วันนี้ (6 กันยายน) ในการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็น โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการเลือกนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจ
โดยระบุว่าตามร่างที่ยื่นเสนอเข้ามาโดยภาคประชาชนที่เข้าชื่อกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 64,151 คน เนื้อหาไม่มีอะไรซับซ้อนให้ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. ชุดแรก 250 คน มีวาระ 5 ปี ที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่ง ส.ว. ชุดนี้ทั้งหมด ยกเว้นประธานสภาที่งดออกเสียงตามมารยาท ก็ใช้อำนาจนี้ยกมือโหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจหลังยุคคณะรัฐประหารต่อไป ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นมา
“ส.ว. 250 คน คสช. จิ้มมาเองล้วนๆ มีทั้งแก๊ง ตท.12 เพื่อนประยุทธ์ 21 คน แก๊ง ตท.6 เพื่อนประวิตร 5 คน รวมไปถึงแก๊งเพื่อนพ้องน้องพี่ศิษย์เก่า สนช., สปช., สปท. และอีกสารพัดคณะที่เคยร่วมงานกับ คสช. เป็นจำนวนถึง 157 คน (ตามข้อมูล iLaw) อย่าได้ปฏิเสธเลยว่า ส.ว. ชุดนี้คือมรดกตกทอดที่เกิดมาจากความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งของคณะรัฐประหาร” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า บางท่านอาจแย้งว่า ส.ว. ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแล้วยังไง ถึงจะมีที่มาจาก คสช. เลือก แต่ ส.ว. ชุดนี้ก็ประกอบด้วยคุณวุฒิ คือมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงต่างๆ และมีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและตั้งใจจริงที่จะปฏิรูปประเทศ ก็ขอเชิญท่านเหล่านั้นไปดูกรณีสดๆ ร้อนๆ เรื่อง ส.ต.ท.หญิง ที่มีข่าวว่าเอาข้าราชการทหารมาเป็นทหารรับใช้และกระทำทารุณกรรมต่างๆ นานา รวมถึงไปฝากชื่อเป็นบัญชีผีใน กอ.รมน. เพื่อกินเงินพิเศษโดยไม่ได้ไปลงพื้นที่จริง ซึ่งก็ปรากฏต่อมาว่า ส.ต.ท.หญิง คนนี้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ท่านหนึ่ง และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการของ สนช. ด้วย อดีต สนช. ที่เป็นข่าวนั้น รวมถึงคนที่แต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิง คนนี้เป็นตำแหน่งต่างๆ ปัจจุบันก็มาอยู่ใน 250 ส.ว. ชุดนี้ด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ มาดูผลงานการคัดสรรของ ส.ว. อย่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนที่เคยบอกว่าอยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน ไม่อยากอยู่ต่อแม้แต่วันเดียว แต่มาวันนี้ก็ยังจะดันทุรังเอาอดีตกรรมาธิการที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้มาเป็นทนายสู้คดีว่าตัวเองยังเป็นนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี นี่มันพฤติกรรมของคนที่เหลิงอำนาจ กระหายอำนาจชัดๆ ตอนที่ยกร่างเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะกลัวศัตรูทางการเมืองจะอยู่ยาว แต่พอถึงคราวของตัวเองกลับพยายามแถสุดกำลังให้ได้อยู่ชั่วนาตาปี
เพราะฉะนั้น ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วเพื่อนสมาชิกทุกท่าน โดยเฉพาะ ส.ว. จะได้เริ่มก้าวแรกของการยุติระบบอันบิดเบี้ยวนี้ ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเรื่ออำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ 3 รอบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เดือนมิถุนายน 2564 และเดือนพฤศจิกายน ซึ่งไม่เคยได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ถึงเกณฑ์ที่จะผ่านได้เลย มาวันนี้ทั้งพวกตนในสภาและประชาชนข้างนอกขอถามมโนธรรมสำนึกจากพวกท่านอีกสักครั้ง พวกท่านอาจทำผิดมาเยอะ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเยอะไปกว่านี้ พวกท่านเลือกได้ที่จะไม่ตกนรกขุมที่ลึกกว่านี้ไปด้วยกันกับ พล.อ. ประยุทธ์
“ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ผมต้องขอร้องต่อเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะ ส.ว. ว่าพอได้หรือยังที่พวกท่านจะยอมปลดล็อกอำนาจตรงนี้ ให้นายกรัฐมนตรียึดโยงกับประชาชนได้จริงๆ เสียที ผมรู้พวกท่านหวงอำนาจ ผมรู้ว่าอยากเก็บอำนาจนี้ไว้ แต่อำนาจนี้มันไม่ใช่ของท่าน มันเป็นของประชาชน คืนให้พวกเขาเถิดครับ พอได้แล้ว” รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า โอกาสทองการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหมดไปแล้ว แต่เราต้องพยายามแก้มาตรา 272 เพื่อให้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้าสะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริงในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากเราไม่สามารถแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ได้สำเร็จ ตนเชื่อว่าการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนนี้ก็จะไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น
รวมทั้งพรรคการเมืองที่ตระบัดสัตย์ต่อประชาชนก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามที่หาเสียงไว้ ถ้าจะกล่าวว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุด ตนก็คิดไม่เกินความจริง เพราะออกแบบพิเศษสืบทอดอำนาจของเผด็จการที่ทำรัฐประหาร เพิ่มอำนาจให้องค์การอิสระ แต่เพิ่มข้อจำกัดให้นักการเมือง มีการยุบพรรคและตัดสิทธิกันง่ายมาก
อีกทั้งยังมีบทเฉพาะกาลที่ผ่านการลงมติที่พ่วงมาชนิดที่เรียกว่าลักหลับ เพราะประชาชนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไม่สามารถแก้มาตรา 272 ได้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนรู้เลยว่าคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือใคร เพราะว่าประชาชนรู้ว่า ส.ว. จะเลือกใคร จากครั้งที่แล้วจะเห็นได้ว่าแม่น้ำ 5 สายของ คสช. ไหลรวมเป็น ส.ว. ชุดนี้ถึง 157 คนจาก ส.ว. ทั้งหมด 250 คน
อมรัตน์อภิปรายต่อไปว่า การแก้ไขมาตรา 272 วันนี้จะเป็นฉันทามติ และเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของทุกฝ่ายครั้งที่จะทำร่วมกันของฝ่ายค้าน รัฐบาล และประชาชน ตนหวังว่ามาตรานี้จะผ่านไปได้เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน การไม่ยกสิทธิ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีจะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าหมดความหมาย เพราะผิดหลักการ 1 สิทธิ 1 เสียง แม้ว่า ส.ส. ทั้งสภาจะผ่านให้ แต่ถ้าเสียง ส.ว. ไม่ถึง 84 คน กฎหมายฉบับนี้ก็จะตกไปทันที อำนาจ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลเหลือเวลาอีกปีกว่าๆ อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีก๊อกสองยังอยู่กับท่าน ถ้าการเลือกนายกรัฐมนตรีในขั้นแรกเกิดอุบัติเหตุ จำเป็นต้องเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอก ส.ว. ยังมีสิทธิมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ตนหวังกับการโหวตครั้งนี้ แม้เราอาจจะไม่ได้รักกันกับ ส.ว. อาจจะเกลียดกันเป็นบางครั้งบางคราว แต่ตนคิดว่าเราสามารถทำงานด้วยกันได้โดยการแก้มาตรานี้ เพื่อให้ความสุข และยืนข้างประชาชน
“ดิฉันต้องการ ส.ว. อีกเพียง 28 เสียงเท่านั้นมาเติมเต็มที่หันมาโหวตเห็นด้วยกับพวกเรา เพราะการขอแก้รัฐธรรมนูญรอบที่แล้วมี ส.ว. เห็นด้วย 56 เสียง เพื่อเกียรติยศศักดิ์ศรีเมื่อเทียบกับการไปเป็นนั่งร้านให้ทรราช แก่กะโหลกกะลา และที่มี ส.ว. กล่าวหารังสิมันต์ ว่าใช้หนี้ กยศ. ยังไม่หมด ดิฉันก็อยากถามว่าแล้ว ส.ว. ใช้หนี้บุญคุณ คสช. ครบหรือไม่” อมรัตน์กล่าวในที่สุด