เจนเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบันว่า กำลังเผชิญกับ ‘ความเสี่ยง’ ของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการต่อสู้กับเงินเฟ้ออาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง กระนั้นโดยส่วนตัวก็ยังเชื่อว่าสหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยอย่างรุนแรงได้
เยลเลนกล่าวว่า ภาวะถดถอยของสหรัฐฯ เป็นความเสี่ยงเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังเดินหน้ากระชับนโยบายการเงินให้รัดกุมเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้นจึงสร้างความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในขณะนี้สูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ที่ 9.1% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม ท่ามกลางความพยายามของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบรรเทาแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้เสียหายรุนแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
ทั้งนี้ ความท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบายขณะนี้ก็คือการระงับอัตราเงินเฟ้อก่อนที่จะกลายเป็นอันตราย แต่ก็ไม่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมเข้าสู่ภาวะถดถอยที่จะมีผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก
โดยเยลเลนกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สหรัฐฯ จะต้องหาทางดึงอัตราเงินเฟ้อให้ลดต่ำลง พร้อมย้ำว่า Fed จะสามารถบรรลุเป้าหมาย Soft Landing ที่จะนำอัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าหมายที่ 2% โดยไม่บังคับให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่อาจทำให้การว่างงานพุ่งสูงขึ้น
“ในระยะยาว เราไม่สามารถมีตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งได้โดยปราศจากการควบคุมเงินเฟ้อ” รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าว
สำหรับกรณีที่การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ในช่วงสองไตรมาสแรกหดตัวต่อเนื่องกันจนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค เยลเลนมองว่ารูปการณ์ที่เกิดขึ้นไม่อาจนับได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยแล้ว
เยลเลนกล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอย เพราะตลาดแรงงานแข็งแกร่งเป็นพิเศษ โดยมีตำแหน่งงานว่างเกือบ 2 แสนตำแหน่งสำหรับคนงานทุกคนที่กำลังมองหางาน
ทั้งนี้ การที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ 3.7% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีคนเข้าร่วมในแรงงานมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าแรงงานจำนวนมากที่ต้องออกจากงานไปในช่วงที่มีการการแพร่ระบาดของโรคโควิดกำลังกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP