ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ออกโรงวิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเผ็ดร้อนอีกครั้ง ว่าสหรัฐอเมริกาต้องการรักษาอำนาจเผด็จการบนเวทีโลกของตนเองไว้ แต่ผู้ที่ต้องเสียสละและจ่ายราคาชดเชยกลับเป็นยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่เหลือของโลก
ความเห็นของผู้นำรัสเซียครั้งนี้มีขึ้นระหว่างขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าบรรดาผู้นำภาคธุรกิจบนเวทีการประชุม Russia’s Eastern Economic Forum ที่เมืองท่าวลาดีวอสตอค ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของรัสเซีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- งานวิจัยชี้ ผู้หญิงเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารมากกว่าผู้ชาย คาดสงครามในยูเครนทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น
- ‘จีน’ ผนึก ‘รัสเซีย’ ดันสกุลเงินกลุ่ม BRICS เป็นทางเลือกชำระเงิน หวังคานอำนาจดอลลาร์สหรัฐ
- รู้จัก ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่
ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ประธานาธิบดีปูตินไม่พลาดที่จะจิกกัดสหรัฐฯ และชาติตะวันตก พร้อมย้ำว่าการตัดสินใจคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียของสหรัฐฯ กับยุโรป ทำให้ทั้งโลกตกอยู่ในอันตรายและทำให้ยุโรปอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มากขึ้น
ปูตินกล่าวว่า การระบาดของโควิดถูกแทนที่ด้วยความท้าทายใหม่ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อโลกทั้งใบ และภัยคุกคามที่ว่านี้ก็คือการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรง เป็นความพยายามที่จะแสดงความก้าวร้าวของชาติตะวันตกอย่างโจ่งแจ้งในการกำหนดวิธีปฏิบัติต่อประเทศอื่นๆ เพื่อบีบให้ประเทศนั้นๆ ต้องสละอำนาจอธิปไตยของตนแล้วยอมจำนนต่อความประสงค์ของชาติตะวันตก
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำรัสเซียยังย้ำว่า ยุโรปกำลังถูกใช้โดยเปล่าประโยชน์จากรัฐบาลกรุงวอชิงตัน ภายใต้ข้ออ้างความสัมพันธ์ฉันเพื่อนที่เรียกว่า Euro-Atlantic ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ยุโรปเพียงแค่เป็นเบี้ยที่ถูกสังเวยเพื่อรักษาอำนาจเผด็จการของสหรัฐฯ บนเวทีโลกเท่านั้น
ความเห็นครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ และยุโรปนำมาใช้กับรัสเซีย เพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัสเซียบุกยูเครน และบีบให้รัสเซียยอมยกเลิกปฏิบัติการทางการทหารในยูเครน ซึ่งแม้ผลจากการคว่ำบาตรจะทำให้รัสเซียประสบปัญหาติดขัดในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ก็ทำให้ชาติตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปเจ็บหนักไม่แพ้กัน
ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง รวมถึง Sergei Gurie ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจแห่ง Sciences Po และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคาเพื่อการปรับโครงสร้างและการพัฒนาแห่งยุโรป (European Bank for Reconstruction and Development) มองว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีปูตินกำลังทำอยู่ก็คือการพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ด้วยการพยายามบอกว่ารัสเซียไม่ได้รับผลกระทบใดจากมาตรการคว่ำบาตร และฝ่ายที่ต้องเจ็บหนักว่ารัสเซียก็คือฝ่ายที่ออกมาตรการคว่ำบาตรมาใช้
Gurie กล่าวว่า รัสเซียกำลังตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จเกี่ยวกับการคว่ำบาตรเพื่อซ่อนความจริงของตัวเลขเศรษฐกิจที่แสนเจ็บปวดของรัสเซีย โดยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา GDP รัสเซียโตต่ำกว่าไตรมาสแรก 6% ทำสถิติ GDP ดิ่งเหวได้อย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ขณะที่มูลค่าการค้าปลีกและการบริโภคสินค้าและบริการของครัวเรือนรัสเซียลดลงประมาณ 10% การเงินขาดดุลมากขึ้นประมาณ 8% แม้ในช่วงเวลานั้น ราคาน้ำมันดิบจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแล้วก็ตาม
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าปูตินกำลังทำในสิ่งที่ตนเองถนัด คือการ ‘ยุ’ ให้ยุโรปแตกคอกับสหรัฐฯ และตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในที่สุด
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ไม่นาน ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ เพิ่งจะออกมาขนานนามผู้นำรัสเซียว่าเป็นอาชญากรสงคราม ขณะที่ทางสหภาพยุโรป (EU) กล่าวหาว่ารัสเซียกำลังใช้ ‘พลังงาน’ เป็นอาวุธเพื่อบรรเทามาตรการคว่ำบาตร ซึ่งทางรัสเซียยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
นอกจากจะกล่าวหาและกล่าวโทษสหรัฐฯ กับยุโรปแล้ว ผู้นำรัสเซียยังได้แสดงความเห็นต่อภาพรวมเวทีการเมืองโลกในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ที่ปูตินระบุว่าอิทธิพลของสหรัฐฯ จะค่อยๆ ลดลง และเอเชียจะเข้ามามีบทบาทบนเวทีเศรษฐกิจและการเมืองโลกมากขึ้น
ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า ชาติตะวันตกไม่เต็มใจจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนขั้วหันมายังเอเชียมากขึ้น โดยที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นเหมือน ‘แม่เหล็ก’ ในการดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ ทุน และกำลังการผลิต ขณะที่ชาติตะวันตกจะถูกลดทอนบทบาทความสำคัญลงไป พร้อมยกตัวอย่างกรณีค่าเงิน ที่ค่าเงินดอลลาร์ ยูโร และปอนด์กำลังสูญเสียความไว้วางใจ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกมองหาทางเลือกอื่นนอกจากสกุลเงินเหล่านี้มากขึ้น
ทั้งนี้ แม้จะมีการคาดการณ์จากสถาบันการเงินว่า เศรษฐกิจของรัสเซียมีแนวโน้มจะหดตัวเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่สามถึง 7% โดยเป็นการหดตัวต่อ เนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.3% ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 แต่ทางประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า รัสเซียจะมีงบประมาณเกินดุลในปีนี้ และ GDP ของประเทศโดยรวมจะลดลงประมาณ 2% หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย
อ้างอิง: