การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ผู้ครองราชย์มายาวนานกว่า 70 ปี นำมาซึ่งความโศกเศร้าแก่พสกนิกรทั่วทั้งสหราชอาณาจักร โดยช่วงเวลาอย่างน้อย 10 วันจากนี้จะเต็มไปด้วยบรรยากาศของการไว้อาลัย และความเคร่งขรึมของพระราชพิธีอันซับซ้อน
รัฐบาลอังกฤษขนานนามกระบวนการในการจัดการ ภายหลังการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ว่า ‘ปฏิบัติการสะพานลอนดอน (Operation London Bridge)’ ซึ่งจะแยกย่อยเป็น ปฏิบัติการสปริงไทด์ (Operation Spring Tide) ที่ครอบคลุมกระบวนการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายชาร์ลส์ พระราชโอรสพระองค์โต และปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn) ที่ครอบคลุมการจัดการพระบรมศพ ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายหีบพระบรมศพ จากปราสาทบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ ไปยังกรุงลอนดอน การไว้อาลัยอย่างเป็นทางการ และการจัดพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งจะมีขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ (Westminster Abbey) โดยคาดว่าจะจัดขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่ยังไม่มีการประกาศวันเวลาที่แน่ชัดจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮม
พิธีการทั้งหมดถือเป็นพระราชพิธีโบราณ ที่มีการเตรียมการไว้แล้วตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 และมีการปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้ง โดยมีเพียงไม่กี่คนบนโลกที่ยังมีชีวิต และเคยได้เห็นพระราชพิธีเปลี่ยนรัชสมัยเช่นนี้ ซึ่งจะมีการเตรียมการอย่างระมัดระวังและละเอียดถี่ถ้วน อาทิ การยิงสลุต และการลั่นระฆังไปทั่วประเทศ ตลอดจนการรวมตัวของพสกนิกรนับล้านเพื่อร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
และนี่คือสรุปภาพรวมคร่าวๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 10 วันหลังการสวรรคต โดยข้อมูลทั้งหมดได้รับการเปิดเผยจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮม แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในวันอื่นๆ หลังจากนี้
-
วันสวรรคต (8 กันยายน)
จากข้อมูลของสำนักข่าว PA ของอังกฤษ เดิมทีวันสวรรคตจะถูกนับเป็นวัน D-Day หรือ D+0 หรือวันแรกของแผน ‘ปฏิบัติการสะพานลอนดอน’ แต่เนื่องจากประกาศการสวรรคตที่มาในช่วง 18.31 น. ทำให้แผนถูกเลื่อนไปนับวัน D-Day เป็นวันที่ 9 กันยายน
ภายหลังสำนักพระราชวังบักกิงแฮม ออกแถลงการณ์แจ้งข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แก่ประชาชน บรรยากาศทั่วทั้งสหราชอาณาจักรต่างก็ตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยทั่วประเทศ
โดยด้านนอกพระราชวังบักกิงแฮม มีประชาชนจำนวนมากไปวางดอกไม้ไว้อาลัย และมีประชาชนหลายพันคนไปต่อแถวเขียนหนังสือแสดงความอาลัยที่พระราชวังบักกิงแฮม เซนต์เจมส์ และที่ปราสาทวินด์เซอร์
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วินาทีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต ที่ปราสาทบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ เจ้าชายชาร์ลส์ พระชนมายุ 73 พรรษา ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนและไอร์แลนด์เหนืออย่างเป็นทางการ รวมทั้งเป็นประมุขของประเทศในเครือจักรภพ เช่น ออสเตรเลียและแคนาดา ซึ่งพระองค์ทรงเลือกใช้พระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III)’
ขณะที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงออกแถลงการณ์แรกในฐานะพระมหากษัตริย์ โดยแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระราชมารดา ในขณะที่ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของสหราชอาณาจักร ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาชนอังกฤษให้การสนับสนุนพระองค์
-
D-Day (9 กันยายน)
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีคามิลลา เดินทางกลับกรุงลอนดอนในวันนี้
