่าทันสภาพแวดล้อมและความเสี่ยงใหม่ๆ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเครื่องมือกำกับตรวจสอบ (Supervisory Technology) 

 

3.4 การพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์ความรู้ และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที 

 

3.5 การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

 

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ภายใต้แผนกลยุทธ์นี้ ธปท. จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างให้ระบบการชำระเงินไทยพร้อมรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของภาคการเงิน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาบริการชำระเงินดิจิทัลของผู้ให้บริการ เพื่อให้เกิดทางเลือกที่หลากหลายแก่ผู้ใช้บริการ บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ และการตระหนักถึงความเสี่ยง โดยดูแลให้เกิดการเรียนรู้ ปรับตัว และพร้อมใช้การชำระเงินดิจิทัล 

 

ขณะเดียวกันจะช่วยสนับสนุนให้การทำธุรกิจปรับเปลี่ยนเป็นแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพร้อมก้าวสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X