โดยหอระฆังเทเนอร์ (Tenor Bell) ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และหอระฆังเกรททอม (Great Tom) ในมหาวิหารเซนต์พอล ที่กรุงลอนดอน จะมีการลั่นระฆังต่อเนื่อง และมีการยิงสลุตที่สวนไฮด์พาร์กและหอคอยลอนดอน ต่อเนื่องทุกๆ 10 วินาที ซึ่งแทนแต่ละพรรษาในช่วงพระชนมายุของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ส่วนสถานที่ราชการต่างๆ มีการลดธงครึ่งเสา ในขณะที่ธงชาติที่จตุรัสรัฐสภาในลอนดอนและถนน The Mall มีการประดับด้วยผ้าแพรและพู่สีดำ และมีการทำพิธีขอบคุณพระเจ้าที่มหาวิหารเซนต์ปอล
ในเวลาประมาณ 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสต่อพสกนิกร โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ ขณะที่นายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญอื่นๆ จะเข้าร่วมพิธีรำลึกที่มหาวิหารเซนต์พอล
-
D+1 (10 กันยายน)
ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จไปร่วมการประชุม ‘สภาการขึ้นครองราชย์ (Accession Council)’ ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ โดยเป็นพิธีการตามรัฐธรรมนูญ ที่กษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องตรัสคำปฏิญาณ และประกาศพระปฐมบรมราชโองการต่อหน้าคณะองคมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสทั้งในอดีตและปัจจุบัน สมาชิกสภาขุนนาง ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประจำรัฐต่างๆ ในเครือจักรภพ
หลังคำประกาศขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ จะมีการยิงสลุต 41 นัด ที่สวนไฮด์พาร์ก และจะมีการประโคมเสียงแตรสัญญาณ ก่อนที่เจ้าพนักงานจะอ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ต่อสาธารณชนที่ระเบียงเหนือลาน Friary Court ในพระราชวังเซนต์เจมส์ โดยถือเป็นการอ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ครั้งแรก จากทั้งหมด 4 ครั้ง ใน 4 ประเทศของสหราชอาณาจักร ซึ่งนอกจากนี้จะมีการอ่านคำประกาศขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการในกรุงเอดินบะระ ของสกอตแลนด์,คาร์ดิฟฟ์ ของเวลส์ และเบลฟาสต์ ของไอร์แลนด์เหนือด้วยเช่นกัน
จากนั้นวงดนตรีประจำราชวงศ์จะเล่นท่อนแรกของเพลงชาติ ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘God Save the King’ และเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่เพลงชาติของสหราชอาณาจักรเปลี่ยนชื่อเพลง และเนื้อร้องจากคำว่า Queen มาเป็นคำว่า King โดยหลังจากนี้ ธงชาติในสถานที่ราชการต่างๆ สามารถชักธงขึ้นสู่ยอดเสาได้
หลังจากนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอังกฤษได้เข้าเฝ้า
-
D+2 (11 กันยายน)
หีบพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะถูกเคลื่อนย้ายไปยังพระราชวังโฮลีรูด ในกรุงเอดินบะระ
ขณะที่รัฐบาลในคาร์ดิฟฟ์ เอดินบะระ และเบลฟาสต์ จะทำการอ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลที่ 3 ต่อสาธารณะในวันนี้
-
D+3 (12 กันยายน)
คาดว่าจะมีการทำพิธีรำลึกในมหาวิหารเซนต์ไจลส์ และอาจมีการเคลื่อนย้ายพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไปไว้ที่นี่ ซึ่งประชาชนอาจจะสามารถเข้าถวายความอาลัยได้
ขณะที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะรับการถวายความอาลัยจากรัฐบาล ก่อนเริ่มต้นการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ของสหราชอาณาจักร
-
D+4 (13 กันยายน)
หีบพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะถูกเคลื่อนย้ายด้วยรถยนต์ออกจากมหาวิหารเซนต์ไจลส์ และคาดว่าจะถูกนำขึ้นเครื่องบินกลับไปยังกรุงลอนดอน และนำไปตั้งไว้ที่พระราชวังบักกิงแฮม
จะมีการซ้อมสำหรับขบวนพิธีเคลื่อนย้ายหีบพระบรมศพจากพระราชวังบักกิงแฮม ไปยังโถงพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Hall) ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐสภา ที่อยู่ไม่ไกลกัน
ขณะที่พระเจ้าชาร์ลที่ 3 จะเสด็จเยือนไอร์แลนด์เหนือ เพื่อเข้าร่วมพิธีรำลึกที่มหาวิหารในกรุงเบลฟาสต์ และรับการถวายความอาลัย
-
D+5 (14 กันยายน)
ขบวนพิธีเคลื่อนย้ายหีบพระบรมศพผ่านใจกลางกรุงลอนดอน จากพระราชวังบักกิงแฮม ไปยังโถงพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ จะถูกเรียกว่า ‘ปฏิบัติการมาร์คี (Operation Marquee)’ โดยหีบพระบรมศพจะถูกตั้งอยู่เป็นเวลา 4 วันเต็ม เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถวายความอาลัย และประชาชนจะได้รับอนุญาตให้เข้าถวายความอาลัยวันละ 23 ชั่วโมง
อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี จะทำพิธีสั้นๆ หลังจากที่หีบพระบรมศพเคลื่อนไปถึง ขณะที่ทางการจะเปิดให้ประชาชนซึ่งอาจมีจำนวนหลักหลายแสนคน เข้าถวายความอาลัยด้วยการเดินผ่านหีบพระบรมศพ แบบเดียวกับการถวายอาลัยพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ในปี 2002 ซึ่งขั้นตอนการจัดการคิวของประชาชนที่ไปต่อแถว จะถูกเรียกว่า ‘ปฏิบัติการขนนก (Operation Feather)’
โดยในช่วงวิกฤตโควิดที่ยังคงอยู่ คาดว่าแผนดำเนินการเปิดให้เข้าถวายความอาลัย อาจรวมถึงความเป็นไปได้ในการเสนอให้มีตั๋วกำหนดเวลาสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมถวายความอาลัย
ขณะที่สมาชิกราชวงศ์อาวุโส คาดว่าจะร่วมถวายความอาลัยด้วยการยืนเฝ้าอยู่ในบางจุดรอบหีบพระบรมศพ ซึ่งเป็นไปตามประเพณีที่เรียกว่า ‘การเฝ้ายามของเจ้าชาย (Vigil of the Princes)’
-
D+6 (15 กันยายน)
พระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะถูกตั้งในโถงพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ต่อไป และคาดว่าจะมีการซ้อมขบวนพระราชพิธีศพ
-
D+7 ถึง D+9 (16-18 กันยายน)
หีบพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะถูกตั้งในโถงพระราชวังเวสต์มินสเตอร์จนถึงวันที่ 18 กันยายน
ขณะที่บรรดาผู้นำจากทั่วโลก คาดว่าจะทยอยเดินทางไปถึงอังกฤษ เพื่อเตรียมเข้าร่วมพระราชพิธีศพ
-
D+10 (19 กันยายน)
สำหรับหีบพระบรมศพ จะประดับด้วยธง Royal Standard ซึ่งแทนความหมายของอธิปไตยและความเป็นสหราชอาณาจักร และมีมงกุฎอิมพีเรียลสเตต (Imperial State Crown) วางอยู่ด้านบน
โดยพระราชพิธีพระบรมศพ คาดว่าจะจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ซึ่งตามแผนเดิม คือมีขบวนพิธีเคลื่อนย้ายพระบรมศพไปยังมหาวิหารด้วยรถม้า แต่ให้กะลาสีเรือเป็นผู้ลากรถแทนม้า และมีสมาชิกราชวงศ์อาวุโสเสด็จตามอยู่ด้านหลังหีบพระบรมศพ เช่นเดียวกับที่ทำในพิธีพระศพเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์
พระราชพิธีพระบรมศพจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ โดยคาดว่าจะมีผู้นำรัฐบาลจากทั่วโลกเข้าร่วมด้วย และจะมีการยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 2 นาที
ภายหลังพระราชพิธีพระบรมศพ หีบพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะถูกนำไปที่โบสถ์เซนต์จอร์จที่พระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เช่นกัน
จากนั้นในช่วงเย็น จะมีการประกอบพระราชพิธีฝังพระบรมศพ ซึ่งจะเป็นพิธีส่วนพระองค์สำหรับสมาชิกราชวงศ์อาวุโสเท่านั้น
โดยที่พำนักสุดท้ายของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะอยู่ที่บริเวณโบสถ์น้อยอนุสรณ์ของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนต่อท้ายของโบสถ์หลัก ที่ฝังพระบรมศพของพระราชมารดาและพระราชบิดาของพระองค์ พร้อมกับเถ้ากระดูกของเจ้าหญิงมาร์กาเรตพระขนิษฐาของพระองค์
และในท้ายที่สุด จะมีการเคลื่อนย้ายหีบพระศพของเจ้าชายฟิลิป จากโบสถ์เซนต์จอร์จ มาฝังเคียงข้างพระองค์
-
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะจัดขึ้นวันไหน?
สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลที่ 3 ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของการขึ้นครองราชย์ ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ โดยสำนักข่าว BBC รายงานว่า การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร จะต้องใช้เวลาจัดเตรียมงานระยะหนึ่งหลังกษัตริย์พระองค์ใหม่เริ่มการสืบทอดราชบัลลังก์ เช่น ในกรณีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นหลังทรงครองราชย์ได้ถึง 1 ปีเต็ม
โดยในประวัติศาสตร์ 900 ปีที่ผ่านมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ทุกครั้ง โดยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรก ที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่นั่น และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะนับเป็นกษัตริย์องค์ที่ 40
ภาพ: Tolga Akmen / AFP / POOL
อ้างอิง: